'สรรพากร' เร่งทรานส์ฟอร์ม ดึง 'ดิจิทัล' ขยายฐานภาษี

'สรรพากร' เร่งทรานส์ฟอร์ม ดึง 'ดิจิทัล' ขยายฐานภาษี

อธิบดีสรรพากรเร่งเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ ชี้ปี 63 เป็นปีที่เห็นการทรานส์ฟอร์มการจัดเก็บภาษีที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยระบบดิจิทัลที่พัฒนาผ่านแอพพลิเคชั่น-บล็อกเชนจะเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดเก็บภาษีให้เกิดความสะดวก สร้างความเป็นธรรม

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุกระบวนการชำระภาษีที่มีความยุ่งยาก เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไม่ยอมเข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง ดังนั้น กรมฯ จึงได้นำ "ระบบดิจิทัล" เข้ามาช่วยให้การชำระภาษีสะดวกและง่ายยิ่งขึ้น มีเป้าหมายดึงผู้เสียภาษีนอกระบบและช่วยให้ผู้เสียภาษีในระบบชำระภาษีอย่างถูกต้องมากขึ้น 

157768054830

ทั้งนี้ กรมฯ มีเป้าหมายการทำงาน 3 ด้าน คือ ตรงเป้า ตรงกลุ่ม และตรงใจ 

โดย "ตรงเป้า" ความหมายคือ กรมฯ มีเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของรายได้รัฐบาล ดังนั้น การจัดเก็บรายได้ของกรมฯ จึงต้องเป็นไปตามเป้าหมาย หากว่าจัดเก็บพลาดเป้า จะกระทบต่อเสถียรภาพการคลังและภาพรวมเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงต้องพยายามจัดเก็บให้ตามเป้าหมาย

"ปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมาย 1.3 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นส่วนของกรมสรรพากรถึง 9,000 ล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่เราจัดเก็บได้เกินเป้าหมาย ซึ่งส่วนสำคัญเป็นผลจากการนำระบบดิจิทัลมาทรานส์ฟอร์มการจัดเก็บรายได้ ดังนั้น แผนงานของกรมฯ ในปี 2563 นั้น เรายังคงเดินหน้าต่อเนื่องในเรื่องดังกล่าว"

ส่วน "ตรงกลุ่ม" พยายามทำให้ต่อเนื่อง โดยแยกกลุ่มผู้เสียภาษีระหว่างคนที่ดีกับคนที่ไม่ดี โดยใช้ข้อมูลที่เรียกว่า Big Data เข้ามาคัดแยก กลุ่มที่ดีเราจะให้บริการที่ดีขึ้น ส่วนในกลุ่มที่ไม่ดีเราจะเข้าไปตรวจเข้มในการจัดเก็บภาษี

"ในอดีตเราไม่สามารถแยกได้ ลูกค้าที่ดีหรือไม่ดี เช่น เรื่องคืนภาษีที่มีการโกงภาษีมูลค่าเพิ่มกัน ทำให้ทุกคนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ว่าคนดีไม่ดีถูกกระทบ แต่พอมีข้อมูล Big Data ทำให้แยกกลุ่มได้ กลุ่มดีจะบริการให้ดี เช่น คืนภาษีให้เร็ว กลุ่มที่ไม่ดีก็จะตรวจเข้ม" 

ส่วน "ตรงใจ" กรมฯ พยายามอย่างมากที่จะเปลี่ยนภาพกรมฯ ให้เป็น "ยักษ์ยิ้ม" คือพยายามบริการลูกค้าให้สะดวกรวดเร็ว โดยนำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อให้ตรงใจผู้เสียภาษีมากขึ้น

เขายกตัวอย่างการนำระบบดิจิทัลเข้ามาทรานส์ฟอร์มการทำงานของกรมฯ ด้วยว่า ในสมัยก่อนคนจะยื่นแบบการชำระภาษีจะผ่านระบบกระดาษ ต่อมาเราพัฒนาให้ยื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและแอพลิเคชั่นของกรมฯ แต่นับจากนี้ เราจะเปิดเอพีไอ (API : Application Programming Interface) ให้คนเข้ามาพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่จะทำให้เกิดความสะดวกและง่ายต่อการชำระภาษี โดยสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบการชำระภาษีของกรมฯ ได้ทันที ถือเป็นการปรับกระบวนการทำงานผ่านระบบดิจิทัลดังกล่าว

"เราจะเปิดกว้างให้คนเข้ามาพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ในการชำระภาษี ซึ่งต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ขณะนี้เรามีสตาร์ทอัพแล้ว 1 รายที่ผ่านเกณฑ์เข้ามาช่วยการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะเชื่อมต่อการชำระภาษีกับกรมฯ ได้ ถือเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน สิ่งที่กรมฯ จะได้รับคือจะทำให้คนเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น"

นอกจากนี้ กรมฯ จะทำให้กระบวนการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ง่ายขึ้น โดยในทุกๆ เดือนผู้ที่ต้องยื่นแวตจะต้องเก็บใบเสร็จใบกำกับภาษีส่งให้สำนักงานบัญชีเพื่อส่งให้สรรพากรทุกเดือน แต่ต่อไปกรมฯ จะพัฒนาแอพลิเคชั่นระบบการยื่นแบบชำระภาษีแวตที่สามารถสแกนใบเสร็จและส่งข้อมูลมายังกรมฯ เพื่อเป็นข้อมูลประมวลการยื่นแบบได้ทันที คิดว่าภายในปีงบประมาณนี้ต้องเห็น

กรมฯ ยังจะพัฒนาระบบบล็อกเชนในการคืนภาษีแวตนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้เร็วที่สุดในเดือน ม.ค.2563 นี้ ทั้งนี้ บล็อกเชนดังกล่าวจะช่วยให้การคืนแวตนักท่องเที่ยวมีความสะดวกและรวดเร็ว โดยเมื่อนักท่องเที่ยวซื้อสินค้าแล้ว ร้านค้าจะบันทึกและส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร และสรรพากร ระบบบล็อกเชนจะประมวลผลและทำการคืนแวตให้แก่นักท่องเที่ยวได้ทันที

"ต้นปีหน้าเปิดได้แน่นอน ทุกวันนี้ระบบคืนภาษี เวลาไปคืนภาษีทั่วโลกจะเหมือนกัน คือซื้อของแล้วขอใบเสร็จเป็นกระดาษ จากนั้นไปยื่นขอคืนภาษีที่ไปสนามบิน ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ เช่น ศุลกากร จากนั้นจึงจะคืนภาษีให้ ซึ่งจะมีการต่อคิวที่ใช้เวลานานมาก ต่อไปเราจะพัฒนาระบบบล็อกเชนที่สามารถคืนแวตนักท่องเที่ยวผ่านระบบดังกล่าวได้ทันทีและถือเป็นรายแรกของโลก" อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวและว่า ทั้งนี้ ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนแวตในประเทศมีจำนวนประมาณ 3 ล้านราย คิดเป็นมูลค่าจับจ่ายใช้สอยประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

กรมฯ ยังได้สร้างระบบ AI ที่ใช้ชื่อว่า "น้องอารีย์แชตบอท" เพื่อทำหน้าที่ตอบคำถามภาษีต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มเติมจากช่องทางตอบคำถามภาษีในปัจจุบันที่ดำเนินการผ่านแอพพลิเคชั่น เฟซบุ๊ค หรือโทรศัพท์หมายเลข 1161 แต่เนื่องจากคนใช้บริการจำนวนมาก จึงได้จัดให้มี AI ดังกล่าวมาช่วยบริการเพิ่มเติม โดยได้มอบโจทย์แก่เจ้าหน้าที่ให้ไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้ AI สามารถตอบคำถามภาษีให้เข้าใจง่ายมากขึ้น

กรมฯ ยังนำระบบการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยแยกแยะกลุ่มผู้เสียภาษีระหว่างคนดีกับไม่ดี ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยในกลุ่มคนดี เราจะทำการคืนภาษีให้รวดเร็ว ส่วนในกลุ่มคนไม่ดี เราจะตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยปีนี้ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลจะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การหลีกเลี่ยงภาษีจะทำได้ยาก

"ในปีที่แล้วการคืนภาษีบุคคลธรรมจำนวน 80% เราคืนภายใน 1 สัปดาห์ อีก 20% ไม่ได้คืนเร็ว เพราะพวกนี้ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเลี่ยงภาษีซึ่งระบบเช็คได้ เมื่อก่อนต้องทำด้วยมือแต่ตอนนี้ระบบทำได้หมด ถึงแยกได้ระหว่างกลุ่มคนดีหรือไม่ดี ถ้าระบบไม่ผ่านต้องดึงเรื่องไว้ตรวจสอบให้เจ้าหน้าที่ขอข้อมูลเพิ่ม กรณีนิติบุคคลเช่นเดียวกัน โกงภาษีเรื่องแวต เราพยายามแยกตรงนี้ให้ได้มากที่สุด"

ทั้งนี้นิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์มี 6 แสนราย แต่ที่ยื่นภาษีกับเรามีเพียง 4.6 แสนราย ยื่นภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต 54% เป้าหมายเราต้องการให้ยื่นภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้ได้ 100% ซึ่งจะทำให้ฐานใหญ่ขึ้น และทำให้คนที่มีอยู่แล้วใช้ดิจิทัลมากขึ้น ขณะที่บางประเทศใช้การบังคับยื่นภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ด้วยข้อมูลที่เรามียังจะแยกได้ว่ากลุ่มธุรกิจใดมีการเติบโตที่ดีหรือไม่ดี ทั้งนี้ เท่าที่ประเมินในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่าธุรกิจค้าส่งค้าปลีกดีขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากมาตรการชิมช้อปใช้ของภาครัฐ แต่ในภาพใหญ่แล้วยังไม่ดีนัก