ปี 'หมู' ที่ไม่หมู-ปีแห่งการประท้วงทั่วโลก

ปี 'หมู' ที่ไม่หมู-ปีแห่งการประท้วงทั่วโลก

ปี 2562 ถือเป็นปีหมูไฟ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวร้อนๆในทั่วทุกมุมโลก จากการชุมนุมประท้วงตั้งแต่ฮ่องกง โบลิเวีย ฝรั่งเศส เลบานอนและปิดท้ายปีด้วยการประท้วงในอินเดียที่ส่งผลกระทบถึงการท่องเที่ยวโดยตรง

หนึ่งในการประท้วงที่สร้างปรากฎการณ์และทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก คือการประท้วงในฮ่องกง ที่มีจุดเริ่มต้นจากการต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนลุกลามบานปลายไปสู่การประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และการแยกฮ่องกงเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่ สถานการณ์ตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดการประท้วงที่ยืดเยื้อก็กลายเป็นเหตุรุนแรงจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต

แม้ทางรัฐบาลฮ่องกงพยายามประนีประนอมกับผู้ประท้วง แต่ดูเหมือนว่า กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงยังคงดึงดันที่จะกดดันรัฐบาลให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องเพราะกระแสแห่งความไม่พอใจและไฟแห่งความอัดอั้นถูกจุดติดแล้วในดินแดนซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เกาะซึ่งมีกฎหมายเป็นของตนเองและยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินด้วย

157775287836

ขณะที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ทุกครั้งที่มีสถานการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นกับฮ่องกง จีนจะออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทางช่องทางต่างๆทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี หรือสื่อที่เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาล และยังไม่ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด

ขณะที่ผลการเลือกตั้งสภาเขตของฮ่องกงเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่รัฐบาลจีนและฮ่องกงจะต้องนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าจะใช้นโยบายเพื่อรับมือกับเหตุประท้วงที่เกิดขึ้นต่อไปอย่างไร ถือเป็นสถานการณ์ที่มีที่มาที่ไปที่นานาประเทศต่างพากันติดตามอย่างไม่ลดละว่าท้ายที่สุดแล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนเกาะฮ่องกงจะปิดฉากในรูปแบบใด

ส่วนการประท้วงเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส ที่เริ่มจากกลุ่มประชาชนรายได้ต่ำในชนบท ลุกลามไปทั่วประเทศและนำไปสู่การปิดถนนในหลายเมืองใหญ่ กลายเป็นการประท้วงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มาจนถึงการประท้วงหยุดงานในกรุงปารีส เพื่อต่อต้านแผนปฏิรูประบบเงินบำนาญของรัฐบาลฝรั่งเศสในช่วงปลายปี

ขณะที่กรุงมอสโก รัสเซีย ผู้ประท้วงต่างโกรธเคืองการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส และที่อังกฤษ ประชาชนต่างเดินขบวนต่อต้านการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ส่วนที่สเปน ชาวคาตาลันปะทะกับตำรวจขณะเดินขบวนเรียกร้องการแยกตัวออกจากสเปน เช่นเดียวกับที่เซอร์เบีย ยูเครน อัลแบเนีย ล้วนเผชิญกับการเดินขบวนครั้งใหญ่เช่นกัน

157775290128

นักวิเคราะห์บางคนให้ความเห็นว่า ปี 2562 มีความคล้ายคลึงกับปี 2391 เมื่อชนชั้นผู้นำและราชวงศ์ต่าง ๆ ในยุโรปต้องรับมือกับความวุ่นวายและความเดือดดาลของประชาชนจนนำไปสู่การโค่นล้มระบอบกษัตริย์ แต่การประท้วงในปีนี้ ยังมีความไม่พอใจที่นำไปสู่การเรียกร้องอิสรภาพและเสรีภาพของประชาชนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ศาสนา หรือเศรษฐกิจ รวมทั้งต่อต้านปัญหาคอร์รัปชั่นและความไม่เท่าเทียม

ส่วนที่อเมริกาใต้ ชิลี โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย เปรู เวเนซุเอลา และเอกัวดอร์ รัฐบาลล้วนต้องรับมือกับกลุ่มผู้ประท้วงที่เดือดดาลทั้งจากความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

157775291213

ในตะวันออกกลาง ประชาชนชาวเลบานอน เริ่มการประท้วงเพราะไม่พอใจที่รัฐบาลเก็บภาษีแอพพ์ส่งข้อความวอทส์แอพพ์ ก่อนที่จะลุกลามไปเป็นการต่อต้านปัญหาคอร์รัปชั่น ส่วนที่อิหร่าน ประชาชนเดินขบวนต่อต้านราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 300% นำไปสู่การปราบปรามที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน

ที่อินเดีย การประท้วงกฎหมายสถานะพลเมืองฉบับใหม่ สร้างความแตกแยกให้กับประชาชนต่างศาสนาในประเทศนี้มากขึ้น โดยการประท้วงทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 25 คน โดยรัฐอุตตระประเทศ ทางตอนเหนือเป็นจุดที่มีการประท้วงรุนแรงที่สุด และเป็นที่ตั้งของเยือนทัชมาฮาล แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของอินเดีย

ทางการอินเดียประเมินว่า ช่วง 2สัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศยกเลิกหรือเลื่อนการมาชมทัชมาฮาลแล้วประมาณ 2 แสนคน

นักวิเคราะห์บางคนพยายามหาคำอธิบายจุดร่วมในวิธีการของผู้ประท้วงแต่ละประเทศ เช่นการปิดถนน หรือการเดินขบวน ที่มักถูกนำมาใช้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน แม้ว่าในที่สุดแล้ว แนวทางของแต่ละประเทศ แต่ละเมือง มักขึ้นอยู่กับบริบทของดินแดนนั้น ๆ แต่สิ่งที่เหมือนกันอย่างแท้จริง คือความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และมีความเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง

แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากการประท้วงในอดีต คือการนำสื่อสังคมออนไลน์มาใช้ประโยชน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่เนื้อหาที่ยิ่งทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความโกรธแค้น การปลุกระดม และการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านผู้มีอำนาจขึ้นมา