ยธ.-สธ. MOU 2 ฉบับ เร่งปลดล็อคกระท่อม-กัญชาพ้นยาเสพติด

ยธ.-สธ. MOU 2 ฉบับ เร่งปลดล็อคกระท่อม-กัญชาพ้นยาเสพติด

"สมศักดิ์" ดันเอ็มโอยู 2 ฉบับ เร่งปลดล็อคกระท่อม-กัญชาพ้นบัญชียาเสพติดประเภท 5 ใช้ผลิตยาแก้ปวดทดแทนมอร์ฟีน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ- ชี้ถอดกระท่อมง่ายกว่ากัญชา

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 62 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการดำเนินการเพื่อยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ และบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อพิจารณายกเลิกพืชกัญชาจากยาเสพติดให้โทษ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระท่อมเป็นพืชเสพติดที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้มีการควบคุมเหมือนไทย และหากยกเลิกพืชกระท่อมได้ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากมีสรรพคุณทางยา นำมาศึกษาวิจัย ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และยอดในเชิงพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม รวมทั้งลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาจากต่างประเทศได้ เนื่องจากมีสารแอลคะลอยด์ Mitragynine ระงับอาการปวดได้ 17 เท่าของมอร์ฟีน ปัจจุบันมีประเทศผู้ผลิตมอร์ฟิน เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส แต่ละปีมีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งวิจัยเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะการจดสิทธิบัตร พบว่ามหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่นได้จดสิทธิบัตรเกี่ยวกับพืชกระท่อมไปแล้ว 3 ฉบับ

“ในฐานะนักเมือง ไม่เคยคัดค้านนโยบายการใช้พืชกัญชาทางการแพทย์ และแอบสนับสนุนในใจมาโดยตลอด รอแค่ว่าเมื่อไหร่นโยบายจะใช้ได้จริง พอมาอยู่กระทรวงยุติธรรม เห็นว่าพืชกระท่อม หากนำมาใช้ทางเศรษฐกิจและการแพทย์ก็มีมูลค่ามหาศาล ปลดให้พ้นจากบัญชียาเสพติดแล้ว ก็ไม่ได้ปลูกง่ายๆ ต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี การทำเอ็มโอยูครั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้การยกเลิกพืชกระท่อมใน ครม. จะไม่สะดุด ถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรมจะมอบให้กับประชาชน” นายสมศักดิ์ กล่าว

157744755749

ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับพืชกระท่อมและกัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 แต่พืชเสพติดทั้ง 2 ชนิดมีประโยชน์ทางการแพทย์หลากหลาย เน้นใช้เพื่อรักษาโรคและประโยชน์ทางการแพทย์ ในหลายประเทศไม่จัดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดและไม่อยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษฯ ของยูเอ็นฯ จึงมีความคล่องตัว หากจะปลดให้พ้นจากบัญชีเสพติดได้ง่ายกว่าพืชกัญชา ดังนั้นเพื่อความมั่นคงด้านยาของประเทศ และต่อยอดภูมิปัญญาแผนแพทย์ไทย อีกยังต่อยอดเกษตรกรให้มีความมั่นคง ทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งการปลูก การแปรรูป และพัฒนาพืชกัญชาและกระท่อมร่วมกับอุตสาหกรรมอื่น จึงต้องกำหนดกลไกการควบคุมพื้นที่ปลูกให้รัดกุมไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม ซึ่งคณะทำงานฯภายใต้บันทึกข้อตกลงของทั้ง 2 ฉบับจะต้องศึกษาวิจัยและสรุปรายงานเพื่อยกเลิกพืชกระท่อมและกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอร่างพ.ร.บ.กัญชาเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯแล้ว ส่วนพืชกัญชงได้มีการแก้ไขกฎกระทรวงให้มีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้เสรีมากขึ้น หลังจากนี้หากกระทรวงยุติธรรมสนับสนุนยกเลิกพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ก็จะทำให้นโยบายการพืชสมุนไพรที่เคยถูกตีตราว่าเป็นยาเสพติดมาเป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งไม่ต่างจากการใช้ยาหรืออาหารเสริมประเภทอื่นๆ ที่มีทั้งคุณและโทษต่อร่างกาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนรับทราบข้อจำกัดและประโยชน์เพื่อความมั่นคงในชีวิตมากน้อยเพียงใด

แม้กัญชาจะเป็นพืชเสพติดที่ถูกควบคุมโดยอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษฯ แต่หากนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ก็ไม่ขัดกับกฎหมายของยูเอ็น และไม่ต้องเสนอรายงานให้ยูเอ็นรับทราบ เพราะในอดีตกัญชาอยู่ใต้ดิน ไม่ทราบแหล่งที่มา นำมาใช้ก็มีสารปนเปื้อน เป็นพิษต่อร่างกาย เมื่อนำขึ้นมาข้างบนก็สามารถตรวจสอบให้ได้มาตร ฐานและมีความปลอดภัย การใช้กัญชาไม่ใช่เพื่อสันทนาการหรือเปิดให้ซื้อขายได้อย่างเสรี แต่ถ้านำไปใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคก็จะไม่เกิดปัญหา