บิ๊กซีอีโอเปิดสูตรทรานส์ฟอร์มธุรกิจปี 63 รับมือดิจิทัลดิสรัปชั่นโหมแรง

บิ๊กซีอีโอเปิดสูตรทรานส์ฟอร์มธุรกิจปี 63 รับมือดิจิทัลดิสรัปชั่นโหมแรง

ซีอีโอชั้นนำ ชี้ความท้าทายครั้งใหญ่ปี 63 ชี้ธุรกิจต้องเร่งทรานส์ฟอร์ม “องค์กร-คน” รับโลกยุคใหม่-เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ระบุ “คน” หัวใจสำคัญสุด ซีอีโอต้องนำเปลี่ยนแปลง ใช้ดาต้าเคลื่อนธุรกิจ ฟันธงยุคดิจิทัล"ปลาเร็วกินปลาช้า" ไม่ปรับคือ "สูญพันธุ์"

ปี 2563 ธุรกิจยังคงต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน แม้ปี 2562 จะเป็นปีแห่งการทรานส์ฟอร์มหนีการดิสรัปจากพายุเทคโนโลยี องค์กรขยับโครงสร้างให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ที่มีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ปีนี้จึงเป็นปีแห่งการ “นำไปใช้” เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจ ขณะที่ยังมีองค์กรธุรกิจอีกจำนวนมาก ที่ยังอยู่ระหว่างการเร่งปรับโครงสร้างหนีการดิสรัป 

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้สกัดมุมคิดเหล่าซีอีโอชั้นนำ ที่บรรยายในหลักสูตร “Digital Transformation for CEO” ที่จัดขึ้นโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ร่วมกับ “ฐานเศรษฐกิจ” และ “บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด(มหาชน)” หรือ MFEC ในปีที่ผ่านมา นับเป็นคัมภีร์ทรานส์ฟอร์มเล่มใหญ่ ที่เหล่าซีอีโอร่วมกันถ่ายทอด ให้ผู้อบรมขยับธุรกิจเข้าสู่โลกยุคใหม่ได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน 

นายชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  แนวคิดที่ว่าบริษัทยิ่งอยู่นานยิ่งมีความมั่นคงแข็งแรง อาจใช้ไม่ได้กับยุคปัจจุบัน ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่า “ยิ่งมีอายุยิ่งต้องคิดเรื่องทรานส์ฟอร์มธุรกิจ” โดยเฉพาะบริษัทที่มีอายุมากกว่า 30 ปี และบริษัทที่มีพนักงานจำนวนมาก

เขากล่าวว่า ความยากคือเรื่อง “คน” เพราะเมื่อต้องเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ พนักงานมักไม่ค่อยยอมขยับตัว ไม่อยากทำ ไม่อย่างเสี่ยง ดังนั้นการทรานส์ฟอร์มสู่สิ่งใหม่ๆ ซีอีโอจำเป็นต้องเป็นผู้ริเริ่มเพื่อพนักงานจะได้ยอมก้าวตาม

  • ต้อง กล้าลองผิดลองถูก

เขายังระบุว่า ที่ผ่านมาแต่ละโครงการของเวิร์คพอยท์จะต้องทดลอง ทดสอบตลาด และทุกครั้งผู้บริหารจะเข้าไปมีส่วนร่วมลงมือทำ เพื่อให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วม ยอมมาทำ ขณะเดียวกันเตรียมใจรับความล้มเหลว กำหนดไว้ก่อนเลยว่าจะยอมขาดทุนได้แค่ไหน

นอกจากนี้ กุญแจความสำเร็จ ยังมาจากความกล้าที่จะลองผิดลองถูก กล้าที่จะยอมรับความล้มเหลว กล้าล้มโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา

  • ไม่ปรับเท่ากับ สูญพันธ์ุ

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า โลกปั่นป่วน เปลี่ยนแปลง หากไม่คิดปรับตัว หรือเปลี่ยนอะไรเลย ย่อมมีโอกาสแพ้หรือสูญพันธุ์ โดยวันนี้เข้าสู่ยุคที่แข่งขันกันเป็นหลักวินาที ผู้บริโภคไม่ชอบที่จะอดทนรอ คำว่า “ค่อยเป็นค่อยไป” ต้องถูกลบออกไปจากพจนานุกรมของการทำธุรกิจ

เขากล่าวว่า ยุคนี้มีความน่ากลัวอย่างที่เราไม่เคยจินตนาการมาก่อน มากกว่ายุคของสงครามเย็น หรือ สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งไม่ทราบแน่ชัดว่าใครคือศัตรูที่แท้จริง

สำหรับการปรับตัวต้องทำด้วยการ “REINVENTION” หรือการสร้างใหม่ ถ้าอยากเก่งต้องคบกันคนที่เก่งกว่า มีแนวคิดที่ก้าวข้ามกำแพงที่เคยถูกจำกัดไว้

  • เขย่าโครงสร้าง สร้างสมดุล

ด้าน นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC กล่าวว่า แต่ละองค์กรมีปัญหาและอุปสรรคในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจแตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญในเบื้องต้นคือการสร้างสมดุล งานที่ต้องทำอันดับแรกๆ อย่าเพิ่งโฟกัสที่เทคโนโลยีแต่ให้โฟกัสที่คนก่อน

“เรื่องนี้ประเด็นสำคัญคือการสร้างสมดุล รู้จักบริหารจัดการคนอย่างเหมาะสม ผู้บริหารต้องมีความสามารถที่จะทำให้ได้ สื่อสารเป็น โดยมีสิ่งที่มุ่งหวังจากการทรานส์ฟอร์มคือ การเพิ่มผลิตผล คุณภาพ และประสิทธิภาพ ส่วนที่ต้องลดลงคือจำนวนบุคลากร ถ้าต้องการทำให้กระบวนการเป็นไปโดยง่ายและเร็วที่ต้องมีคือโจทย์และเป้าหมายที่ชัดเจน”

  • แนะใช้ ดาต้า” ขับเคลื่อนธุรกิจ

นายศีล นวมานนท์ ประธานกลุ่ม Business Inteligence บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป กล่าวว่า โจทย์ที่สำคัญที่สุดในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล คือ การวางจุดยืน สร้างความชัดเจนให้ได้ว่าจะดิสรัปไปทำไม ทรานส์ฟอร์มไปทำไม และคนในองค์กรพร้อมที่จะเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่

โดยงานสำคัญอันดับแรกๆ คือ การจัดการองค์กรรวมถึงวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นองค์กรที่เป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตมากขึ้น เดินไปด้วยกันมากขึ้น ผู้บริหารเองต้องเปลี่ยนบทบาทไปจากเดิมอย่างมาก

เขากล่าวต่อว่า ซีอีโอต้องรู้จักเทคโนโลยี อัพเดทดีไวซ์ แกดเจ็ท แอพพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์ รวมถึงความเคลื่อนไหวในแวดวงเทคโนโลยี โดยไม่ใช่แค่รู้เพียงผิวเผิน ต้องลงลึกเพื่อวันหนึ่งจะได้สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตนเองได้

  • ซีอีโอต้องปรับตัวเก่ง

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวบรรยายในหัวข้อ Technology disruption แนวทางปฏิรูปความคิดธุรกิจในอนาคต โดยระบุว่า ยุคดิจิทัล ทรานฟอร์มเมชั่น เป็นเรื่องที่ธุรกิจไม่สามารถหลีกได้พ้น ทุกวันนี้ บริษัทที่ดำรงอยู่ได้ ไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ แต่ต้องเป็นบริษัทที่มีแพลตฟอร์มดี มีการบริหารจัดการที่ดี ขณะที่ ซีอีโอต้องปรับตัวเก่ง และปรับให้รวดเร็ว

ขณะที่ ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ที่ต้องดึงดิจิทัลเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อเข้าถึงลูกค้า ถ้าไม่ทำแบบนี้ธุรกิจจะแข่งขันไม่ได้ ไม่สามารถให้บริการได้ท่ามกลางพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนหันมาใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

"วันนี้ลูกค้ายังเป็นใหญ่และใหญ่มากขึ้นกว่าที่คิด ในเชิงลูกค้าต้องมีการสร้างความแตกต่างโดยใช้นวัตกรรมให้ได้ นอกจากเราจะมีนวัตกรรม มีบิ๊กดาต้าที่วิเคราะห์ ทำให้เรารู้จักลูกค้า ในโลกดิจิทัลเรื่องสปีดเป็นเรื่องสำคัญ ใครช้าเป็นคนแพ้ เป็นยุคของปลาเร็วกินปลาช้า”

157796331079

  • ความท้าทาย ฉุดทรานส์ฟอร์ม

นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ส คอมเมอร์เขียล (ประเทศไทย) จำกัด ยกความท้าทาย 7 ประการทำให้การทรานส์ฟอร์มธุรกิจไม่สำเร็จว่า ได้แก่

1.ผู้บริหารไม่ใส่ใจการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลเพียงพอ อีกทั้งไม่มีความเข้าใจการทรานส์ฟอร์มคืออะไร เพราะผู้นำส่วนใหญ่อายุมาก 50-60 ปี

2.การเปิดกว้างรับไอเดีย กลยุทธ์ใหม่ๆโดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ พนักงานระดับล่าง เนื่องจากผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นคนอายุมาก และโครงสร้างการทำงานไม่เอื้อต่อการรับฟังเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ

3.กลุ่มคนที่ทำงานกับกระบวนการทำงานด้านไอทีไม่มีความสัมพันธ์กัน บางบริษัทลงทุนมหาศาลด้านเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม แต่ทรานส์ฟอร์มไม่สำเร็จเพราะคนไม่เข้าใจ

4.ช่องว่างของความคาดหวังหน่วยงานต่างๆไม่เท่ากัน เช่น การเงินมองการลงทุนทรานส์ฟอร์มแล้วจะได้ผลลัพธ์อย่างไร(ROI)

5.การทรานส์ฟอร์มมักมองจากภายในองค์กรแล้วปรับตัว กลับกันควรพิจารณาตลาดภายนอกเข้ามา เพื่อให้รู้ว่าควรอยู่ตรงไหนของตลาด ป้องกันการหลงทาง

6.การทรานส์ฟอร์มเกิดในหลายแง่มุม เพื่อสร้างความอยู่รอด ไม่ได้ทำเพื่อให้ธุรกิจมียอดขาย กำไร เท่านั้น แต่รวมถึงการลดต้นทุนการผลิต กระบวนการทำงาน ต้องมองให้ครอบคลุม

และ 7.การทรานส์ฟอร์มที่ดีไม่ได้โฟกัสแค่ความต้องการของลูกค้า แต่ต้องมองและเข้าใจปัญหา(Pain point)ของผู้บริโภค

157796333663

  • ดาต้าพลังทำลายล้างธุรกิจลูกใหม่

นายสโรจ เลาหศิริ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดและผู้ร่วมก่อตั้ง แรบบิทส์เทลล์ ในเครือแรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป ระบุว่า ข้อมูลหรือ“Data” กลายเป็นอาวุธใหม่ในโลกธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการต่างพากัน “เก็บเกี่ยว” เพื่อเป็นขุมทรัพย์ขององค์กร(Asset) โดยมองเห็นการเติบโตของปริมาณข้อมูลทั่วโลกมีมหาศาล แค่ 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณมากกว่าระยะเวลาที่ก่อกำเนิดมวลมนุษยชาติเสียอีก และคาดการณ์ในปี 2563 ปริมาณดาต้าจะเพิ่มเป็น 30 ล้านเซตตะไบต์ (Zettabyte:ZB)

  • หมดยุค ฮีโร่” ฉายเดี่ยว

นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การทำงานยุคนี้ต่อให้มี “แค่พนักงาน”อาจดูแลลูกค้าไม่เพียงพออีกต่อไป และองค์กรจะไม่มีฮีโร่ เก่งแค่คนเดียว แต่ต้องมี “ทีมฮีโร่” เพื่อร่วมหัวจมท้ายต่อกรกับดิสรัปชั่นนานัปการ

นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) เล่าประสบการณ์ทำงานกว่า 3 ทศวรรษ บนเส้นทางธุรกิจสื่อ และพบว่าบริษัทจะปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล แต่ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคเกิดขึ้นตลอดเวลา

“ประสบการณ์ 30 ปี สอนเราว่าอย่าหยิ่ง โลกไม่ง้อคุณ มีแต่คุณต้องง้อโลก วันนี้เราต้องตามโลกให้ทัน ดูว่าพฤติกรรมผู้บริโภคทำอะไร แล้วเราต้องไปอยู่ตรงนั้น"

นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การทรานส์ฟอร์มองค์กรสื่อเครือเนชั่น มีการซีนเนอร์ยี “แบรนด์สื่อ” ที่มีมากมาย ตอบโจทย์คนอ่าน ดึงฐานข้อมูลผู้อ่านเว็บไซต์ ผู้ชมรายการโทรทัศน์นับ 10 ล้านรายต่อวัน ต่อยอดเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคหรือดาต้า มีการไดเวอร์ซิไฟท์ธุรกิจให้หลากหลาย พัฒนาสินค้าเพื่อ “จำหน่าย” แก่กลุ่มเป้าหมาย สร้างรายได้ ผลักดันการเติบโตทั้งหมด