ส่อง 'ธุรกิจการบิน' ปี 63 การแข่งขันยังดุเดือด

ส่อง 'ธุรกิจการบิน' ปี 63 การแข่งขันยังดุเดือด

อุตสาหกรรมการบิน เป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนสูง แม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อการเดินทางติดต่อกันไปมาจากทั่วทุกมุมโลก แต่ภาพของธุรกิจนี้ในปี 63 จะสวยงามเหมือนที่ถูกวาดหวังไว้หรือไม่

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินโลกในปี 2562 จะมีกำไรราว 25,900 ล้านดอลลาร์ ลดลง 14% ซึ่งต่ำกว่ากำไรสุทธิในปีก่อนหน้า ที่มีอยู่ราว 30,000 ล้านดอลลาร์ เป็นผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สงครามการค้า ประกอบกับความตึงเครียดทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจที่ยากลำบากขึ้น

ขณะที่สถานการณ์อุตสาหกรรมการบินโลกในปี2563 ไออาตาประเมินว่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ราว 29,300 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากแรงหนุนการฟื้นตัวของการค้าโลก และได้รับอานิสงค์จากราคาเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนของอุตสาหกรรมการบินปรับตัวลดลง

สำหรับสถานการณ์การบินในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกไออาตาประเมินว่าสายการบินจะมีกำไรถึง6,000 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นจาก 4,900 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 รวมทั้งยังคาดว่าจะมีความต้องการการเดินทางทางอากาศยานขยายตัวอย่างต่อเนื่องประมาณ 4.1% ส่วนจำนวนที่นั่งของสายการบินก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกันที่ 4.7% จาก 3.5% ในปี 2562

ในส่วนของสถานการณ์การบินในประเทศไทย จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ฉายภาพว่า ปี 2563 กพท.ประเมินว่าปริมาณสายการบินจะยังคงเติบโตอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าสายการบินต่างชาติจะเติบโตอยู่ที่ราว 5% ขณะที่สายการบินในประเทศ จะเติบโตเพียง 1% เท่านั้น เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มอิ่มตัว เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง กระทบต่อการทำธุรกิจและการเดินทาง

นอกจากนี้ การแข่งขันของธุรกิจการบินยังคงรุนแรงอย่างต่อเรื่อง แม้ว่าต้นทุนราคาน้ำมันจะจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จะเห็นได้ว่าสายการบินก็ไม่สามารถปรับราคาบัตรโดยสารเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มรับรู้ราคาบัตรโดยสารจากการแข่งขันทำโปรโมชั่นที่มีมาตลอดทั้งปี ส่งผลให้ทุกสายการบินต้องใช้กลยุทธ์แข่งขันด้วยราคาโปรโมชั่นเท่านั้น จึงจะแย่งชิงลูกค้าให้จองการเดินทางได้

“สถานการณ์ปี2563 เชื่อว่าทุกสายการบินยังต้องแข่งขันทำราคากันดุเดือดเหมือนเดิม เพราะหากต้นทุนสูง จะเริ่มปรับราคาบัตรโดยสารก็คงจะขายไม่ได้ เพราะผู้โดยสารรับรู้แล้วว่าราคาแพงเกินไปก็จะไม่จอง ทำให้สายการบินยังต้องเลือกใช้กลยุทธ์ราคา ทำราคาต่ำไว้ก่อน เพื่อจูงใจผู้โดยสารให้จอง”

157755339496

นอกจากนี้ กพท.ยังประเมินว่าสายการบินจะเริ่มปรับตัวหารายได้ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากขึ้น อาทิ ครัวการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยานรวมไปถึงเริ่มหาจุดบินเชื่อมโยงตลาดใหม่ๆ เช่น เส้นทางระหว่างประเทศแต่บินตรงไปยังหัวเมืองในต่างจังหวัดซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นการปรับตัวของสายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ และสายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่ขอเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศไปยังสนามบินอู่ตะเภา เพราะเชื่อมั่นว่าจะกลายเป็นเมืองใหม่ที่มีนักธุรกิจเดินทางไปยังเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

จุฬา ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันตลาดนักท่องเที่ยวจีน เริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้ว อีกทั้งยังเห็นการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวไต้หวันเชื่อมมาไทยมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะบินตรงไปยังหัวเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ และภูเก็ต ดังนั้นจะเริ่มเห็นการปรับตัวของสายการบินเข้าไปรองรับตลาดเดินทางระหว่างประเทศในลักษณะนี้ในปี 2563 ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยดันภาพลักษณ์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) เชื่อมต่อเส้นทางบินมากขึ้น

“การที่มีสายการบินเปิดจุดบินใหม่ เชื่อมต่อหัวเมืองกับเส้นทางระหว่างประเทศมากขึ้น ก็จะสนับสนุนไทยเป็นฮับของภูมิภาคได้อย่างมีศักยภาพ เพราะฮับหมายถึงการที่มีคนเดินทางมาเยอะที่สุด ใช้เราเปลี่ยนเครื่องให้ได้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้เราก็เป็นเช่นนั้นแล้ว 75% ของเส้นทางบินในโลก เลือกใช้ไทยเป็นฮับในการเปลี่ยนเครื่องครั้งเดียว เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ 3 แปลว่าตอนนี้เราก็เป็นฮับที่ดีแล้ว”

นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า สถานการณ์การบินในปี 2563 ทอท.คาดว่าปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางผ่าน 6 ท่าอากาศยานของ ทอท. จะมีการเติบโตราว 5-6% ขณะที่ปริมาณเที่ยวบินคาดว่าจะไม่ขยายตัว หรืออย่างมากน่าจะขยายตัวอยู่ที่ 1% เท่านั้น

โดยสาเหตุของการขยายตัวอย่างไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากปัจจุบันการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของไทยที่เกิดขึ้น มาจากการปรับตัวของสายการบินเองผ่านการนำเครื่องบินที่มีความจุมากขึ้นมาให้บริการ เพราะความต้องการเดินทางของผู้โดยสารยังมีอย่างต่อเนื่อง แต่สายการบินไม่สามารถขยายช่วงเวลาการบิน หรือเพิ่มสล็อตการบินได้แล้ว เนื่องจากความสามารถในการรองรับสายการบินของท่าอากาศยานมีอย่างจำกัด เพราะไม่ได้มีการขยายศักยภาพของท่าอากาศยาน ทั้งหลุมจอดและอาคารผู้โดยสาร

“ปี 2563 ส่วนตัวจึงมองว่าซัพพลายยังไม่ได้เพิ่ม สถานการณ์การบินยังทรงตัวเหมือนเดิม และจะโตด้วยการบริหารจัดการของแอร์ไลน์ จนกว่าจะมีการเปิดอาคารแซทเทิลไลท์เข้ามารองรับในช่วงเดือน พ.ย.2563 จึงจะเพิ่มการขยายตัวของแอร์ไลน์ได้”

ในวันพรุ่งนี้ซึ่งจะเป็นปีใหม่ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะยิ่งทรุดตัวหนักขึ้น แต่ต่อให้เศรษฐกิจจะแย่แค่ไหนอุตสาหกรรมการบินก็ยังต้องบินต่อไปและต้องมีความต้องการที่สูงขึ้นด้วย