ถอดรหัสโต TPCH ผ่านสตอรี่ใหม่ ยกฐานะ !

ถอดรหัสโต TPCH ผ่านสตอรี่ใหม่ ยกฐานะ !

สำรวจต้นเหตุ ! นักลงทุนสถาบันจับจอง 'หุ้น ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง' เหนียวแน่น ผ่านปากเจ้าของตัวจริง 'กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี' ตอกย้ำเตรียมทบทวนเป้าหมายกำลังผลิตใหม่ หลังภาครัฐทิ้งทวนแผนรับซื้อไฟฟ้าชุมชุนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากอีก 700 เมกกะวัตต์

ผลงานโดดเด่นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2559-2561) สะท้อนผ่านตัวเลข 'กำไรสุทธิ' ที่ขยับเพิ่มต่อเนื่อง 201.17 ล้านบาท 208.11 ล้านบา และ 353.90 ล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลให้ บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง หรือ TPCH ผู้ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company)ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ยังได้ความสนใจ จากเหล่ากองทุนทั้งในและนอกประเทศ แม้ว่าจะเป็นหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) 

บ่งบอกผ่านการทยอยเข้าถือหุ้นของนักลงทุนสถาบันไม่ว่าจะเป็น บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) CITIBANK NOMINEES SINGAPORE PTE LTD-THAI FOCUSED EQUITY FUND LTD กองทุนเปิด กรุงศรีหุ้นระยะยาวไทยสมอล-มิดแคปปันผล และนักลงทุนรายใหญ่อย่าง 'อนุรักษ์ บุญแสวง' โดยมีสัดส่วนการลงทุน 5.70% ,1.50% ,1.32% , 0.90% , 0.71% และ 0.50% ตามลำดับ (ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน 22 ส.ค.2562)

'กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี' ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง หรือ TPCH บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า ในเป้าหมายของบริษัทคาดว่าในระยะเวลาอีก 2 ปี (2563-2564) บริษัทมีแผนจะย้ายเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งจะช่วยให้มีสัดส่วนนักลงทุนประเภทสถาบันในและต่างชาติเพิ่มขึ้นได้อีก ขณะเดียวกัน ปัจจุบันบริษัทมีการเข้าไปลงทุนในเกาะสอง 'ประเทศเมียนมา' โดยเบื้องต้นเป็นการเข้าไปเช่าที่ดินปลูกหญ้าที่เป็นวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล หากผลผลิตคุ้มค่ากับการลงทุนบริษัทอาจจะมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ดังกล่าวได้ แต่ปัจจุบันบริษัทเพิ่งดำเนินการทดลองปลูกไปได้เพียง 2 เดือน คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการประเมินประมาณ 6 เดือนไปอย่างน้อย 

'ศึกษาการลงทุนในต่างประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย และกัมพูชา แต่จะต้องมีการพิจารณาด้านความเสี่ยงของโอกาสการลงทุน เช่น เรื่องนโยบายที่ชัดเจน และกฎเกณฑ์ด้านภาษี ซึ่งปัจจุบันเราไม่ได้เร่งเพราะว่าในประเทศยังมีการลงทุนอีกเยอะ' 

เมื่อเจาะลึกสตอรี่ดันฐานะการเงิน นายหญิง แจกแจงว่า ก่อนหมดปี 2562 ภาครัฐมีการทิ้งทวนสะท้อนผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ผลักดันแผนรับซื้อไฟฟ้าชุมชุนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากอีก 700 เมกกะวัตต์ ถือเป็น 'โอกาสทอง' ของ บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง หรือ TPCH โดยคาดว่าในปี 2563 บริษัทจะมีการปรับเป้าหมายตัวเลข 'กำลังการผลิต และ รายได้ใหม่ !' หลังจากมีปัจจัยบวกใหม่เข้ามา 

โดยคาดว่าในปี 2563 บริษัทจะมีใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าครบ 250 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจุบันที่มีอยู่ 120 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 200 เมกะวัตต์ และมาจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 50 เมกะวัตต์ และในปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 110 เมกะวัตต์ รวมทั้งโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 10 เมกะวัตต์ 

สำหรับโครงการ 'โรงไฟฟ้าชีวมวล' ที่บริษัทจะต้องหาใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวน 90 เมกะวัตต์นั้น จะมาจากการเข้าร่วมจัดหาและลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของภาครัฐ ที่ล่าสุดได้เตรียมประกาศการรับซื้อแล้วรวมกว่า 700 เมกะวัตต์ โดยบริษัทให้ความสนใจเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าจากชีวมวล และโรงไฟฟ้าชีวภาพ ทั้งนี้ได้มีการเจรจากับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ 'โรงไฟฟ้าขยะ' ที่จะต้องหาใบอนุญาตซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 40 เมกะวัตต์ จะมาจากการเข้าร่วมลงทุนผ่าน บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจาเพื่อเข้าร่วมลงทุนในโครงการที่ 2 แล้ว จำนวน 9 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลืออีก 30 เมกะวัตต์ จะเป็นการเริ่มลงทุนพัฒนาก่อสร้างกับบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในโครงการตามแผนที่วางไว้ บริษัทอาจจะทำการออก และเสนอขายหุ้นกู้ ซึ่งล่าสุดได้รับการจัดอันดับเรทติ้ง จากทริสเรทติ้ง จำกัด ที่อันดับ 'BBB' แต่อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเบื้องต้นหากบริษัทจะออกหุ้นกู้จะทำให้มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5% แต่หากใช้เงินกู้จากโปรเจคไฟแนนซ์จะมีต้นทุนดอกเบี้ยแค่เพียง 4% เท่านั้น  

'เจ้าของตัวจริง' เล่าต่อว่า คาดรายได้ในปี 2563 จะเติบโตเกิน 3,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการที่จะมีโรงไฟฟ้าจ่ายไฟเข้าระบบ 120 เมกะวัตต์ เนื่องจากในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 จะมีโรงไฟฟ้าจ่ายไฟชีวมวลเข้าระบบ 50 เมกะวัตต์ และในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 จะมีโรงไฟฟ้าขยะจ่ายไฟเข้าระบบอีก 10 เมกะวัตต์ รวมเป็น 60 เมกะวัตต์

บ่งชี้ผ่านการที่บริษัทจะเร่งดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล-โรงไฟฟ้าขยะ รวม 5 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์1 (TPCH 1) , โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 2 (TPCH 2) , โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 (TPCH 5 ) , โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน เพาเวอร์ (PTG) ทำให้มีโรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้ครบทั้ง 10 โรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ขนาด 10 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวม 119 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563  

พร้อมทั้งยังเตรียมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอีกหลายแห่ง และศึกษารูปแบบโรงไฟฟ้าเพื่อชุมชนของรัฐบาล โดยมีแผนจะประกาศนโยบายออกมาในปีนี้ ดังนั้น น่าจะสนับสนุนผลงานของบริษัทเติบโตได้โดดเด่นอย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน กับบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ในโครงการที่ 2 ขนาดกำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยจะจ่ายไฟเข้าระบบในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563

ทั้งนี้หากการเจรจาเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2563 จะทำให้บริษัทรับรู้รายได้จากการเข้าลงทุนทันทีสำหรับ แนวโน้มผลประกอบการปี 2562 'รายได้และกำไรสุทธิ' ยังมีทิศทางที่ดี เนื่องจากบริษัทสามารถรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 6 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 60 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE),โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG ) โรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) และโรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) ช่วยสนับสนุนให้รายได้และกำไรเติบโตเพิ่มขึ้น

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 97.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 91.93 ล้านบาท ส่งผลงวด 9 เดือน มีกำไรสุทธิ 277.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 263.58 ล้านบาท

โดยในไตรมาส 3 ปี 2562 บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้า 426.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจานวน 13.61 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดสามเดือนในไตรมาส 2/2562 จานวน 412.40 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาสนี้ไม่มีโครงการที่หยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักร

นอกจากโรงไฟฟ้า MGP* ที่เป็นกิจการร่วมค้า และบางโครงการเดินเครื่องได้เต็มกำลังกว่าไตรมาสที่แล้ว ส่วนต้นทุนจากการขายไฟฟ้า มีจำนวน 220.00 ล้านบาท ลดลงจำนวน 4.83 ล้านบาท

'ผลประกอบการในปีนี้ คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และเนื่องจากบริษัทมีการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 6 โรงไฟฟ้า สามารถรับรู้รายได้เต็มปี และมั่นใจว่าผลประกอบการทั้งปีจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน'

ท้ายสุด 'กนกทิพย์' บอกไว้ว่า จากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมีการเติบโตอย่างมั่นคง มีผลงานที่โดดเด่นด้านการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทน และเป้าหมายของบริษัทยังมุ่งในการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลและขยะอย่างต่อเนื่องในอนาคต ! 

โบรกฯ เชื่อธุรกิจเติบโตต่อ ! 

บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ ระบุว่า ยังคงแนะนำ 'ซื้อหุ้น TPCH' เพราะว่าคงเป็นหุ้นที่มีมูลค่าไม่แพง และจะมีการเติบโตโดดเด่นมากในปี 2022  สาเหตุที่ชอบหุ้น TPCH เพราะด้วยโมเดลการทำธุรกิจของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ได้รับสัญญาการขายไฟใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงทำให้บริษัทมีแต้มต่อจากการได้รับสัญญา Adder/FIT ที่สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ และด้วยวิธีการบริหารงานของบริษัทที่มีการดำเนินกลยุทธ์ที่ดี 

นอกจากนี้ในปี 2022 บริษัทยังมีโครงการโรงไฟฟ้าที่เตรียม COD อีก 4 โรง ได้แก่ PTG, TPCH1, TPCH2, TPCH5 กำลังการ ผลิตติดตั้งรวม 45.7 เมกะวัตต์ ซึ่งเราประเมินว่ารายได้และกำไรของ TPCH ในปี 2022 จะเติบโต 'โดดเด่น' อยู่ที่ 63% และ 56% ตามลำดับ 

ดังนั้น จึงยังคงคำแนะนำ 'ซื้อ' ด้วยสมมุติฐาน อ้างอิงราคาเหมาะสมที่ 16 บาทต่อหุ้น ใช้วิธีการ DCF WACC 7% , Risk-free rate 3.00% , Market risk premium 8% beta 1.30 โดยได้รวมมูลค่าปัจจุบันของเงินสดที่จะได้รับจาก Siam Power เข้ามาตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ด้านความเสี่ยง มาจากแผนการ COD ไม่เป็นไปตามกำหนดและมีการหยุดซ่อมบำรุงนอกเหนือจากแผน

บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า ทิศทางการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563  ยังคงเป็นไปตามเดิมโดยแผนการ CODจะเริ่มเกิดขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2562 ถึง ไตรมาส  1 ปี 2563 ทำให้กำลังการผลิตจะเพิ่ม 89% จากปีก่อน ขณะที่ภาพระยะสั้นไม่น่ากังวล เนื่องจากจะมีเพียงโรงไฟฟ้าช้างแรกที่จะมีหยุดซ่อมบำรุงในไตรมาส 4 ปี 2562 เท่านั้น

ส่วนแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกฉบับใหม่ที่ ยังคงสนับสนุนโอกาสของ TPCH ที่โรงไฟฟ้าชีวมวล,ขยะและ ชีวภาพ อีกด้วย ทั้งนี้ แนะทยอยสะสม ซื้อ 16.60 บาทต่อหุ้น อิง SOTP ก่อนที่ในปี 2563 ค่า P/E20F จะลดลงอย่างรวดเร็วสู่เพียง 5.4 เท่า