การเมืองปี 63 จับตา 'ซักฟอก - พรบ.งบ'

การเมืองปี 63 จับตา 'ซักฟอก - พรบ.งบ'

“ชวน” ชี้การเมืองปี63จับตาซักฟอก-ไฟเขียวพ.ร.บ.งบ รับปมคว่ำผลโหวตมีโอกาสเกิดซ้ำ ยืนยันเสียงแข็งสภาฯเป็นที่พึ่งประชาชน ขณะที่เพื่อไทย ยันจัดการเด็ดขาดส.ส.งูเห่า ส่วนซักฟอกจัด25ส.ส.สู้ศึก

ความเคลื่อนไหวการเมืองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วานนี้(31ธ.ค.)นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าว่า สำหรับการเมืองปี 2563 จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยฝ่ายค้านสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ถึงสองครั้ง เพราะในปี 2563 จะมีสมัยประชุมสภาปีที่หนึ่ง และปีที่สอง อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูต่อไปว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อใดพร้อมย้ำว่าการลงมตินั้นรัฐบาลมีเสียงข้างมากก็จริง แต่มีไม่เกิน 25 เสียง ดังนั้นการขอนับคะแนนใหม่ก็เกิดขึ้นได้ทุกครั้งตามข้อบังคับ และด้วยระบบของรัฐสภาแม้รัฐบาลต้องอยู่ได้ด้วยเสียงข้างมาก

ยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยมาแทรกแซงกับงานของรัฐสภาแต่อย่างใด และไม่เคยมาขอให้ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง แต่ในทางกลับกันมีแต่ฝ่ายนิติบัญญัติที่ขอร้องไปว่าให้มาร่วมประชุมสภา โดยเรียนให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็อย่าขาดประชุม

เมื่อถามว่า พอยืนยันได้หรือไม่สภาจะเป็นที่พึ่งประชาชน เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง นายชวน กล่าวว่า “ครับ ผมยืนยัน ผมเรียนว่าครึ่งปีที่ผ่านมาไม่เคยสักครั้งที่จะมาขอให้ผมทำผิดทำนองครองธรรม”นายชวนกล่าว

ประธานสภาฯ ยังกล่าวว่า ในเดือนม.ค.จะมีการประชุมนัดพิเศษหนึ่งครั้งเพื่อพิจารณาญัตติช่วงปลายเดือน เพื่อไม่ให้ชนกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2563ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ที่อาจจะเป็นช่วง‪วันที่ 8-10 ‪ม.ค. และจะปิดสมัยประชุมวันที่ ‪28 ‪ก.พ.2563ก่อนจะเปิดสมัยประชุมใหม่ซึ่งเป็นปีที่สองของสภาในเดือนพ.ค.2563

ส่วนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติตสิ่งที่ย้ำตลอดคือ อยากให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญในฐานะเป็นผู้ออกกฎหมายในฐานะเป็นผู้ออกกฎหมาย ต้องทำหน้าที่อย่างมีเกียรติและเพื่อประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติต้องเป็นตัวอย่างในการเคารพกฎหมาย ส่วนเหตุการสภาล่มถึง2ครั้งในช่วงที่ผ่านมาความจริงครั้งหนึ่งเป็นความจงใจของฝ่ายรัฐบาลด้วยที่ไม่ต้องการให้ครบองค์ประชุม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมายังไม่ถือว่าร้ายแรง ตนคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็รู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร

ขณะที่การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯ มองว่า ตนเคยให้ความเห็นว่าควรฟังทุกฝ่าย รวมถึงส.ว. เพื่อคุยในหลักการและเป้าหมายการพัฒนา

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่สุดท้ายแล้วรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สามารถแก้ปัญหาไปได้ ส่วนการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิด เพราะที่ผ่านมาน่าจะเป็นบทเรียนว่าการชุมนุมประท้วงบนถนนไม่ก่อให้เกิดผลดีขึ้นเลย ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น ถือเป็นปกติของสภาฯต้องให้กำลังใจฝ่ายค้านด้วย เพราะตลอด 5-6 ปี เราไม่มีสภาฯ ไม่มีการตรวจสอบ

อย่างไรก็ดีกระแสข่าวว่าอดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่บางส่วน จะย้ายมาอยู่กับพรรคชทพ.นั้น วันนี้ยังเป็นแค่กระแสอยู่ แต่เป็นเรื่องปกติที่จะมีการย้ายพรรคเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกมธ.แก้รัฐธรรมนูญ กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคิดว่าจะสามารถตกผลึกมีข้อสรุปร่วมกันได้ภายในกลางปี 2563 ทั้งนี้ระหว่างที่กมธ.กำลังทำงานพิจารณาอยู่นั้น อย่าทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของนักกการเมือง มิฉะนั้นจะไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างแน่นอน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวฝ่ายค้านนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงมาตรการในการจัดการกับงูเห่าของพรรคเพื่อไทย(พท.) โดยยอมรับว่าภายใต้กลไกของรัฐธรรมนูญเอื้อต่อการเกิดงูเห่าได้ตลอดเวลา ซึ่งพรรคได้ให้ส.ส 3 คนที่ขัดมติพรรคเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ยืนยันว่าหากผิดจริงจะมีมาตรการที่ชัดเจนและเด็ดขาด ส่วนเหตุผลที่ยังไม่ขับออกจากพรรคได้เนื่องจากต่างจากพรรคอนาคตใหม่ที่โหวตสนับสนุนรัฐบาลจนทำให้เห็นจุดยืนที่ชัดเจน

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพท.เปิดเผยว่า พรรคได้จัดเตรียมขุนพลอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไว้แล้วจำนวน 25 คน จัดหมวดหมู่ แบ่งลักษณะพฤติกรรมและการกระทำที่นำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 5 รัฐมนตรี