'สมศักดิ์' หนุนโทษประหาร คดีฆ่าข่มขืน หากสังคมเอาด้วย

'สมศักดิ์' หนุนโทษประหาร คดีฆ่าข่มขืน หากสังคมเอาด้วย

"รมว.ยุติธรรม" หนุนโทษประหาร นักโทษคดีฆ่าข่มขืน หากสังคมเอาด้วย เชื่อว่าทุกคนเห็นด้วยแม้ว่าจะขัดหลักสิทธิมนุษยชนก็ตาม

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 62 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นักโทษเรือนจำ จ.สงขลา แหกคุก ว่า ขณะนี้จับตัวได้แล้ว ตนไม่ได้ตกใจแต่ตนให้ความสนใจกับคนที่เจ็บและตายในคุกมากกว่า รวมทั้งคนที่เข้าไปในคุกแล้วไม่ทราบเรื่องของกฎระเบียบในเรือนจำ ปัจจุบันนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศมีจำนวน 3.7 แสนคน สำหรับคนที่หลบหนีหรือแหกคุกมีจำนวนเล็กน้อย

ส่วนกรณี นายสมคิด พุ่มพวง ผู้พ้นโทษและได้ออกมาก่อคดีซ้ำ โดยต่อไปนี้กรมราชทัณฑ์จะมีมาตรการณ์ควบคุมโดยชะลอการปล่อยตัวทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยตนมีข้อมูลแบ่งนักโทษออกเป็น 9 ประเภท ตั้งแต่โทษน้อยสุดไปจนถึงมากสุด มีจำนวน 2.3 หมื่นคน คดีฆาตกรต่อเนื่องและโรคจิตมี 3 พันคน และในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับโทษตลอดชีวิต และโทษที่เหลืออีก 2-3ปี

นอกจากนี้มีกลุ่มนักโทษในคดีฆ่าข่มขืนประมาณ 100 คน ซึ่งต้องมีมาตรการณ์ทางกฎหมายเพื่อควบคุมนักโทษทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในกรณีที่นักโทษพ้นโทษออกไปจะต้องมีมาตรการณ์ที่สามารถนำพวกเขามาจองจำต่อ หรือกักขังต่อตามกฎหมายอาญา มาตรา 39 และพ.ร.บ.ของกรมสุขภาพจิต ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นคนอันตราย มีความเสี่ยงในการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งจะต้องเข้ารับการตรวจในขั้นตอนทางการแพทย์ เพื่อให้อยู่ในสังคมข้างนอกได้ในระยะ 3-10 ปี เพื่อไม่ให้การกระทำความผิดซ้ำ โดยขอให้อัยการและศาลมีคำสั่งในเรื่องนี้ แต่ในระยะยาวจะต้องมีการออกกฎหมาย โดยให้กรมราชทัณฑ์กำกับดูแลเพิ่มโทษ ซึ่งต่างจากนักโทษปกติทั่วไป คาดว่าต้องใช้เวลาแต่ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้ทำบัญชีรายชื่อนักโทษออกมาแล้ว

นายสมศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.ได้เสนอให้มีการเอาผิดนักโทษคดีฆ่าข่มขืน หรือทำผิดทางเพศให้ตัดอวัยวะเพศ หรือทำการฉีดยาอัณฑะฝ่อ ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนรวม สังคมมีแนวคิดหลากหลาย เป็นเรื่องที่ดี ถ้าส.ส.ส่วนใหญ่เอาด้วยก็สามารถดำเนินการออกกฎหมายได้ กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะไม่ได้ใข้กฎหมายประหารชีวิตมานานแต่การข่มขืนเด็กอายุ 7 ขวบ ก็มีการสั่งประหาร แม้ว่ากลุ่มสิทธิมนุษยชนจะคัดค้านทั่วประเทศ แต่ส.ส.ของอเมริกาเอาด้วย ก็มีการสั่งประหารชีวิตและมีการออกกฎหมาย ที่ระบุว่าถ้าฆาตกรชั่วร้ายคนนั้นอยู่ที่ไหน สังคมควรรับรู้และจะทำให้ไม่มีคนตาย แต่ในประเทศไม่มีใครรู้ว่าคนร้ายเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ไทยก็ควรมีกฎหมายในลักษณะนี้ออกมา ถ้าส.ส.ต้องการออกกฎหมายเหล่านี้ก็สามารถเสนอได้ หรือจะมาร่วมกับกระทรวงยุติธรรมก็พร้อม เพราะคือความปลอดภัยของประชาขนไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวแต่อย่างใด

"เชื่อว่าทุกคนเห็นด้วยแม้ว่าจะขัดหลักสิทธิมนุษยชนก็ตาม เพราะเป็นเรื่องของส่วนรวม ถ้าสังคมรับได้ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะออกกฎหมาย บางที่สิ่งที่ผมพูดไปก็อาจจะพูดไปทั่วบ้านทั่วเมือง สำหรับฆาตกรคดีฆ่าข่มขืน อยู่ที่ใด ประชาชนจะต้องรับทราบ เพื่อให้ระมัดระวังซึ่งเป็นมาตรการที่เบาที่สุด แต่ถ้ามาตรการที่หนักคือต้องประหารชีวิต แต่สังคมรับไม่ได้ ก็ต้องติดคุกตลอดชีวิต คำถามคือเราทำได้หรือไม่ และกฎหมายจะทำได้หรือไม่ นี่คือแนวคิดที่ใช้มาตรการจากหนักไปหาเบา"