'แชริ่งอีโคโนมี' รอสตาร์ท สอวช.ชงรัฐปลดล็อคกฎกติกา

'แชริ่งอีโคโนมี' รอสตาร์ท สอวช.ชงรัฐปลดล็อคกฎกติกา

“แชริ่งอีโคโนมี”โมเดลเศรษฐกิจใหม่ส่อแววมาแรงในปี63 ปลดล็อคโมเดลการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมเปลี่ยนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มสู่การใช้ประโยชน์ร่วมกัน“สอวช.”ชี้ไทยต้องสร้างความพร้อมรองรับการมาของเทรนด์ทั้งด้านภาษี เงินทุน กฎหมาย ฟันธงรายได้เพิ่ม ดันเศรษฐกิจโต

โลกในศตวรรษที่ 21 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในทุกด้านเกิดแนวคิดและแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นและหนึ่งในนั้นคือ   "เศรษฐกิจแบ่งปัน" จากข้อมูลของไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ หรือ พีดับบลิวซี (PricewaterhouseCoopers : PwC) บริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลกระบุว่า ในปี 2558 ระบบเศรษฐกิจแบบร่วมใช้ประโยชน์ หรือแบ่งปันนี้มีมูลค่าการตลาดสูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ และจะเติบโตสูงถึง 3.35 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 11 ล้านล้านบาทในปี 2568

157743915447

โมเดลการบริโภคยุคใหม่

กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า      “เศรษฐกิจแบ่งปัน” หรือ Sharing Economy เป็นหนึ่งใน 10 แนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโลก โดยนิยามของเศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์มีหลายรูปแบบ ซึ่งรูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ แบบจำลองเศรษฐกิจที่มีการใช้ประโยชน์สินทรัพย์ (asset) บางอย่างร่วมกันระหว่างคนจำนวนมาก โดยอาจจะเป็นสินทรัพย์ทางกายภาพ เช่น รถยนต์ ที่อยู่อาศัย หรือเครื่องใช้ภายในบ้าน โดยไม่มีการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของเหล่านั้น มูลค่าที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่ายมักจะทำผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลบางรูปแบบ

ส่วนอีกนิยามหนึ่งคือ เป็นแบบจำลองเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับการแบ่งกันปัน ใช้ประโยชน์สินทรัพย์ที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ตั้งแต่พื้นที่ว่างจนถึงทักษะต่างๆ ของมนุษย์ โดยก่อให้เกิดผลประโยชน์ในรูปแบบของเงินที่ผ่านการใช้จ่ายแบบสังคมไร้เงินสด อาทิ แอร์บีเอ็นบี แกร็บ

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยเมื่อเทียบกับในต่างประเทศถือว่าโมเดลเศรษฐกิจนี้ยังเติบโตน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาของบริษัทต่างประเทศ ในแง่ของนโยบายรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ฉะนั้น การตั้งรับนั้นหากจะทำจริงๆ ต้องเป็นการบูรณาการแบบเชิงรุก โดยต้องเริ่มจากโมเดลธุรกิจที่ต้องส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกิจ หรือการประกอบการในลักษณะที่เป็นแชริ่งอีโคโนมี และคนที่จะขับเคลื่อนได้ดีคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ

หากเป็นคอปอร์เรทรายใหญ่ที่จะทำนั้น ส่วนใหญ่จะรับโมเดลต่างประเทศเข้ามาแล้วประยุกต์ใช้ ถ้าเป็นลักษณะแบบนั้นประโยชน์ที่ได้จะกระจุกตัว ฉะนั้น นโยบายจึงต้องเน้นสนับสนุนเอ็สเอ็มอี สตาร์ทอัพและโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์เป็นหลัก

ตอบโจทย์กระจายรายได้

ส่วนปัจจัยหลักที่เป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบ่งปันมีอยู่ 4 ปัจจัยคือ 1.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 2.ความห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อม 3.ความถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลก 4.ความสำคัญของชุมชน

และในส่วนของรัฐบาลนั้นหากจะมีการส่งเสริมอย่างจริงจังสามารถวางรูปแบบการสนับสนุนใน 3 ปัจจัยคือ 1.ด้านภาษี 2.ด้านเงินสนับสนุนในเชิงการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับแชริ่งอีโคโนมี อีกทั้งส่งเสริมศักยภาพคนโดยเน้นกลุ่มสตาร์ทอัพ โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ 3.กฎหมายที่นับเป็นอุปสรรคสำคัญ จึงต้องมีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความครอบคลุมและสอดคล้อง และจากการที่มีโครงการพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ก็อาจจะนำมาทดสอบเรื่องของแชริ่งอีโคโนมีได้เช่นกัน

157743917317

“เราจึงต้องตื่นตัวและตั้งรับในเรื่องนี้ที่โดยจะต้องปรับตัวทำความเข้าใจถึงพฤติกรรม และอำนาจการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคยุคดิจิทัลตั้งแต่วันนี้ และที่ขาดไม่ได้คือนโยบายของประเทศให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว”

กิติพงค์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมแล้วประเทศไทยมีศักยภาพสำหรับการเติบโตของโมเดลเศรษฐกิจแบ่งปัน แต่ต้องได้รับการสนับสนุนในหลายๆ ด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน แล็บในการทดสอบ เนื่องจากเอกชนที่เป็นรายเล็กไม่สามารถลงทุนเครื่องมือขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งตัวอย่างชิ้นงานไปเข้าแล็บทดสอบที่สิงคโปร์ซึ่งมีราคาสูง

หากมีการส่งเสริมให้เกิดโมเดลแบบนี้และรัฐบาลให้แรงจูงใจที่นักลงทุนสามารถลงทุนเครื่องมือด้านนี้ได้ ก็จะเกิดการนำมาแชร์สู่การใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรมและต้องมีวัตถุประสงค์ด้านสังคม ที่ไม่ใช่การแสวงหากำไรสูงสุด พร้อมทั้งหากต้องการให้สอดคล้อง กับโมเดล BCG ก็จะต้องลงลึกไปถึงการส่งเสริมในแง่ของชุมชน

แนะเรียนรู้พฤติกรรมยุคดิจิทัล

แต่ขณะเดียวกันเศรษฐกิจแบ่งปันเป็นเรื่องที่ใหม่มาก และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น การขัดแย้งกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมพื้นฐานอื่นๆ ที่ปฏิบัติกันอยู่เดิม อาทิ ระบบการเก็บภาษีท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ การแทรกแซงตลาดแรงงานที่ปฏิวัติระบบการจ้างงานแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเศรษฐกิจแบ่งปันเป็นภาคธุรกิจที่ดึงเงินลงทุนได้มากกว่าภาคธุรกิจอื่น

157743919189

สำหรับประเทศไทยนั้นยังเห็นแชริ่งอีโคโนมีจากฝีมือคนไทยน้อย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเข้ามาของนายทุนต่างชาติ อย่างเช่น แอร์บีเอ็นบี ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด มีอัตราการเข้าพักในพื้นที่กรุงเทพฯมากกว่า 60% ต่อเดือน โดยของไทยที่เห็นได้เด่นชัดคือ เมกเกอร์สเปซ ที่บรรดา “เมกเกอร์” เปิดให้คนทั่วไป เข้าไปใช้งานเครื่องมือที่มีราคาสูงได้ โดยจ่ายค่าสมาชิกหรือค่าเช่าตามเวลาที่ใช้ หรือแม้กระทั่งแอพพลิเคชั่นแกร็บ หรืออูเบอร์ที่ต่างก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนเกิดเป็นคลื่นลูกใหม่ๆที่เข้ามาตีตลาดอย่างต่อเนื่อง"

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องเข้าใจถึงพฤติกรรม และอำนาจการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคยุคดิจิทัลตั้งแต่วันนี้ และที่ขาดไม่ได้คือต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง และคาดว่าระบบเศรษฐกิจแบ่งปันนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับประเทศไทยมากขึ้นในอนาคตอันใกล้