จับตาการค้าการลงทุน ปี 63 อาเซียน-จีน โตต่อเนื่อง

จับตาการค้าการลงทุน ปี 63 อาเซียน-จีน โตต่อเนื่อง

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว แม้การเจรจาเฟสแรกจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เฟสสองอาจส่งผลให้ความตึงเตรียดยืดเยื้อไปอีก ดังนั้นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะย้ายกลับมาสู่ภูมิภาคเอเชีย

ผลพวงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับ จีน ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลกชะลอตัว

ความตึงเครียดที่เกิดจากการตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับ จีน ไม่ได้เพียงก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน เทคโนโลยี การศึกษาทั่วโลก

แม้ว่าจะมีการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศที่ถูกปรับลดลงในปี 2563 อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเชิงมหภาคจะมีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง ทั้งนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยรายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ หรือ World Economic Outlook ที่ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็น 3.4% ในปี 2563 ซึ่งดีขึ้นกว่าปี 2562

ในเอเชีย ประเทศจีนยังคงเป็นจุดสนใจ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะมีอัตราการเติบโตที่ 5.9% ในปี 2563 (จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 6.1% ในปี 2562) เมื่อเศรษฐกิจของจีนชะลอตัว เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในเอเชียก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม อาจมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในบางประเทศที่ได้รับอานิสงส์อันเป็นผลมาจากการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน อาทิ เวียดนาม (คาดการณ์อัตราเติบโตที่ 6.8%) เมียนมา (คาดการณ์อัตราเติบโตที่ + 6.7%) ฟิลิปปินส์ (คาดการณ์อัตราเติบโตที่ + 6.5%) และอินโดนีเซีย (คาดการณ์อัตราเติบโตที่ + 5.2%)

หลังจาก 1 ปีครึ่งของความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น สหรัฐฯและจีนได้ประกาศในช่วงกลางเดือนธันวาคมว่า พวกเขาได้ทำข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในวอชิงตันในช่วงต้นเดือนมกราคม 2563 จากนั้นจะอยู่ในขั้นตอนการเจรจาการค้าระยะที่สองซึ่งจะมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากปัญหาพื้นฐานหลายประการที่สหรัฐฯ เรียกร้องยังไม่ได้รับการพิจารณา อาทิ การค้าดิจิทัล การแปลข้อมูลและการไหลของข้อมูลข้ามพรมแดน

ระยะเวลาของการเจรจาการค้าระยะที่สองอาจส่งผลให้ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยืดเยื้ออีกในปี 2563 เพราะคาดว่าอาจจะไม่ได้ข้อสรุปของข้อตกลงทางการค้าระยะที่ 2 ที่รวดเร็วนัก เนื่องจากการโต้แย้งขยายขอบเขตไปไกลกว่า การค้าสินค้าและบริการแบบดั้งเดิม นอกจากนี้การเจรจาจะเกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐ จะเทความสนใจไปที่ปัญหาภายในประเทศเช่นการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2563

  • ศูนย์กลางความเจริญเศรษฐกิจโลกจะกลับมาที่เอเชีย

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะย้ายกลับมาสู่ภูมิภาคเอเชียที่จีน อินเดีย และอาเซียน ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว

ในปี 2573 มูลค่าทางเศรษฐกิจของจีนจะขยายตัวกว่า 31 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบเท่าหรือมากกว่าสหรัฐฯ ที่จะขยายตัวสูงสุดที่ 33 ล้านล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาดสินค้าของจีนก็เติบโตอย่างต่อเนื่องโดย ตั้งแต่ปี 2555 ตลาดสินค้าจีนเติบโตเฉลี่ย 1 ล้านล้านดอลลาร์ ทุกๆ 3 ปี อีกทั้งจีนได้รับผลกระทบไม่มากจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ทำให้มูลค่าตลาดสินค้าสามารถเพิ่มขึ้นกว่า 4.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563 ส่วนสหรัฐฯจะขยายตัวเพียง 5.3 ล้านล้านดอลลาร์

กลุ่มประเทศอาเซียนจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดที่สุดในโลกที่ 5.2% ต่อปี โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ลาว กัมพูชา และ ฟิลิปปินส์ ทั้งนี้เนื่องมาจากนโยบายการการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศที่เสรี ทำให้อาเซียนกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ที่จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2565

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ประชากรของอาเซียนยังคงเติบโตเพิ่มขึ้น โดยภายในปี 2573 อาเซียนจะมีประชากรสูงถึง 749 ล้านคน มูลค่าการค้าจะเพิ่มเป็น 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะมีมากถึง 3.283 แสนล้านดอลลาร์

  • ปี 63 เศรษฐกิจไทยโตไม่เกิน 3%

ในปี 2561 ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ด้วยมูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปี 2562 ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ภาคส่งออกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจถูกปรับลดลงเหลือเพียง 2.3% และคาดว่าตลอดทั้งปีจะเติบโตอยู่ที่ 2.4%

ปี 2563 ตัวเลข GDP จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 3.2% จากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับแรงหนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงการลงทุนในโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการที่จะเกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ทั้งนี้รัฐบาลควรสนับสนุนการลงทุนจากภาคเอกชน โดยออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการบิน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบดูแลสุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยจำนวนประชากรจะเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป

ในส่วนของสถานะของเงินบาทถือว่ามีความปลอดภัยสูงกว่าค่าเงินของหลายประเทศในภูมิภาค โดยในปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 6.6% สูงขึ้น 0.8% จากปีที่แล้ว และคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.00-30.80 บาทต่อดอลลาร์ ในปี 2563