'พลังงาน' รื้อโครงสร้างก๊าซ ปูทางเสรี - ดันฮับ 'แอลเอ็นจี'

'พลังงาน' รื้อโครงสร้างก๊าซ ปูทางเสรี - ดันฮับ 'แอลเอ็นจี'

มติ กพช.เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2562 มติ กพช. เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2562 รับทราบการเตรียมความพร้อมผู้ให้บริการ (Shipper) รายใหม่ นำมาสู่การส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซLNG ระยะที่ 1 โดยมอบให้กฟผ.นำเข้าแบบตลาดจร (Spot) ไม่เกิน 200,000 ตัน 

กพช.ยังเห็นชอบโครงสร้างราคา LNG แบบ Spot ของ กฟผ. ที่มีแผนนำเข้าล๊อตแรก เดือน ธ.ค. 2562 ปริมาณ 65,000 ตัน และล๊อตสอง เดือน เม.ย. 2563 เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าวังน้อยชุดที่ 4 โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทนระยะที่ 1 

โดยแยกการคำนวนราคาก๊าซฯ ออกจากสูตรโครงสร้างราคาก๊าซเฉลี่ยรวม (Pool Gas) แต่ให้ส่งผ่านไปยังต้นทุนราคาก๊าซในระบบได้ เนื่องจากราคานำเข้าล็อตแรก กฟผ.เปิดประมูลได้ผู้ชนะ คือ ปิโตรนาส จากมาเลเซีย ที่เสนอราคาก๊าซฯต่ำสุด อยู่ที่ราว 5.32 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ถูกกว่าการจัดหา LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท.ที่มีราคาเฉลี่ย อยู่ที่ราว 7.30-9.50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู นับเป็นการปูทางสู่การเปิดเสรีกิจการก๊าซฯเต็มรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เบื้องต้น นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้นโยบายการจัดหา LNG ในอนาคตหากมี Shipper รายอื่นเกิดขึ้น ให้นำมาคำนวนรวมอยู่ในสูตร Pool Gas เพื่อเฉลี่ยต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศให้ถูกลง 

157755016629

นอกจากนี้ ในฐานะประธานคณะกรรมการ กฟผ.ได้สั่งการให้ กฟผ.จัดทำแผนนำเข้า LNG ในอนาคต ที่จะมาป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ที่จะเกิดขึ้นตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) มานำเสนอคณะกรรมการ กฟผ.พิจารณาในเดือน ม.ค. 2563

ดังนั้น จะส่งผลให้แนวทางส่งเสริมให้ กฟผ.เป็น Shipper รายที่ 2 เกิดความชัดเจนมากขึ้น และยังเป็นการทดสอบประสิทธิภาพระบบโครงสร้างพื้นฐานตามข้อกำหนดของรัฐบาลที่เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซของ ปตท. (Third Party Access : TPA) รองรับการเปิดเสรีก๊าซฯเต็มรูปแบบในอนาคต จากเดิมที่มี ปตท.เป็น Shipper เพียงรายเดียวของประเทศ

“เดิมโควตาจัดหาก๊าซฯป้อนโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของประเทศ จะดำเนินการโดย ปตท.ทั้งหมด แต่ขณะนี้ กระทรวงพลังงาน มองว่าควรจะแบ่งโควตาส่วนหนึ่งให้กับ กฟผ.ในฐานะ Shipper รายที่ 2 เข้ามาร่วมจัดหาก๊าซฯในต้นทุนที่แข่งขัน เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าในอนาคตถูกลง”

วุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส1 ปี 2563 ปตท.จะเริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการต่างๆ เช่น ระบบบริการขนถ่าย LNG (Reload System) ให้บริการเติม LNG แก่เรือที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ (Bunkering) และทำการตลาดเพื่อสื่อสารให้กับผู้ค้า LNG เข้ามาใช้บริการ 

ทั้งนี้มีแผนที่จะทดลองส่งก๊าซฯป้อนให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) ซึ่งคาดว่า ปตท.จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบประมาณปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 เป็นต้นไป

การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแผนโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ของ กกพ. 2 โครงการ คือ โครงการ Regional LNG Hub ของ ปตท. และโครงการการศึกษาและพัฒนาศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซแอลเอ็นจี ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด

ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาคสำเร็จ จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศราว 165,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปี (จากปริมาณซื้อ-ขายราวปีละ 10,000 ตัน) จ้างงานเฉลี่ยถึง 16,000 คนต่อปี และยังช่วยลดภาระที่เกิดขึ้นกับค่าไฟฟ้าในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ ภาคเอกชนหลายราย เช่น กัลฟ์ฯ,บี.กริม และ ราช กรุ๊ป เป็นต้น ได้ยื่นขอเป็น Shipper รายใหม่ ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่ยังไม่สามารถอนุมัติได้ เพราะยังต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากกระทรวงพลังงานก่อน 

ขณะเดียวกัน กกพ. ได้เตรียมปรับปรุงหลักเกณฑ์และกฎระเบียบต่างๆ เตรียมความพร้อมในส่วนของการออกใบอนุญาตต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจการก๊าซฯเสรี โดยเปิดรับฟังความเห็นร่างหลักเกณฑ์การกำกับผู้รับใบอนุญาตศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซธรรมชาติ (SO) 

รวมทั้งร่างหลักเกณฑ์การกำกับผู้รับในอนุญาตขอส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติ (TO) เพื่อเตรียมแยกใบอนุญาตศูนย์ SO ที่เดิมอยู่กับ ปตท. ออกมาให้ชัดเจน เช่นเดียวกับธุรกิจไฟฟ้าที่แยกออกมาแล้ว ซึ่งจะทำให้ในอนาคต กกพ.สามารถเข้าไปรับรู้ข้อมูลสั่งจ่ายก๊าซฯได้อย่างโปร่งใส และเป็นธรรมมากขึ้น