แผ่นเล็กเล็กที่เรียกว่า...หวย

แผ่นเล็กเล็กที่เรียกว่า...หวย

"สลากกินแบ่งรัฐบาล" กระดาษแผ่นเล็กที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง พูดไปคงไม่มีใครไม่รู้จัก แต่จริงๆ แล้วเรารู้จักหวยบนดินดีแค่ไหน มาทำความรู้จักกับหวยบนดินกันให้มากขึ้น ทั้งในแง่ของประเภท ราคา และนโยบายของรัฐบาล

"วันนี้รวย วันนี้รวย" เป็นประโยคคุ้นหู ที่พวกเราได้ยินกันทุกเดือน จนกล่าวได้ว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่เรียกว่า "หวยบนดิน" หรือสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่เชื่อหรือไม่ว่า แทบทุกคนที่รู้จักสลากกินแบ่งรัฐบาลก็รู้จักแบบผิวเผินเท่านั้น คือ เข้าทำนอง "รู้หน้า ไม่รู้ใจ (ตัวตนที่แท้จริง)" ของมันเลย ถ้าใครไม่เชื่อ ก็มาลองพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และนัยเชิงนโยบายที่จะได้ไปพร้อมกับผมได้ดังนี้

ประเด็นแรกเรื่องประเภทสินค้าของ "สลากกินแบ่งรัฐบาล" สลากกินแบ่งไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อตัวสลากกินแบ่งเพื่อเอาไปติดข้างฝา แทนวอลล์เปเปอร์ แต่คนทั่วไปซื้อสลากกินแบ่งเพราะมันเป็น "สินทรัพย์เสี่ยง" ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนการลงทุนเป็นเงิน รางวัลทั้งใหญ่และเล็กมากกว่า จนมีคำกล่าวติดปากว่า คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น

แต่ประเด็นที่น่าฉงนใจมากกว่านั้นก็คือว่า ทำไมคนที่มีเหตุมีผลจำนวนมากเหล่านั้น จึงยังคงพากันซื้อหวยบนดินทั้งๆ ที่มันเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนเลย (พิจารณาจากหลักความน่าจะเป็น) คำอธิบายในส่วนนี้มีได้หลากหลายมากมาย เช่น คนซื้อฉลากกินแบ่งก็เพื่อความสนุกเล็กๆ น้อยๆ จากการได้ลุ้นรางวัลไป จนถึงว่าคนต้องการซื้อความฝันในแต่ละเดือน เพื่อให้มีกำลังใจในการต่อสู้กับชีวิตที่ยากลำบากต่อไป เป็นต้น ซึ่งก็คงมีคนบางส่วนที่เป็นเช่นนั้นจริงๆ

แต่คำอธิบายที่น่าจะใช้ได้ดีกับคนส่วนใหญ่ที่ดูมีเหตุมีผลมากกว่าก็คือ เป็นเพราะผลกระทบจากโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่มีความเชื่อแบบผิดๆ ว่า "ตนเองมีโอกาสจะถูกรางวัลได้มากกว่าคนอื่น" นั่นเอง

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็เช่นกิจกรรมจำพวกการใบ้หวยมากมาย ที่ทำให้คนจำนวนมากพากันเชื่อว่างวดนี้ตนเองได้เลขเด็ดที่มีโอกาสถูกรางวัลได้มากกว่าปกติ (คือมากกว่าในกรณีที่คำนวณตามหลักความน่าจะเป็น) หรือการโฆษณาซ้ำๆ เพื่อตอกย้ำเรื่องผู้ที่ถูกรางวัลใหญ่หรือผู้ที่ถูกรางวัลบ่อย เพื่อให้เกิดพฤติกรรมอยากเลียนแบบ (แต่ไม่พูดถึงคนที่ไม่ถูกรางวัล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่) เป็นต้น

ประเด็นที่สอง เรื่อง "ราคา" ของสลากกินแบ่งรัฐบาล คนทั่วไปซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย มักเข้าใจว่า ราคาของสลากกินแบ่งรัฐบาลที่แท้จริงก็คือราคาใบละ 80 บาท ตามที่ทางการกำหนด รัฐบาลถึงได้มีนโยบายแก้ปัญหาผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา โดยการนำกำลังเจ้าหน้าที่ไปล้อมจับ ซึ่งก็มักไม่ได้ผลในที่สุด อันที่จริงแล้ว ราคาที่รัฐบาลกำหนดนั้นเป็นเพียงราคาที่เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่ตัวผู้ซื้อนั้นจะพิจารณาจากราคาที่แท้จริงที่เกี่ยวข้องกับโอกาสที่เขาคาดว่าจะถูกรางวัลมากกว่าเขาจึงไม่ได้ดูเฉพาะราคาที่เป็นตัวเงิน (เพราะผู้ซื้อไม่ได้ต้องการซื้อสลากกินแบ่งเพื่อใช้เป็นกระดาษติดข้างฝา)

ดังนั้นราคาที่แท้จริงของชุดตัวเลขสลากกินแบ่งที่มีคนเชื่อว่าจะมีโอกาสถูกรางวัลมาก (ซึ่งเกิดจากผลของโฆษณาชวนเชื่อ) ก็จะมีผู้ซื้อแย่งกันซื้อชุดเลขเหล่านั้นมากและยินดีจ่ายเพิ่มในราคาสูงกว่าราคาที่เป็นตัวเงิน คำถามที่รัฐบาล มักถามต่อก็คือ ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราก็ออกหวยออนไลน์เพื่อแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคาดีไหม คำตอบคือ "ไม่ดี"

เพราะหากดูจากประสบการณ์ในต่างประเทศที่มีการออกหวยออนไลน์เพิ่ม เช่น Lotto หรืออื่นๆ ก็ปรากฏว่าไม่ได้ทำให้ความต้องการซื้อสลากกินแบ่งประเภทอื่นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า "หวยออนไลน์นั้นไม่ใช่สินค้าที่ใช้ทดแทนสลากกินแบ่งแบบเดิม" นั่นเอง (และสลาก กินแบ่งรัฐบาลก็ไม่ใช่สินค้าทดแทนของการพนันที่ผิดกฎหมายแบบอื่นด้วย)

คือยิ่งหวยบนดินมีหลากหลายประเภทมากขึ้น ลูกค้าที่คิดจะเล่นอยู่แล้วก็จะยังคงซื้อหวยเกือบทุกประเภทกันอยู่ดี ปัญหาเดิมเรื่องราคา ที่แท้จริงของชุดเลขบางชุดที่สูงกว่าราคาทางการของสลากกินแบ่งแบบเดิม ก็จะยังคงตามมาหลอกหลอนเราอยู่อีกเหมือนเดิม ส่วนข้ออ้างที่ว่าหากออกหวยออนไลน์ได้แล้ว รัฐก็จะเลิกการออกสลากกินแบ่งแบบเดิมไป ก็คงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะโครงการอื่นของรัฐก็ยังมีแรงจูงใจที่จะหารายได้แบบนี้อยู่ อีกตัวอย่างเช่น โครงการจัดซื้อหมอนยางพารา เป็นต้น

ประเด็นที่สามคือ เรื่องนโยบายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร ถ้าเราต้องการแก้ปัญหานี้ให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เราก็ต้องแก้ที่สาเหตุของปัญหาก่อน กล่าวคือ รัฐควรต้องเลิกความคิดเรื่องการหารายได้จากการออกสลากกินแบ่ง แล้วหันไปเน้นการหารายได้จากภาษีที่เก็บได้จากกิจกรรม ที่ช่วยสร้างสรรค์เศรษฐกิจแบบใหม่ในยุค Thailand 4.0 แทนจะดีกว่า

ซึ่งวิธีการก็ทำได้ไม่ยาก โดยเริ่มจากการยกเลิกข้อกฎหมายที่ระบุว่า รัฐจะต้องได้รายได้ส่วนเกินจากการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยเสมอ หลังจากนั้นแล้ว เราก็นำเงินส่วนที่ได้ เป็นกำไรทั้งหมดนี้ใส่กลับคืนไปเพื่อแจกจ่ายเป็นเงินรางวัลให้กับผู้ซื้อสลากกินแบ่งที่โชคดีแทน ดังนั้น การยกเลิกข้อกำหนดนี้ จะช่วยให้รัฐบาลไม่ถูกกล่าวหาว่าใช้สลากกินแบ่งมามอมเมาประชาชนอีก เพราะรัฐไม่ได้รับรายได้จากกิจกรรมนี้อีกต่อไป

แรงจูงใจในการออกสลากกินแบ่งของรัฐบาลแบบถี่ๆ ก็จะมีน้อยลงด้วย ทำให้เราไม่ต้องมาถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมอื่นๆ อย่างเช่น กรณีของการออกสลากการกุศล เพื่อซื้อหมอนยางพารา 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ประชาชนที่ซื้อสลากกินแบ่งเพราะอยากได้ความสุขจากการลุ้นรางวัล ก็จะมีความสุขกันมากขึ้นเพราะมีโอกาสถูกรางวัลได้มากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลไม่หักรายได้ไปเป็นรายได้ของรัฐแทนอีก

นอกจากนี้ รัฐบาลก็ไม่มีแรงจูงใจในการตั้งรางวัลใหญ่ๆ เพื่อหวังทำเป้ายอดขายอีกต่อไป สลากกินแบ่งรัฐบาลก็จะมีรางวัลเป็นรางวัลเล็กๆ แต่มีจำนวนมากแทนจำนวนคนซื้อที่ถูกรางวัล กันก็จะมีมากขึ้น (ทำให้การซื้อมากซื้อน้อย โดยเฉลี่ยแล้วไม่มีผลต่างกันมากนัก) ผู้คนทั่วไปก็จะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการค้นหาเลขเด็ดจากโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ เหมือนเคยทำ ให้ชาวบ้านทั่วไปมีเวลาสนใจเรื่องการทำมาหากินกันมากขึ้น

สรุปแล้วทุกฝ่ายก็จะได้ประโยชน์มากขึ้นและถ้วนหน้า ด้วยวิธีการแก้ปัญหาที่รอบด้านแบบนี้แล้ว เรายังจะเลือกวิธีแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแบบแยกส่วน แล้วก็ล้มเหลวมาโดยตลอดแบบเดิมๆ กันต่อไปอีกทำไม