ผลตอบแทนหุ้นไทย ปี 62 รองบ๊วยหุ้นโลก

ผลตอบแทนหุ้นไทย ปี 62 รองบ๊วยหุ้นโลก

ดัชนีปี 62 ปิดบวก ให้ผลตอบแทนเพียง 1% อยู่อันดับ “รองบ๊วย” ต่างชาติขายสุทธิ 3 ปีซ้อน “ทีคิวเอ็ม” ถือเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 189% สวนทาง “เพซ” ราคาดิ่งหนักสุด 80%

ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย (SET) วันสุดท้ายของปี 2562 วานนี้ (30 ธ.ค.) ดัชนีปิดการซื้อขายที่ 1,579.84 จุด เพิ่มขึ้น 1.62 จุด หรือ 0.1% จากวันก่อนหน้า ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ยังขายสุทธิต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อีก 4.4 หมื่นล้านบาท รวม 3 ปี นักลงทุนกลุ่มนี้มียอดขายสุทธิรวมกว่า 3.57 แสนล้านบาท ส่วนเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง โดยวานนี้แข็งค่าหลุดระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ มาปิดตลาดที่ระดับ 29.92 บาทต่อดอลลาร์ เป็นการทำสถิติแข็งค่าครั้งใหม่ในรอบ 6 ปีครึ่ง

ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ตลาดปี 2562 ให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงครึ่งปีแรก โดยดัชนีวิ่งขึ้นไปแตะจุดสูงสุดของปีที่ 1,748.15 จุด เพิ่มขึ้นถึง 11.78% แต่ในช่วงครึ่งปีหลังกลับออกมาในทิศทางตรงกันข้าม ดัชนีปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนไปแตะจุดต่ำสุดที่ 1,543.22 จุด ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อย โดยทั้งปีดัชนีหุ้นไทยให้ผลตอบแทนราว 1%

  

  • หุ้นไทยชนะแค่ตลาดมาเลฯ

เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลก เริ่มจากตลาดหลักในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ต่างปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าไทยเล็กน้อย ที่ 5.1% 4.7% และ 2.2% ตามลำดับ มีเพียงดัชนีตลาดหุ้นมาเลเซียที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าไทย โดยติดลบ 4.7%

ส่วนตลาดหุ้นหลักในเอเชียอื่นๆ ได้แก่ เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 8% ฮ่องกง 9.2% ขณะที่ไต้หวันในปีนี้ค่อนข้างโดดเด่น ปรับตัวขึ้นถึง 24.3% จากการขยายตัวของบริษัทในกลุ่มธุรกิจที่อิงกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะในส่วนของ semiconductor ทางด้านตลาดหุ้นจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ต่างปรับตัวขึ้นได้ดีทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้น 20.5% 18.3% และ 15.3% ตามลำดับ

สำหรับตลาดหุ้นหลักในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ถือเป็นปีที่ค่อนข้างโดดเด่น นำมาโดยสหรัฐ ซึ่งดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้นราว 30% ดัชนีดาวน์โจนส์ เพิ่มขึ้นเกือบ 23% รวมถึงดัชนีตลาดหุ้นฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่ปรับตัวขึ้นประมาณ 27% ส่วนดัชนีตลาดหุ้นออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 21% และดัชนีตลาดหุ้นรัสเซีย เพิ่มขึ้น 28%   

157775913864

  

  • ต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่อง ปีที่3

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเชียพลัส เปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงขายจากต่างชาติติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยปีนี้ถูกขายสุทธิอีกราว 4.4 หมื่นล้านบาท หรือ 1.35 พันล้านดอลลาร์ และเป็นการขายสุทธิมากสุดในภูมิภาค สวนทางตลาดหุ้นหลายๆ ประเทศยังเป็นการซื้อสุทธิเกือบทั้งสิ้น นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังขายตราสารหนี้ไทยอีก 8.4 หมื่นล้านบาท รวม Fund Flow ไหลออกจากหุ้นและตราสารหนี้ 1.28 แสนล้านบาท

ขณะที่แนวโน้ม Fund Flow ในปี 2563 ยังมีโอกาสชะลอลงจากหลากหลายปัจจัย ทั้งในมุมเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่าที่คาด จากประเด็นสงครามทางการค้า แม้ล่าสุดสหรัฐจะมีท่าทีพักรบกับจีน แต่มีโอกาสขึ้นกับภาษีกับประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ ยุโรป เนื่องจากสหรัฐขาดดุลการค้ากับยุโรป ซึ่งเป็นรองเพียงจีนเท่านั้น รวมถึงความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองภายในประเทศ อีกทั้งเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ถ้านำเงินเข้ามาลงทุนในช่วงนี้ ก็อาจทำให้ต้องประสบภาวะการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

   

  • จับตาปี63 เม็ดเงินกองทุนหาย

ที่สำคัญในปีหน้ายังเป็นปีแรกที่ขาดเม็ดเงินจากกองทุน LTF เข้ามาช่วยหนุน ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อตลาดหุ้น ซึ่งหากพิจารณา Fund Flow ในอดีตย้อนหลัง 5 ปี (ปี 2557 - 2562) แม้ต่างชาติจะขายสุทธิหุ้นไทยกว่า 6 แสนล้านบาท (ปรับตามมูลค่าตลาด) แต่นักลงทุนสถาบันมีบทบาทสำคัญ และเป็นผู้พยุงตลาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยซื้อสุทธิ 5 แสนล้านบาท ช่วยหนุนให้ SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 21.5% แต่ในปี 2563 แรงขับเคลื่อนตลาดจากนักลงทุนสถาบันหายไปพอสมควร

โดยกองทุน LTF มีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินจากกองทุนทั้งหมดในประเทศที่หมุนเวียนอยุ่ในตลาดหุ้น)นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงิน LTF คงค้างที่ซื้อในช่วงปี 2547 – 2558 พร้อมขายได้อยู่อีกกว่า 1.8 แสนล้านบาท ส่งผลให้ SET ในปี 2563 มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อย่างจำกัด

  

  • ประเมินปี63 กำไรบจ. 1 ล้านล้าน

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรสุทธิของบจ.ไทย อยู่ ที่ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 95.71 บาท เติบโต 3.9% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าเติบโตได้ดีกว่าตลาด ส่วนใหญ่เกิดจากฐานกำไรสุทธิปี 2562 ที่ต่ำกว่าปกติ เช่น กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มพลังงาน และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET ในช่วง 1,579 - 1,675 จุด

ด้านสถิติสำคัญในปีที่ผ่านมา ปัจจุบันดัชนี SET มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) 16.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 15.9 ล้านล้านบาท ขณะที่ P/E ตามการคำนวณของตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 19.4 เท่า สูงสุดในรอบ 4 ปี

โดยหมวดอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นสูงสุด ได้แก่ เงินทุนและหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้น 25.9% รองลงมาคือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 16.5% และหมวดอาหาร เพิ่มขึ้น 15.1% ส่วนหมวดอุตสาหกรรมที่ลดลงมากสุด ได้แก่ เหล็ก ลดลง 25.3% ปิโตรเคมี ลดลง 24.8% และของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน ลดลง 24.3%

157775942888     

  • ‘ทีคิวเอ็ม’ แชมป์หุ้นพุ่ง 189%

ขณะที่แชมป์หุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดปี 2562 คือ บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) เพิ่มขึ้น 189.5% ปิดที่ 66 บาท รองลงมาคือ บมจ.เอส พี วี ไอ (SPVI) เพิ่มขึ้น 176.4% ปิดที่ 3.04 บาท และบมจ.คาราบาว กรุ๊ป (CBG) เพิ่มขึ้น 173.2% ปิดที่ 84 บาท

ส่วนหุ้นที่ลดลงมากที่สุด ได้แก่ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ (PACE) ลดลง 80.56% ปิดที่ 0.07 บาท ถัดมาคือ บมจ.พีพี ไพร์ม (PPPM) ลดลง 80.04% ปิดที่ 0.54 บาท และบมจ.ไพโอเนียร์ มอเตอร์ (PIMO) ลดลง 74.8% ปิดที่ 1.23 บาท

 

  • บาทแข็งทะลุ 30 ต่อดอลลาร์

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า  เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีครึ่งที่ 29.88 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะปิดตลาดในประเทศ ณ สิ้นปี 2562 ที่ระดับ 29.92 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นประมาณ 8.8% เมื่อเทียบกับระดับปิดสิ้นปี 2561 โดยกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทระหว่างปี 2562 อยู่ในช่วง 29.88-32.43 บาทต่อดอลลาร์

ปัจจัยในปี2562 เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นปีท่ามกลางความไม่แน่นอนในจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงไตรมาส 2 สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทยในระหว่างที่รอสถานการณ์ทางการเมืองและความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2 จนถึงสิ้นปี โดยมีแรงหนุนสำคัญมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ปัจจัยพื้นฐานของเงินบาทที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะฐานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงสิ้นปี ท่ามกลางสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนการใกล้ลงนามในดีลการค้าเฟสแรกร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน

สำหรับแนวโน้มเงินบาท คาดไว้ที่ 29.75 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี2563

157775947423

  

  • เงินบาทปี62 แข็งสุดในภูมิภาค

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า วานนี้(30ธ.ค.) เงินบาทเมื่อเทียบสกุลอื่นในเอเชีย เงินบาท แข็งค่าขึ้น 0.57% สูงสุดเป็นอันดับ 1 รองมาเป็น มาเลเซีย ริงกิตแข็งค่าขึ้น 0.5% และเกาหลี วอน แข็งค่าขึ้น 0.4% และเงินบาทสิ้นปี 2562 เทียบเมื่อสิ้นปี2561 แข็งค่าสูงสุดเป็นอันดับ1 แข็งค่าขึ้น 8.61%

อย่างไรก็ตามเงินบาทแข็งค่าอย่างเร็วในช่วงสิ้นปี ซึ่งเป็นไปตามภาพตลาดเปิดรับความเสี่ยงหนุนสกุลเงินเอเชียให้แข็งค่าต่อได้ ซึ่งเงินบาทไม่สามารถต้านทานได้ หลังจากนักลงทุนต่างชาติมีแรงขายดอลลาร์ทำกำไรสิ้นปี จากดีลสงครามการค้าในเฟสแรกชัดเจนขึ้น และในช่วงทศวรรษผ่านมา เงินบาทแข็งค่าในวันทำการสุดท้าย 6 ใน 10ครั้ง และมักมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในปีที่ผ่านมา

“เงินบาทตลอดปี2562 มาจากปัจจัยเงินสกุลอื่นอ่อนค่าแต่เงินบาทไม่อ่อนค่าตาม นักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์เสี่ยงและมองเงินบาทเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย อีกทั้งเงินสกุลอื่นแข็งค่า แต่เงินบาทแข็งค่ามากกว่า จากการดูแลค่าเงินบาทไม่เหมือนปีอื่นๆมีความระมัดระวังมาก”

  

  • แนวโน้มปี63 ยังแข็งค่าต่อ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในปี2563 มองกรอบไว้ที่ 28.70-30.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมีโอกาสแข็งค่าแตะระดับ 28.70 บาทต่อดอลลาร์ได้ โดยในช่วงไตรมาสแรกปี2563ยังมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง ที่ระดับ 29.60 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นราว1.5% และอ่อนกลับมาในไตรมาส2 จากสงครามการค้ายืดเยื้อ

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ไตรมาส3 ไปจนถึงสิ้นปี2563 น่าจะเห็นเงินทุนไหลออกจากสหรัฐอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงทั้งปี 5-10% เทียบกับสกุลเงินหลักเช่น เยนและยูโร และเงินบาทจะแข็งค่าตามราว 5% ไปที่ระดับ 28.7 บาทต่อดอลลาร์ นักลงทุนต่างชาติยังมองเงินบาทเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย