ที่สุดตลาดหุ้นไทยปี 62 'บิ๊กคอร์ปอเรท'เปิดดีลสวนเศรษฐกิจ

ที่สุดตลาดหุ้นไทยปี 62  'บิ๊กคอร์ปอเรท'เปิดดีลสวนเศรษฐกิจ

ตลอดปี 2562 ตลาดหุ้นไทยเผชิญปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวกเข้ามาถาโถมจนทำให้กลายเป็นปีที่ทำกำไรจากการลงทุนในรอบ 1 ปี ไม่ได้เลย เพราะตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ม.ค.-20 ธ.ค.) ดัชนีหุ้นไทยให้ผลตอบแทนพลิกกลับมาบวกในช่วงท้ายปี

    หากแต่ความผันผวนที่เกิดขึ้นกลับมีประเด็นร้อนที่น่าสนใจและกลายเป็นที่สุดของตลาดหุ้นไทยในรอบปีหลายเรื่องทั้งตัวบุคคล บริษัทจดทะเบียน และเหตุการณ์ จนทีมข่าวโต๊ะการเงิน กรุงเทพธุรกิจยกให้เป็นที่สุดของตลาดหุ้นส่งท้ายปี 2562

@ ดัชนีหุ้นสุดผันผวน

ดัชนีหุ้นไทยเป็นสัญญาณบ่งบอกทิศทางอนาคตของแต่ละภาคกลุ่มธุรกิจได้ดีที่สุด เพราะบริษัทผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรมต่างจดทะเบียนในตลาดหุ้นแทบทั้งสิ้น จึงทำให้เมื่อมีปัจจัยบวกหรือลบเข้ามากระทบจะอ่อนไหวได้ง่าย

ช่วง ปี2562 ดัชนีหุ้นไทยถือว่าคาดเดาได้ยากและหักปากกาเซียน หรือแม้แต่นักวิเคราะห์มือฉมังเพราะความผันผวนที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี มีการปรับเป้าดัชนี อัตราทำกำไรบริษัทจดทะเบียนหลายครั้ง

ท่ามกลางดัชนีขึ้นไปสูงสุดในต้นปี สามารถลงมาต่ำสุดในช่วงท้ายปีอย่างกับหนังคนละม้วน เปรียบเทียบตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันดัชนีจาก 1,563.33 จุด (28 ธ.ค. 2561) มาร์เก็ตแคป 15.97 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 1,578 จุด มาร์เก็ตแคป 16.67 ล้านล้านบาท ดัชนีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย

หากดูตั้งแต่ต้นปีดัชนีได้แรงส่งจากการเลือกตั้งปลายเดือนมี.ค. ความหวังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งในรอบ 8 ปี ทำให้มีกระแสเงินลงทุนถาโถมเข้ามาจนทำสถิติมูลค่าซื้อขายสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหุ้นไทยที่ 204,855.67 ล้านบาท (28 พ.ค.) แต่กว่าจะจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลได้กินระยะเวลา 3 เดือน จนสามารถประกาศเป็นรัฐบาลได้ดัชนีขึ้นปิดทำจุดสูงสุด 1,740 .91 จุด (1 ก.ค.)

บรรยากาศตลาดหุ้นที่คึกคักกลับอยู่ได้ไม่นานเพราะครึ่งปีหลังทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว บาทที่แข็งค่า ราคาพลังงานขาลง ทำให้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจจากต่างประเทศ และภาครัฐ ท่ามกลางเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นจากการขายของต่างชาติ และกลุ่มสถาบันที่ขายสุทธิต่อเนื่องกดดัชนีต่ำสุดของปีที่ 1,548.65 จุด (17 ธ.ค.)

@ สุดฮิต Block Trand เบียดรายย่อยหายวูบ

การลงทุนสุดฮิตที่ต่างชาติและกองทุนรวมไปถึงรายย่อยที่มีศักยภาพสูงต้องยกให้ บล็อกเทรด (Block Trade) เครื่องมือที่ไว้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง สำหรับหุ้นรายตัวนักลงทุนสามารถลงทุนทั้งสัญญาซื้อ (Long) หรือสัญญาจะขาย (Short) มีตัวกลางคือโบรกเกอร์จะเป็นผู้เข้ามารับความเสี่ยงรับซื้อสัญญาตรงข้ามตามจำนวนขั้นต่ำที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด

ด้วยอัตราการลงทุน 10 % ของมูลค่าแต่สามารถสร้างโอกาสได้รับผลตอบแทน 10 เท่าหรือทางกลับกันเมื่อผิดทางขาดทุนมากถึง 10 เท่าด้วยเช่นกัน ซึ่งรูปแบบการทำ Block Trade มีการนำหุ้นในมือของต่างชาติมายืมแบบไร้ตัว (neked short) ซึ่งนิยมมากในต่างประเทศ พร้อมกับการนำระบบอกอลิธีม AI หรือ โรบอทเทรดเข้ามาหาจังหวะทำกำไร

มูลค่าการซื้อขายบล็อกเทรดในตลาดหุ้นไทยเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลกระทบตามมาคือสัดส่วนของกองทุน หรือต่างชาติเพิ่มสูงขึ้นเบียดสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นไทยลดลงจากในอดีตสัดส่วน 77% จนล่าสุดเหลือเพียง 38 % และปัจจุบันแตะไปอยู่ที่ 15 %

สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติขยับเป็น 38 % จาก 19 % จนกลายเป็นประเด็นเดือดในกลุ่มธุรกิจโบรกเกอร์รายย่อยกับโบรกเกอร์ต่างชาติยังหาทางลงตัวไม่ได้ว่าควรจัดระเบียบนักลงทุนกลุ่มนี้อย่างไร

157744421815

@ หุ้นเจ้าสัวพารวย?

เสน่ห์ของตลาดหุ้นไทยที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสามารถล่อใจให้บรรดาเจ้าสัวเจ้าของกิจการระดับพันล้าน แสนล้าน อยากเข้ามาอยู่ในตลาดหุ้น คือมูลค่ากิจการที่จะเพิ่มสูงขึ้นสร้างความมั่งคั่งได้มากมาย

ปี 2562 ปรากฏว่ามีหุ้นที่เจ้าของกิจการระดับเศรษฐีของไทยตบเท้าเอาเข้าตลาดหุ้นจำนวนไม่น้อย และที่สร้างปรากฏการณ์มากที่ยกให้ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชย์ ของตระกูล "สิริวัฒนภักดี" ด้วยมูลค่ามาร์เก็ตแคปสูงของหุ้นไอพีโอ

ด้วยมูลค่าสูงสุดเท่าที่เคยมีตลาดหุ้นไทย 1.92 แสนล้านบาท แถมยังเป็นธุรกิจอสังหาฯที่ใหญ่ที่สุดในโลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แต่ราคาหุ้นแรงไม่แพ้กันเพราะเคาะที่ 6 บาทอัตรากำไรต่อราคาปิดต่อหุ้น 256 เท่า ทำราคาเหนือจองเดือนแรกที่เข้าตลาดจากนั้นราคายังไม่พ้นจอง

ฝั่งธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่กันบ้างกับตระกูล “จิราธิวัฒน์” ที่ขึ้นชื่อเป็นเจ้าสัวหัวการค้าที่สุดเพราะดัน หัวเรือใหญ่กลุ่มค้าปลีกในเครือบริษัท ซีอาร์ซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เข้าจดทะเบียนทางอ้อมด้วยควบรวบกับ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ROBINS ด้วยการเพิ่มทุนแทนเงินสด 2,230 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 66.50 บาท คาดการณ์ว่าจะเริ่มดำเนินการซื้อหุ้นที่เหลือในตลาดได้ราวปลายปีถึงต้นปี 2563 เรียกได้ว่ารายการนี้มีแต่เจ้าสัวรับทรัพย์

ต่อกันด้วย บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR บริษัทลูกของ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S ของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” ที่แตกธุรกิจเฉพาะโรงแรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวนหุ้น 1,437 ล้านหุ้น ราคา 5.20 บาท ระดมทุน 7,472 ล้านบาท P/E สูงถึง 160 เท่า

หากแต่ผลประกอบการยังขาดทุนจากการลงทุนหนักในโรงแรมที่โครงการมัลดีฟ จึงทำให้ราคาหุ้นวันนี้จึงตอบรับไปกับฐานะทางการเงิน เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่ยังไม่เคยพ้นให้ผู้ถือหุ้นชื่นใจได้ซักที

157744425092

@ดีลแสนล้านคึกคัก

แวดวงธุรกิจการซื้อกิจการ โดนซื้อกิจการ หรือการควบรวมเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งในปี 2562 ปรากฏว่าคอร์ปอเรทรายใหญ่ลุกขึ้นมาทำดีลแสนล้านบาทคึกคักสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

จุดพลุด้วยกลุ่มพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย ปตท. ที่ส่งลูก บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เข้าซื้อกิจการ บริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ด้วยการ ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่สองรายในสัดส่วน จำนวน 1,010 ล้านหุ้น หรือ 69.11 % ที่ราคา 96.5 บาทต่อหุ้น และเสนอทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด อีก 451 ล้านหุ้น หรือ 30.89 % ในราคาเดียวกัน รวมแล้วดีลดังกล่าวจะใช้เงินทั้งหมด 1.4 แสนล้านบาท

โดยเป็นการระดมสรรพกำลังทางการเงินของกลุ่มเข้ามาช่วยในการซื้อครั้งนี้เพราะด้วยขนาด GPSC เล็กกว่า GLOW เป็นเท่าตัว หากแต่ก็คุ้มเพราะแลกมาด้วย กำลังผลิต 3,207 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำที่ 1,206 ตันต่อชั่วโมง และการขึ้นแท่นแบบไร้คู่แข่งในพื้นที่อีอีซีในธุรกิจโรงไฟฟ้า

ฝากธนาคารพาณิชย์ของไทย ที่กำลังถูกเทคโนโลยีดิสรัป เกิดดีลต้องรวมเพื่ออยู่รอดเกิดขึ้นซึ่งเป็นดีลข้ามปีกว่าจะลงตัว ระหว่างธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK) มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท

กลายเป็นแบงก์พาณิชย์ที่มีขยายใหญ่ขึ้น 2 ล้านล้านบาท เป็นอันดับ 6 ในอุตสาหกรรมภายใต้โครงสร้างใหม่สัดส่วนการถือหุ้นผู้ถือหุ้นเดิมของทหารไทยยังคงสัดส่วนข้างมาก คือไอเอ็นจี 21.26 % กระทรวงการคลัง 18.41 % ประชาชนทั่วไป 31.39 %

ขณะที่ผู้ถือหุ้นเดิมของธนชาต มี TCAP 20.34 % The Bank of Nova Scotia ซึ่งมี Scotia Netherlands Holding B.V. (BNS) 5.59 % ผู้ถือหุ้นรายย่อย 0.03 % นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลในวงจำกัด (PP) 2.89 % ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ ทหารไทย รวมไปถึงTBANK

ดีลเซอร์ไพส์และเกรียวกราวปิดท้ายปีหนีไม่พ้น การเข้าซื้อกิจการของ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) สัดส่วน 89.12% ใน PT Bank Permata จากสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด-แอสทร่า ราว 90,000 ล้านบาท เพื่อให้แบงก์มีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้นเพื่อความแข็งแกร่ง ซึ่งมองต่างจากแบงก์อื่นที่ปรับองค์กรไปดิจิทัลแบงกิ้ง

ที่สำคัญประกาศจะไม่ใช้เงินเพิ่มทุน หากแต่จะใช้เงินจากกระแสเงินสดที่ธนาคารมีอยู่ สินทรัพย์ที่คล้ายเงินสด แต่สุดท้ายปรากฏรายการขายหุ้นในพอร์ตที่อยู่ในตลาดหุ้นที่มีทั้งหมด 48 บริษัท มูลค่า 52,000 ล้านบาท ทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นมาทันทีว่าเงินสดในมือที่จะช้อปแบงก์อินโดฯ เพียงพอจริงหรือไม่

@คู่ชิงดำ BEM-BTS สัมปทานรัฐข้ามปี

ไม่พูดถึงคงไม่ได้กับโครงการภาครัฐที่มีออกมาให้ภาคเอกชนร่วมลุ้นประมูล โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่ถือว่าเป็นรัฐบาลที่ผลักดันให้มีการประมูลและก่อสร้างมากที่สุดจนทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มรับเหมาและกลุ่มบริหารเดินรถไฟฟ้ารายใหญ่ ต่างชักธงพร้อมลงแข่งขันทุกงาน

คู่ที่ต้องชิงดำกันอยู่ตลอดหนีไม่พ้น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM และ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ BTS ซึ่งต่างฝ่ายต่างรับบริหารเดินรถไฟฟ้าอยู่แล้วในปัจจุบัน

หากแต่สายรถไฟฟ้าที่เตรียมประมูลและมีความน่าสนใจมากที่สุดในปี 2563 คือสายสีส้มฝั่งตะวันตก (บางขุนนนท์-มีนบุรี) มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท เนื่องจากเป็นเส้นที่เชื่อมและขนส่งผู้โดยสายได้จำนวนมาก ด้วยระยะทาง 16 กิโลเมตร เชื่อมกับสายสีเหลือง

ด้านสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร สามารถเชื่อมต่อกับสายอื่นถึง 2 เส้น คือสายสีน้ำเงินและสายสีชมพู งานประมูลมีทั้งงานก่อสร้างต้องมาชิงกันกับ บริษัทช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นบริษัทแม่ BEM กับ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC มีพันธมิตรเหนียวแน่นคือ BTS

รวมไปถึงการเตรียมตัวประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ซึ่งยังอยู่ระหว่างการวางเกณฑ์ประมูล ซึ่งสายนี้มีมูลค่าถึง 128,235 ล้านบาท ในส่วนการเดินรถที่มีค่าลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร

ปี 2563 จึงเป็นที่น่าจับตาว่าคู่ชิงดำข้ามปีของสองกลุ่มที่มีพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งคู่ใครจะได้งานได้มากกว่ากัน

157744427098