เปิดภารกิจ ‘เดอะ ฟินแล็บ’ คันเร่งดิจิทัลยูโอบี

เปิดภารกิจ ‘เดอะ ฟินแล็บ’ คันเร่งดิจิทัลยูโอบี

เดอะ ฟินแล็บ (The FinLab) เดินหน้าภารกิจบ่มเพาะสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคและสร้างระบบนิเวศให้เติบโต ในเวลาเดียวกันก็ตั้งโครงการ Smart Business Transformation เพื่อพาเอสเอ็มอีฝ่าพายุดิจิทัลดิสรัปชั่น

เดอะ ฟินแล็บ (The FinLab) เดินหน้าภารกิจบ่มเพาะสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคและสร้างระบบนิเวศให้เติบโต ในเวลาเดียวกันก็ตั้งโครงการ Smart Business Transformation เพื่อพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีฝ่าพายุดิจิทัลดิสรัปชั่น แล้วทำการ “แมชชิ่ง” พาฝั่ง “ดีมานด์” ก็คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มาเจอกับฟินเทคซึ่งพัฒนาโซลูชั่นที่มีนวัตกรรมและตอบโจทย์จึงถือเป็นฝั่ง “ซัพพลาย” ให้ได้เจอกัน


นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ปลูกฝัง “DNA ดิจิทัล” ให้กับธนาคารยูโอบีอีกด้วย ทั้งหมดคือภารกิจของ เดอะ ฟินแล็บ (The FinLab) 

157744681435


ในส่วนของการบ่มเพาะสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคนั้น กรุงเทพธุรกิจเคยสัมภาษณ์ “เฟลิกซ์ ตัน” หัวหน้ากลุ่มงานร่วม เดอะ ฟินแล็บ ถึงเรื่องนี้ เขาบอกว่าขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ 4C ประกอบด้วย “Connections-Commercialisation-Commitment-Community”ที่นำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ ในทางธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจะได้ไปร่วม The FinLab Accelerator Programme ที่สิงคโปร์ และงจะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญนำไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าและธุรกิจทั้งในประเทศ ตลอดจนขยายไปตลาดต่างประเทศ รวมถึงโอกาสของการระดมทุนอีกด้วย


ขณะที่ธนาคารยูโอบีก็มีเป้าหมายติดอาวุธให้เอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของประเทศให้มีความแข็งแรงสามารถเติบโตได้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จึงเป็นที่มาของโครงการ Smart Business Transformation ทำหน้าที่เป็นเอกเซอเลอเรทโปรแกรมเริ่มต้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2559 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะได้ช่วยทั้งเร่งการเติบโตให้กับบริษัทเทคโนโลยี ในเวลาเดียวกันก็ช่วยพลิกโฉมธุรกิจเอสเอ็มอีสู่ดิจิทัลด้วย


"มีบริษัทเทคโลยีจาก 48 ทั่วโลกส่งแอพมาให้เราพิจารณาถึง 1,300 แอพ แต่ถามว่าทำไมเราสนใจมาจัดในไทยเป็นลำดับถัดมา เหตุผลคือเพราะได้เห็นถึงศักยภาพ ประเทศไทยยังถือเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมที่มีความสำคัญต่อสิงคโปร์อีกด้วย รวมถึงภาครัฐที่มีนโยบายจะผลักดันไทยแลนด์ 4.0 และต้องการให้เอสเอ็มอีมีสัดส่วน 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในปี 2568 "


โครงการนี้จัดขึ้นที่ประเทศไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างธนาคารยูโอบี (ประเทศไทย) และเดอะ ฟินแล็บ ภายใต้การสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)


  “เราต้องมีพันธมิตร ต้องทำงานด้วยกัน เพื่อพัฒนาโครงการนี้ไปด้วยกัน ถ้าไม่เราก็คงไม่อาจหนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างแน่นอน”
โดยก่อนจะเปิดโครงการ ก็ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นมุมมองของเอสเอ็มอีไทย 800 ราย มี 77% ที่ต้องการเครื่องมือด้านการขายและการตลาด 67% ต้องการเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารกระแสเงินสดและ 58% ต้องการนำระบบและเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

เดอะ ฟินแล็บ ได้ตั้งเกณฑ์พิจารณาไว้ 3 ข้อ เป็นคุณสมบัติที่ต้องมีของบริษัทที่จะได้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ หนึ่ง Open สอง Able และสาม Willing

สองเกณฑ์แรกจะสำคัญมากๆ เพราะตัวผู้เรียนซึ่งเป็นผู้ประกอบการก็ห่างหายจากห้องเรียนมานานแล้ว มันเหมือนเป็นการที่เขาต้องเข้าไปนั่งเรียนเอ็มบีเอกันใหม่ ซึ่งผู้เรียนก็ต้องเปิดใจยอมรับในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ทั้งมุ่งมั่นต้องมาเรียนทุก ๆครั้งและนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจจริงๆ นอกจากนั้นต้องมีความตั้งใจ มุ่งมั่น และอยากทำให้ประสบความสำเร็จ อยากสร้างทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

157744684398

โครงการรุ่นแรกที่เปิดในประเทศไทยเพิ่งจบไปเมื่อไม่นานนี้และประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย มีตัวแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี “วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์สปอร์ต จำกัด และ “เณริศา อิศรางกูร ณ อยุธยา” กรรมการผู้จัดการ เอ ลิทเทิล ลัลลาบาย กล่าวยืนยันว่าพวกเขาได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ 

"วอริกซ์สามารถบรรลุเป้าการเติบโตยอดขายประจำเดือนที่สูงขึ้นถึง 270% และคาดว่ายอดขายจะเพิ่มสูงขึ้น 400% ภายในสิ้นปีนี้ และเรายังมั่นใจมากขึ้นในแผนการขยายธุรกิจไปสู่ประเทศอื่นๆ ด้วยแพลตฟอร์มการขายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็คืออินโดนีเซียและญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์จากเครือข่ายที่มั่นคงและแข็งแกร่งของธนาคารยูโอบี"วิศัลย์ กล่าว

"ก่อนที่จะเข้าโปรแกรมเรายังคงมีมายเซ็ทแบบเรื่องเดิมๆ แต่เวลานี้เราได้เห็นประสิทธิภาพของการเอาท์ซอร์สและโซลูชั่นต่างๆว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และลดเวลา ลดต้นทุนได้ค่อนข้างมาก" เณริศา กล่าว

เวลานี้โครงการรุ่นที่สองได้เปิดรับสมัครแล้ว และตั้งเป้าว่าจะรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 50 ราย เฟลิกซ์ ตัน มองว่าปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็คงจะคล้ายๆกันกับโครงการแรก แต่สำคัญที่สุดอยู่ที่การปฏิบัติ


"เทคโนโลยีเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการทรานส์ฟอร์มเท่านั้น เทียบกับคนเป็นโรคหัวใจ ถ้าอยากมีสุขภาพที่ดีก็ต้องกินดี ต้องออกกำลังกาย คือถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรมทุกอย่างก็จะไม่เปลี่ยน อาการคงไม่ดีขึ้น การใช้เทคโนโลยีหรือโซลูชั่นต่าง ๆให้เวิร์คจริง ๆคงไม่ใช่แค่นำมาใช้แล้วจะทำให้ทรานส์ฟอร์มได้ แต่ต้องมีเรื่องเชนจ์เมเนจเมนท์ ทีมงานต้องปรับตัว ปรับพฤติกรรมด้วย"

157744701960


อีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญของ เดอะ ฟินแล็บ คือการ “ปลูกฝัง DNA ดิจิทัล” ในธนาคารยูโอบี ซึ่งเวลานี้ก็ได้เห็นภาพที่ชัดเจน เช่น การเปิดตัว “ทูมอร์โรว์” (TMRW)บริการธนาคารผ่านช่องทางดิจิทัล บนมือถือเต็มรูปแบบครั้งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ดิจิทัลเจเนอเรชัน เนื่องจากนำข้อมูลการใช้บริการที่ได้แปลเป็นข้อมูลเชิงลึก ใช้ยกระดับประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ให้น่าสนใจ คือเมื่อลูกค้าทำธุรกรรมผ่านทูมอร์โรว์มากขึ้น ทูมอร์โรว์ก็จะยิ่งรู้ใจ และนำเสนอสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน


ยังมี “ยูโอบี บิสสมาร์ท” (UOB BizSmart) ที่มุ่งพลิกโฉมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่โลกดิจิทัล ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นธุรกิจแบบครบวงจรที่ช่วยให้จัดการระบบธุรกิจต่างๆได้อย่างราบรื่น สำหรับฟังก์ชั่นยอดนิยมก็คือ ระบบการขายและออกใบแจ้งหนี้ ออกใบเสนอราคาและใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ ,ระบบบัญชีและการกระทบยอด เรียกดูรายการบัญชีได้อย่างรวดเร็วหลังจากทำธุรกรรมการเงิน,ระบบการจัดการสินค้าคงคลัง แสดงรายการสินค้าคงเหลือในคลัง โดยอัพเดทตามยอดขายและยอดสั่งซื้อ ตลอดจนการจัดการเงินเดือนและการบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นต้น