เจาะ 5 เทรนด์ตลาด 2020 ดักโอกาส - รับมือโลกเปลี่ยน

เจาะ 5 เทรนด์ตลาด 2020 ดักโอกาส - รับมือโลกเปลี่ยน

ในการทำตลาด “เทรนด์” เป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องจับยามสามตา เหลียวหลังแลหน้าแล้ววิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากรู้เห็นภาพรางๆก่อน ย่อมทำให้นักธุรกิจ กูรูการตลาด สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับเทรนด์ได้

ขณะที่การพลาดเทรนด์ สะท้อนถึงการปรับตัวขององค์กรที่อยู่ในอัตราที่ “เชื่องช้า”กว่าการเปลี่ยนแปลงของโลก ผู้บริโภค ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่มีพฤติกรรม ความต้องการไม่เหมือนเดิม สุดท้ายการปรับตัวไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ จะนำพาธุรกิจไปสู่ความล้มเหลวได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่พลวัต

เหมือนเราไปยืนดักรอไว้ข้างหน้า ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในปี 2563 และทำให้เรารับมือกับสิ่งที่จะเกิดในอนาคตได้ง่ายขึ้น” ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมอง

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.วิเลิศ ยังมองเทรนด์การตลาดในปี 2563 ดิจิทัล ยังคงมทรงอิทธิพลต่อเนื่อง แต่การทำตลาดดิจิทัลจะไม่เหมือนอดีต เพราะการเปลี่ยนแปลงยังมีอย่างไม่หยุดยั้ง สำหรับเทรนด์ที่มาแรงปี 2020มี 5 ประเด็นเด็ด ดังนี้

1.Segmentation by Digital Insight หรือการแบ่งส่วนตลาดตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะไม่ใช่เป็นการแบ่งตามลักษณะประชากรศาสตร์ เพศ อายุ อาชีพ รายได้ ฯ อีกต่อไป แต่ “ความสนใจ” ของผู้บริโภค จะเป็นตัวกำหนดว่าแบรนด์จะทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละเซ็กเมนต์อย่างไร เพื่อตอบสนองความต้องการเชิงลึก(Insight) ได้แม่นยำยิ่งขึ้น เช่น ผู้หญิง ผู้ชาย วัยรุ่น ผู้สูงอายุ มีความสนใจพิเศษอยู่ภายในใจในเรื่องเดียวกัน ซึ่งเหล่านี้แบรนด์สามารถ “จับ” อินไซต์ได้ผ่านการแสดงออกบนสื่อออนไลน์ต่างๆ

2.Good Data / Smart Data ข้อมูลที่ดีที่ถูกต้องมีความสำคัญอย่างมากในการทำตลาด และการเก็บข้อมูลลูกค้าปริมาณมหาศาล(Big Data) Data mining การใช้ปัญญาประดิษฐ์(AI)ต่างๆอย่างเดียวไม่ได้ เพราะข้อมูลที่มีมากมาย ควรจะต้องนำไปใช้งาน ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้ ย่อมดีมากกว่ามีข้อมูลเต็มไปหมด แต่ใช้งานไม่ได้

ข้อมูลเยอะ ไม่สำคัญเท่าข้อมูลที่ดี ข้อมูลที่ถูกต้อง” ทั้งนี้ ข้อมูลที่ดีและถูกต้อง ควรมีลักษณะสอดคล้อง(Relevant)ใช้กับธุรกิจและแบรนด์นั้นๆได้ และเป็นข้อมูลที่ Insightful

กรณีศึกษา เน็ตฟลิกซ์” ทำตลาดและโฆษณาช่วงวันหยุดปีใหม่ ซึ่งจราจรติดขัด การไปเที่ยวสถานที่ต่างๆผู้คนหนาแน่น จึงชวนให้ดูซีรี่ส์ผ่านเน็ตฟลิกซ์ดีกว่า แต่หากมองความต้องการผู้บริโภคให้ลึกจะพบว่าการที่ยอมฝ่าจราจรติดขัด เบียดเสียด แย่งกันเที่ยว เพราะทุกคนไม่ต้องการเป็นมนุษย์ ตกขบวน หรือ Fear Of Missing Out : FOMO ไปเพราะต้องการแสดงออกว่าได้เป็นหนึ่งในคนที่ไปเที่ยวปีใหม่ ได้เคาท์ดาวน์ และอาจมองกลับกันว่าคนที่อยู่บ้าน อาจไม่มีที่ไป เป็น Loser สิ่งเหล่านี้ต้องวิเคราะห์เจาะลึกถึง Pain point ผู้บริโภคให้ถ่องแท้ 

และดาต้าท่ี่ดีต้องสร้างความ ได้เปรียบ” ในเชิงการแข่งขัน ดาต้าที่ได้มาคู่แข่งไม่มี หรือคู่แข่งมี แต่จับประเด็นนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้

3.Digital Social Responsibility : DSR เมื่อการใช้ดิจิทัลถึงจุดหนึ่ง การแสดงความรับผิดชอบบนโลกดิจิทัลต้องตามมาอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ หากเปรียบโลกออฟไลน์ มีการทำตลาดที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนเกิดกิจกรรมเพื่อสังคม(CSR) มีการตลาดสีเขียว(Green Marketing)มาตอบแทนสังคม บนโลกออนไลน์มีข่าวปลอม หลอกลวง(Fake News) การรังแกผู้อื่น(Bully) ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ การแต่งตัวโป๊เปลือยเพื่อ Live ผ่านโชเชียลมีเดีย หรือแม้จะเชิญใครมาสัมภาษณ์ออกสื่อฯ ทั้งหมดต้องทำอย่างระมัดระวัง และรับผิดชอบบนโลกออนไลน์มากขึ้น

4.Customer insight Button วิเคราะห์หาความต้องการเชิงลึกที่เป็น “จุดเปลี่ยน” ของผู้บริโภคให้เจอ ไม่ว่าจะเป็นความอยากรู้อยากเห็น(Curiosity) เพื่อหากลยุทธ์การตลาดเพื่อ “เปลี่ยน” พฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายให้ได้ เช่น การชกมวยทั่วไปผู้บริโภคไม่อยากชมแล้ว หากเป็น “ดารานักแสดง” มาชกมวย กลุ่มเป้าหมายสนใจมาก เป็นต้น

และ5.Life Line Economy ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจ ธุรกิจ ไม่สามารถอยู่บนแพลตฟอร์ม “ออหไลน์” หรือ “ออนไลน์” อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องเชื่อมโยงกัน เพื่อนำไปสู่การแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็น Sharing Economy หรือ Circular Economy

“ถ้าเข้าใจ life line ของผู้คนมากขึ้น ก็จะทำใหเ้เกิดการแบ่งปันกัน”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักการตลาด แบรนด์ต้องลุกขึ้นมาทำ คือเป็นผู้กำหนดเทรนด์ด้วยตนเอง ปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะนับวันความท้าทายมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ปีหน้านักการตลาดต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงตลาด ผู้บริโภค ต้องเป็นนักการตลาดที่ Agile เคลื่อนตัวเร็ว เคลื่อนไหวตลอดเวลา ต้องยืดหยุ่น(Resilence)ตามเหตุการณ์ ตามความต้องการของผู้บริโภคที่เฉพาะตัวหรือ Personalize มากขึ้น และรู้รอบด้าน ไม่ใช้รู้แค่ธุรกิจตัวเอง รวมถึงรู้ทั้งโลกออฟไลน์และออนไลน์ด้วย