ท่องเที่ยวปิดปี 62 ปาดเหงื่อ! บาทแข็งฉุดทัวริสต์เมินไทย

ท่องเที่ยวปิดปี 62 ปาดเหงื่อ! บาทแข็งฉุดทัวริสต์เมินไทย

ไม่เกินเลยนักหากจะนิยามสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยปี2562ว่าเหนื่อยยาก ถึงขั้นกุมขมับปาดเหงื่อไปตามๆ กัน เพราะเมื่อดูตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่ารายได้รวมท่องเที่ยวไทยปี2562จะจบที่3.06ล้านล้านบาท เติบโตแค่4%

แยกดูไส้ใน ททท.คาดว่าตลาดต่างประเทศจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยทั้งสิ้น 39.77ล้านคน เพิ่มขึ้น4%สร้างรายได้ประมาณ1.96ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น4%เช่นเดียวกันไปไม่ถึงดวงดาว2ล้านล้านบาท ขณะที่ตลาดในประเทศ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวในประเทศ167ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นเพียง1%เกิดรายได้หมุนเวียนในประเทศเป็นมูลค่า1.1ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น3%

แต่ถ้ามองมุมกลับ ก็นับว่าดีมากแล้วที่ตัวเลขจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ไม่หล่นร่วงสู่แดนลบ ทั้งที่มีอุปสรรคคอยฉุดรั้ง ไล่เรียงกันตั้งแต่สงครามการค้า ระหว่างจีนกับสหรัฐที่ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่จีนหรือสหรัฐ แต่เหมารวมประเทศต่างๆ ที่ร่วมสังฆกรรม ยับยั้งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการชะลอตัวของตลาดยุโรปและโอเชียเนียอย่างต่อเนื่อง เหมือนหนังม้วนยาวที่ต้องตามต่อ ไม่รู้ว่ากว่าจะเห็นคำว่า จบบริบูรณ์ นี่อีกนานแค่ไหน

อีกเรื่องคือการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)ในหลายประเทศ แม้ประชาชนอาจจะไม่ถูกใจสิ่งนี้ แต่ด้วยหน้าที่ก็ต้องจ่ายตามระเบียบ ส่งผลให้ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย และอาจชะลอการท่องเที่ยว เช่น รัสเซีย ปรับขึ้นภาษีVATจาก18%เป็น20%, ญี่ปุ่น ปรับขึ้นจาก8%เป็น10%และบาห์เรน จากที่ไม่เคยเก็บVATก็ต้องเริ่มเป็นครั้งแรกที่5%

ขณะที่การประท้วงในฮ่องกงก็ยืดเยื้อมานานกว่า6เดือน เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของฮ่องกงชัด ไม่ยกเว้นแม้แต่ภาคท่องเที่ยวทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก ทำให้ทัวร์ไทยที่กำลังนิยมไปไหว้พระขอพรเทพเจ้าที่เกาะฮ่องกงเป็นอันต้องชะงักไป เปลี่ยนจุดหมายใหม่ไปไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือประเทศในกลุ่มอาเซียนแทน

นอกจากนี้ ยังมีอีกเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าช็อกวงการทัวร์โลกพอสมควร เมื่อบริษัททัวร์ โทมัส คุกในสหราชอาณาจักรและเยอรมนี ประกาศล้มละลาย สร้างความวุ่นวายให้ผู้ประกอบการโรงแรมในไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ถือเป็นอุทาหรณ์ให้บริษัททัวร์ในไทยได้ขบคิดต่อ ว่าถ้าอยากไปต่อบนเส้นทางธุรกิจท่องเที่ยวในระยะยาว ต้องปรับตัวกันโดยด่วน

ส่วนตัวแปรคลาสสิกที่ขึ้นลงแบบผันผวนเมื่อไร ย่อมส่งผลต่อธุรกิจไทยที่ทำการค้ากับต่างประเทศ แน่นอนว่าภาคท่องเที่ยวก็โดนหางเลขไปด้วย เมื่อเงินบาทแข็งค่าล้ำหน้าเพื่อนๆ ในภูมิภาค ส่งผลให้อำนาจการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง คนที่ยังตัดสินใจมา ก็ต้องคิดหน้าคิดหลังอย่างระมัดระวัง

แต่ที่เลือกไม่มาเลยก็มีเหมือนกัน เข้าขั้นเมินเมืองไทย เป็นการชั่วคราวก็ว่าได้ ปัจจัยไม่ได้มีแค่เรื่องค่าเงิน เพราะทุกวันนี้ใครๆ ก็หันมาดึงนักท่องเที่ยวไปจับจ่ายในประเทศตัวเองกันทั้งนั้น หลายๆ ประเทศมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่สด แล้วคนที่อยู่ในวงการท่องเที่ยวโลกมานานอย่างประเทศไทย จะให้พูดคำว่ายอมแพ้ก็ดูไม่ใช่ เพราะจริงๆ แล้วภาพลักษณ์ของประเทศไทยก็ยังมีมุมที่ดีขึ้น ทั้งการกลับมาปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการได้รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในตลาดต่างๆ ติดอันดับท็อปของโลกก็มาก

และยังได้ปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ อย่างการขยายเวลามาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง(Visa on Arrival : VoA) จนถึงวันที่30เม.ย.2563แม้นาทีนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะพิจารณาต่ออายุมาตรการนี้อีกครั้งหรือไม่ แต่จากที่สอบถามผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยต่างบอกเป็นเสียงเดียวว่า ถ้าต่อได้ก็นับเป็นเรื่องดีมาก เพราะทุกวันนี้หลายๆ ประเทศต่างก็เลือกใช้มาตรการผ่อนปรนด้านวีซ่าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ

157750980165

ด้านสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ ททท.คาดการณ์ว่า เนื่องจากคนไทยยังวิตกกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ จึงระมัดระวังการใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น โดยปรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวเป็นเดินทางระยะใกล้ๆ และลดจำนวนวันเดินทางน้อยลง

จากอุปสรรคเศรษฐกิจชะลอตัว เงินบาทที่แข็งค่า และการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งเพื่อแย่งชิงนักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าประเทศ รัฐบาลจึงออกมาตรการส่งเสริมการจับจ่ายและท่องเที่ยว ชิม ช้อป ใช้กระตุ้นมู้ดและเงินหมุนเวียนในประเทศ จนเกิดกระแสอดตาหลับขับตานอน รอกดจองสิทธิออนไลน์ข้ามคืน เพื่อเป็นหนึ่งในผู้ได้สิทธิรับเงิน1,000บาทไปจับจ่าย เฟสแรก10ล้านคน, เฟสที่สอง3ล้านคน และเฟสที่สาม2ล้านคน นอกจากนี้ยังมีมาตรการของ ททท.ช่วยเสริมอีกแรง ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญ“100เดียวเที่ยวทั่วไทย และวันธรรมดาราคาShockโลก

ขณะที่ธุรกิจสายการบิน แม้บางรายยังขยายเส้นทางการบินเชื่อมโยงภูมิภาค อาทิ เส้นทางพัทยา (อู่ตะเภา)-เชียงใหม่ และภูเก็ต-เชียงราย แต่ด้วยปัจจัยลบภายนอกทั้งเศรษฐกิจซบเซาและเงินบาทแข็ง เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์)5ราย ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยเวียตเจ็ท และบางกอกแอร์เวย์ส ทำหนังสือร้องกระทรวงการคลังให้พิจารณาปรับลดอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของธุรกิจสายการบินในปัจจุบัน