สรุปภาวะ"ตลาดเงินตลาดทุน"รายสัปดาห์ วันที่ 23-27 ธันวาคม 2562

สรุปภาวะ"ตลาดเงินตลาดทุน"รายสัปดาห์ วันที่ 23-27 ธันวาคม 2562

เงินบาทขยับแข็งค่า ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตามแรงซื้อ LTF/RMF ปลายปี

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทประจำสัปดาห์

เงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบแนว 30.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด อาทิ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและยอดขายบ้านใหม่ อย่างไรก็ดี กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทยังค่อนข้างแคบ ขณะที่บรรยากาศการซื้อขายเริ่มเบาบาง เนื่องจากเข้าใกล้ช่วงวันหยุดของเทศกาลปลายปี

- ในวันศุกร์ (27 ธ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 30.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 ธ.ค.)

สรุปภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทในปี 2562

-  เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 30.15-32.43 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในปี 2562 (ข้อมูล ณ 27 ธ.ค. 2562) เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นปีท่ามกลางความไม่แน่นอนในจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงไตรมาส 2 สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทยในระหว่างที่รอสถานการณ์ทางการเมืองและความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

- อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2 และทำสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปีที่ 30.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยมีแรงหนุนสำคัญมาจากปัจจัยพื้นฐานของเงินบาทที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะฐานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและมุมมองของนักลงทุนที่ว่า เงินบาทเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยในช่วงที่การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีสัญญาณปะปน ก่อนที่จะมีการเปิดเผยในช่วงกลางเดือนธ.ค. ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถบรรลุดีลการค้าเฟสแรกร่วมกันแล้ว

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 ธ.ค. 62- 3 ม.ค. 63) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินของธปท. เดือนพ.ย. และเงินเฟ้อของไทยในเดือนธ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณของดีลการค้าสหรัฐฯ-จีน และบันทึกการประชุมเฟด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ดัชนี ISM และ PMI ภาคการผลิต และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ย. ดัชนีราคาบ้านเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยประจำสัปดาห์

-  ดัชนีตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,578.22 จุด เพิ่มขึ้น 0.34% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 39.41% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 34,435.49 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 0.78% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 308.06 จุด

-  ดัชนีตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันช่วงต้นสัปดาห์ จากข้อมูลการส่งออกเดือนพ.ย.ของไทยที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องและแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ ตามแรงหนุนของการทำ Window Dressing และแรงซื้อ LTF/RMF ช่วงปลายปี นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากสถานการณ์การค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันว่าอยู่ระหว่างเตรียมการสำหรับการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกร่วมกัน

สรุปภาพรวมการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในปี 2562

SET Index มีกรอบการเคลื่อนไหวในช่วง 1,543.22-1,748.15 จุดในปี 2562 (ข้อมูล ณ 27 ธ.ค. 2562)  โดยตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาขึ้นช่วงต้นปี ก่อนจะขยับขึ้นแตะจุดสูงสุดของปีในช่วงกลางปี โดยมีแรงหนุนจากความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลไทย ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟด รวมถึงความคาดหวังเชิงบวกต่อประเด็นการค้าสหรัฐฯ-จีน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยร่วงลงในเวลาต่อมาและแกว่งตัวอิงขาลงในช่วงที่เหลือของปี ท่ามกลางความกังวลต่อความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน ประเด็น Brexit สถานการณ์ความตึงเครียดในฮ่องกง รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี ปัจจัยต่างประเทศซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯ-จีน ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นไทยลดช่วงลบกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายปี    

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 ธ.ค. 62 – 3 ม.ค. 63) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,555 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,590 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพ.ย. ของธปท. รวมถึงความคืบหน้าประเด็นการลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนธ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนธ.ค.ของจีนและยูโรโซน