ปคบ.จับรปภ.หัวใส อ้างเป็นนศ. ตุ๋นรับหิ้วสินค้า ก่อนเชิดเงินหาย

ปคบ.จับรปภ.หัวใส อ้างเป็นนศ. ตุ๋นรับหิ้วสินค้า ก่อนเชิดเงินหาย

ตำรวจปคบ.ตามจับตัวผู้ต้องหาอดีตพนักงานรักษาความปลอดภัย หลังแอบอ้างตัวเป็นนักศึกษารับฝากซื้อสินค้าประเภภทอาหาร แต่ไม่ส่งสินค้าให้ลูกค้าตามที่ตกลง เชิดเงินหนีหาย โดยทำมากว่า 4 ปี เปิดเพจมากกว่า 10 เพจ ได้เงินไปกว่า 1 ล้านบาท

วันนี้ เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) พลตำรวจตรี ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค แถลงผลจับกุมตัว นายรชานนท์ โสภาพ อายุ 34 ปี ผู้ต้องหาหมายจับของศาลจังหวัดพระโขนง ในข้อหา “ฉ้อโกงประชาชนโดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น” จับกุมได้ที่ร้านอินเตอร์เน็ตแห่งหนึ่งในซอยรามคำแหง 2 ถนนบางนา-ตราด แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กทม. พร้อมของกลางสมุดบัญชีธนาคารและบัตรกดเงินสดหลายรายการ

พลตำรวจตรี ณัฐศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้นายรชานนท์ ผู้ต้องหา เป็นอดีต รปภ.และอ้างตนเองเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดัง เปิดเพจเฟซบุ๊กรับฝากหิ้วหรือซื้อสินค้าประเภทอาหารกว่า 10 เพจ มานานกว่า 4 ปี และเมื่อผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ต้องหาแล้ว ก็จะไม่ส่งสินค้าตามที่ตกลงไว้จนมีเหยื่อนับพันราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งผู้เสียหายส่วนมากจะอยู่ในกรุงเทพฯ และเมื่อผู้ต้องหาได้เงินมาก็จะรีบถอนเงินออกมาและปิดบัญชีทันที อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาจะหลอกขายที่มีมูลค่าไม่มาก ทำให้ผู้เสียหายบางรายไม่ประสงค์ไปแจ้งความเป็นคดี นอกจากนี้นายรชานนท์ ยังสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเองโดยไปออกรายการผ่านสื่อโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ

157751196487

พลตำรวจตรี ณัฐศักดิ์ กล่าวต่อมาตำรวจชุดสืบสวน บก.ปคบ.ร่วมกับ ตำรวจกองปราบได้สืบสวนติดตามจนทราบว่าผู้ต้องหาไม่มีที่พักเป็นหลักแหล่ง และจะคอยหลบซ่อนตำรวจ ตามสวนสาธารณะและห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก่อนที่จะมาอาศัยร้านเกมส์หลับนอน และใช้คอมพิวเตอร์จากร้านเกมส์ติดต่อหลอกขายสินค้า ทั้งนี้เนื่องจากร้านเกมส์มักจะเซ็ตระบบทุกวันทำให้ไม่มีข้อมูลทิ้งไว้ให้ติดตามได้ แต่ที่สุดตำรวจก็เข้าจับกุมผู้ต้องหาได้ที่ร้านอินเตอร์เน็ตดังกล่าว ก่อนนำส่งพนักงานสอบสวน สน.บางนา ดำเนินคดีต่อไป

ทั้งนี้ ฝากเรียนประชาชนให้ตรวจสอบเว็บเพจต่างๆ ว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หากพบว่าสินค้าหรือบริการมีความผิดปกติและต้องการแจ้งเบาะแส สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135