ภารกิจบอร์ดแข่งขันฯ 63 จับตาควบรวม-คุมอีคอมเมิร์ซ

ภารกิจบอร์ดแข่งขันฯ 63  จับตาควบรวม-คุมอีคอมเมิร์ซ

ประธานบอร์ดแข่งขันทางการค้า เผยภารกิจปี 63 จับตาควบรวม-คุมอีคอมเมิร์ซ

พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2562 ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ทำให้มีสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และมีคณะกรรมการ 7 คน มากำกับดูแลการประกอบธุรกิจและกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้แข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยรอบปีที่ผ่านมาเป็นการเริ่มต้นของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในการเตรียมความพร้อมสำนักงานเพื่อรองรับภารกิจตามหน้าที่

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า การดำเนินงานปี 2563 คณะกรรมการแข่งขันการค้าจะเน้นการทำงาน 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.การเข้าไปดูธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือ การค้าออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจนี้มีการอัตราการขยายตัวแบบก้าวกระโดด 

ดังนั้นควรจะมีระเบียบหรือกติกาออกมาเพื่อดูแลควบคุมธุรกิจนี้หรือไม่ เพราะปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจมากและมีมูลการค้าสูง โดยเพลตฟอร์มหลักที่ใช้ส่วนใหญ่เปิดอยู่ที่ต่างประเทศ ขณะที่ประเทศไทยเป็นเพียงลูกข่ายหรือเป็นหน่วยประสานข้อมูลของเพลตฟอร์มาการค้าออนไลน์ขนาดใหญ่

ประเด็นนี้ ถือว่ามีความสำคัญมากเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และรัฐบาลให้ความสำคัญและมีการส่งเสริมการทำธุรกิจนี้ แต่ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าผู้บริโภค ร้านค้าย่อยและเอสเอ็มอีบางส่วนไม่ได้รับเป็นธรรมถูกเอาเปรียบ ซึ่งบางครั้งก็มีการใช้อำนาจเหนือตลาด ดังนั้นคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะเข้าไปศึกษาโครงสร้างธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งในและต่างประเทศ

“ลักษณะพฤติกรรมของธุรกิจอีคอมเมิร์ซแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาโครงสร้างและตลาดของธุรกิจดังกล่าวเพื่อพิจารณา ซึ่งอาจมีการออกระเบียบเหมือนธุรกิจค้าปลีกหรือธุรกิจเฟรนไซส์"

ทั้งนี้ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะไม่ออกระเบียบหรือกฎเกณฑ์อะไรที่เคร่งครัดจนทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตไม่ได้เพราะนี่คือทิศทางของเศรษฐกิจยุคใหม่ และเศรษฐกิจยุคดิจิทัลอย่างไรก็ตามกขค.จะมีการทำเรื่องนี้อย่างเข้มข้น

นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธ.อ.) ได้สำรวจมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทย พบว่า ปี 2560 มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทย 2.76 ล้านล้านบาท ปี 2561 มีมูลค่า 3.15 ล้านล้านบาท อัตราเติบโต 14% และคาดว่าปี 2562 จะมีมูลค่า 3.80 ล้านล้านบาท หรือโต 20%

2.การควบรวมกิจการ ซึ่งคาดว่าแนวโน้มของการควบรวมธุรกิจจะเป็นเรื่องใหญ่และมาแรงในปี 2563 ขณะนี้ได้มีการตั้งทีมงานเพื่อเฝ้าระวังและจับตาการควบรวมกิจการของธุรกิจบางประเภท ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า วงการธุรกิจค้าปลีกจะมีการควบรวมกิจการ 

โดย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า กำหนดให้ต้องดําเนินการขออนุญาต และต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าก่อนจึงจะทําการรวมธุรกิจได้ เนื่องจากเข้าข่ายเป็นการรวมธุรกิจตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า และหากฝ่าผืนไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกําหนดอาจถูกลงโทษปรับสูงสุดในอัตรา 0.5 % ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ โดยธุรกิจที่ควบรวมกิจการได้มีทั้งที่อยู่ในและนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

สำหรับการทำงานภาพรวมของคณะกรรมการแข่งขันการค้าที่ผ่านมา พบว่า การบังคับใช้กฎหมายดีขึ้นดีกว่ากฎหมายฉบับเดิม ทั้งเรื่องร้องเรียน การตัดสินคดีมีความรวดเร็ว ส่วนความเข้าใจในกฎหมายใหม่ก็เข้าใจและระมัดระวังการประกอบธุรกิจไม่ให้ขัดกับกฎหมายใหม่

ทั้งนี้ ปี 2562 ที่ผ่านมา งานที่เร่งทำคือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนให้รู้จักสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและตัวกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจ การเตรียมความพร้อมของสำนักงาน ที่ผ่านมา 1 ปี มีปัญหาหลายเรื่องทั้งด้านการบริหารงาน บุคลากร งบประมาณ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานต่อไป เพราะเชื่อว่าปี 2563 จะมีคดีเข้ามาให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าพิจารณาจำนวนมาก

นอกจากนี้ ภารกิจเร่งด่วนที่คณะกรรมการการแข่งขันการค้าได้ทำคือ การเร่งรัดการดำเนินการการสอบสวนคดีค้างเก่า ที่ร้องเรียนมาตั้งแต่ก่อน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2562 จะบังคับใช้ โดยได้ดำเนินการสะสางคดีไปได้ทั้งหมดแล้ว ซึ่งในคดีที่เกิดขึ้นคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้มีการตัดสิน ซึ่งมีทั้งยกคำร้อง ตักเตือน ลงโทษ และตัดสิทธิ์

สำหรับเรื่องที่สำคัญในปี 2562 ที่ถือว่าเป็นผลงานเด่น คือ การออกระเบียบเพื่อใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจ โดยดำเนินการเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว 2 เรื่อง คือ 1.การอออกประกาศแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย

2.แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจเฟรนไชส์เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันและไม่ได้ทำผิด พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า

ส่วนคดีใหม่หลังจากที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า มีผลบังคับใช้ มีการร้องเรียนมานั้นได้ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจประชาชน โดยในระหว่างการลงพื้นที่มีประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ การร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า รวมแล้ว 40-50 เรื่อง บางเรื่องก็ได้มีการพิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้ว บางเรื่องไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าก็ยกคำร้อง เช่น การนำรถไปขายกับบริษัทประมูลรถยนต์ แต่กลับไม่ได้ราคาก็มาร้องเรียนต่อกรรมการ และบางเรื่องได้ลงโทษไปแล้ว

ในขณะที่ประเภทของคดีที่ร้องเรียนก็มีหลายประเภท เช่น มีพฤติกรรมการค้าที่เอาเปรียบ มีพฤติกรรมเหนือตลาด ซึ่งมีทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่มียอดขายระดับพันล้านบาท ส่วนธุรกิจที่ถูกร้องเรียนเป็นธุรกิจประเภทค้าปลีก ค้าส่ง ธุรกิจออนไลน์ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการสอบสวนและพิจารณาตัดสิน ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่นานในแต่ละคดี