ปี 2563 กระตุ้นยังไง เศรษฐกิจไทยก็ไม่ฟื้น

ปี 2563 กระตุ้นยังไง เศรษฐกิจไทยก็ไม่ฟื้น

ตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก หนี้ครัวเรือน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ผลประกอบการของธุรกิจในภาพรวมต่างก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 คงไม่ดีไปกว่าเศรษฐกิจปีนี้

"ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดขึ้นเมื่อเพื่อนบ้านคุณตกงาน ส่วนภาวะเศรษฐกิจ ตกต่ำจะเกิดขึ้นเมื่อคุณนั่นแหละที่เป็นคนตกงาน ส่วนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเกิดเมื่อจิมมี คาร์เตอร์ พ่ายแพ้ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า"

...โรนัลด์ เรแกน ตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก หนี้ครัวเรือน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ผลประกอบการของธุรกิจในภาพรวมต่างก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 คงไม่ดีไปกว่าเศรษฐกิจปีนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นำมาใช้เพื่อต่อลมหายใจรายไตรมาส ก็ได้ผลเพียงแค่การต่อลมหายใจจริงๆ เพราะการที่เศรษฐกิจไทยมาถึงจุดนี้ได้นั้น เกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และเหตุปัจจัยเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการระยะสั้น

ลักษณะสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยแสดงอาการถดถอยนั้น นอกจากจะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกแล้ว ความอ่อนแอยังเกิดจากปรากฏการณ์ภายในที่สำคัญ 2 อย่าง คือ ลูกค้าเปลี่ยนที่เงินเปลี่ยนทาง และการฉีกถ่างของความเหลื่อมล้ำ

ลูกค้าเปลี่ยนที่เงินเปลี่ยนทาง หมายถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป หันไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เงินจึงย้ายที่ไปหมุนในโลกออนไลน์มากกว่าโลกจริง ยิ่งพอมีผู้ให้บริการขนส่งมาเสนอตัว ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดส่งสินค้า การออกมาเดินซื้อของเลยน้อยลง ทำให้จำนวนคนเข้าห้างกับยอดขายที่เกิดขึ้น ไม่ได้ล้อตามกันเหมือนเมื่อก่อน ตลาด ร้านค้า ย่านธุรกิจที่เคยคึกคักเลยเงียบเหงาไปถนัดใจ

พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแบบนี้ ธุรกิจที่จับทางไม่ได้ แล้วยังทำธุรกิจด้วยวิธีการเดิม ย่อมพบกับความยากลำบากมากขึ้น แต่ถึงจับทางได้คู่แข่งก็อาจจับทางได้เหมือนกัน ยิ่งช่วงเศรษฐกิจถดถอย แถมต้องแบกหนี้ครัวเรือนกันอ่วมแบบนี้ อะไรประหยัดได้ก็ประหยัด การช่วงชิงเม็ดเงินที่น้อยลงของลูกค้า ย่อมหมายถึงการต่อสู้ที่ รุนแรงขึ้นของธุรกิจ ใครไม่แกร่งจริงย่อมยืนระยะอยู่ได้ไม่นาน เพราะกลไกตลาด ไม่เคยบอกว่าแต่ละประเทศควรมีธุรกิจกี่ราย กลไกตลาดบอกแค่ว่าผู้ที่เก่งและปรับตัวได้เท่านั้นถึงจะอยู่รอด

การฉีกถ่างของความเหลื่อมล้ำ เกิดจากการกลไกการกระจายรายได้ ที่ทำให้คนแต่ละกลุ่มได้ผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เท่าเทียมกัน ด้าน หนึ่ง เป็นเพราะโครงสร้างของเศรษฐกิจที่มีการกระจุกตัวของทรัพย์สินและทุนอยู่ในมือคนส่วนน้อย แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เกิดจากคุณภาพของคนไทยเนื่องมาจากปัญหาช่องว่างทักษะ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามที่ตลาดแรงงานคาดหวัง ไม่ว่าจะในฐานะของพนักงาน หรือในฐานะของเจ้าของกิจการ

ประเด็นสำคัญก็คือ ภาวะเศรษฐกิจมีผลต่อความเหลื่อมล้ำ และความเหลื่อมล้ำก็มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ภาวะเศรษฐกิจจะเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะเวลาเศรษฐกิจถดถอย ผลกระทบจะเกิดจากล่างขึ้นบน ผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อนคือกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่สูงนัก ถ้าหากเป็นพนักงาน ก็คือพนักงานที่จ้างมาทำงานเป็นกะ หรือพนักงานระดับปฏิบัติการ เพราะความคุ้มค่าของการจ้างพนักงานกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับยอดขาย ถ้ายอดขายไม่ดี คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มแรกที่จะถูกลดหรือเลิกจ้าง

ถ้าเป็นพ่อค้าแม่ค้าทำงานอิสระ หาเช้ากินค่ำ ซึ่งรายได้แต่ละวันก็มีไม่สูงนัก เมื่อเศรษฐกิจถดถอย รายได้ลดลง การหาเงินให้พอชักหน้าถึงหลังรายวันก็ลำบาก แล้ว เกิดรายได้ขาดไปหลายวันติดต่อกัน อาจต้องขายทรัพย์สินนำเงินออมที่มีอยู่น้อยนิดมาใช้ หรือต้องไปกู้หนี้นอกระบบ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้พวกเขายากจนลงกว่าเดิม

พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะไหลจากบนลงล่าง นั่นหมายความ ว่าเงินจะถึงมือคนที่มีฐานะดีก่อนแล้ว ค่อยถึงคนกลุ่มอื่นในภายหลัง และเนื่องจาก เงินที่ถึงมือคนส่วนบนของพีระมิดทางเศรษฐกิจมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่จะไหลลงมาด้านล่าง ดังนั้นเงินที่มาถึงคนกลุ่มล่างๆ จึงเหลือเพียงน้อย การฟื้นตัวทาง เศรษฐกิจแบบที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน จึงกลายเป็นกลไกซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงมากกว่าเดิม

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ออกมา เป็นเพียงการเพิ่มปริมาณเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจภายใต้โครงสร้างของปัญหาเดิม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีนั้น ต้องวัดจากประสิทธิภาพระยะสั้นและประสิทธิผลระยะยาว

ประสิทธิภาพระยะสั้น คือการใช้เงินให้น้อยที่สุด เพื่อแก้ปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนและกระตุ้นการไหลเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ

ส่วนประสิทธิผลระยะยาวจะเกิดขึ้นเมื่อเม็ดเงินเหล่านี้ช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งมากพอ จะได้ไม่ต้องกลับมาเจอกับปัญหาเดิมซ้ำๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้นเสียที หากลืมความสำคัญของประเด็นเหล่านี้ จะกระตุ้นยังไงเศรษฐกิจไทยก็ไม่ฟื้น