'ณิชาภัทร-มนธิดา' ขึ้นแท่นสตาร์ทอัพ 'พีเอ็มอวอร์ด' ปี 62

'ณิชาภัทร-มนธิดา' ขึ้นแท่นสตาร์ทอัพ 'พีเอ็มอวอร์ด' ปี 62

“ณิชาภัทร อาร์ค” ควงคู่ “มนธิดา แมคคูล” ติดชาร์ตบุคคลต้นแบบในแวดวงสตาร์ทอัพปี 2562 จากการคว้ารางวัล PM Award National Startup ประเภท Evangelist of the year สำหรับผู้ที่มีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจ มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ

"PM Award National Startup" โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มอบให้แก่สตาร์ทอัพ บริษัท และบุคคลในสาขาธุรกิจเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง สร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ตลอดจนมีส่วนส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ตลอดจนมีธรรมมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจที่ดี

หลักเกณฑ์การพิจารณาคือ 1.จะต้องสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย 2.มีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนาประชาคมสตาร์ทอัพของไทย 3.ผลิตภัณฑ์ บริการ รูปแบบธุรกิจมีความเป็นนวัตกรรม 4.ความสามารถของผู้ก่อตั้งและทีมงาน (Founder and Team) และ 5.ศักยภาพในการเติบโต (Potential Growth)

ดึงอีเว้นท์ระดับโลกเข้าไทย

ณิชาภัทร อาร์ค ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของ Openspace Ventures และ Seedstars World ทั้งยังเป็นนักลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพหรือแองเจิล อินเวสเทอร์ และมีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของกิจการสตาร์ทอัพมากมาย รวมทั้งได้รับเชิญเป็นวิทยากรในงานสัมมนาทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและสตาร์ทอัพหลากหลายเวที ไม่ว่าจะเป็น โครงการ “TAT Startup ผู้ประกอบการยุคใหม่” เพื่อดึงดูดสตาร์ทอัพมาสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งงานเสวนา “Women in Tech: What's the real problem?” ร่วมเปิดมุมมองและแนวคิดใหม่ สำหรับผู้หญิงที่สนใจด้านไอทีและดิจิทัล ทั้งยังเป็นวิทยากร ที่ปรึกษาและเป็นคณะกรรมการตัดสินในกิจกรรมต่างๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชนมาเป็นเวลาหลายปี

ที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วมผลักดันให้ Seedstars World ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนําในด้านการจัดการแข่งขันสตาร์ทอัพระดับโลก ให้มาจัดงานของภูมิภาคเอเชียที่ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพจาก 76 ประเทศทั่วโลกไปแข่งขันกันที่สวิตเซอร์แลนด์ จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้วงการสตาร์ทอัพของไทยเข้มแข็ง และล่าสุดถือเป็นหนึ่งในบุคคลต้นแบบที่มีศักยภาพในการสนับสนุนระบบนิเวศของสตาร์ทอัพโดยได้รับรางวัล Evangelist of the year

ประสบการณ์การทํางานกว่า 20 ปีด้านการธนาคารและความสัมพันธ์กับลูกค้าทั้งจาก Standard Chartered Bank, ABN Amro และธนาคารกรุงเทพ อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่ง Managing Director และหัวหน้าฝ่ายตลาดการเงินของ Standard Chartered Bank Thailand และฝ่ายขายสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับผิดชอบในการผลักดันกลยุทธ์ของธนาคารและการดำเนินการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินและการค้ารวมถึงแผนกขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและการลงทุนเชิงโครงสร้าง

ซอฟต์สกิลคือพลังจากผู้หญิง

ณิชาภัทร ปัจจุบันทํางานให้ กับ Openspace Ventures ซึ่งเป็นกองทุนในประเทศสิงคโปร์ ที่ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเงินลงทุนมูลค่ากว่า 7 พันล้านบาท มองว่า การระดมทุนได้ไม่ใช่ทั้งหมดของสตาร์ทอัพ และหลังการระดมทุนยังจะมีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามมา เช่น การมีนักลงทุนเข้ามาร่วมงานด้วย รวมถึงการมีกฎเกณฑ์ต่างๆซึ่งอาจจะสร้างความไม่สะดวกสบายให้ทีมเหมือนในอดีตนั่นเอง อีกทั้งการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ การเลือกพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงนักลงทุนที่มีเครือข่ายที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะช่วยให้คุณมีข้อมูลในเชิงลึกเพื่อนำมาใช้ตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจในประเทศนั้นๆ ได้

ในฐานะผู้หญิงในแวดวงสตาร์ทอัพเธอ มองว่า ผู้หญิงยังไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา ต่างจากผู้ชายที่ทำได้ดีกว่า หลายคนเขินอายและไม่มั่นใจในไอเดียของตนเองมักจะถ่อมตัวเกินไป ไม่กล้านำเสนอผลงานที่ทำได้ดีหรือไม่กล้ายอมรับว่ามาจากความสามารถของตน อยากให้มองว่าวงการ สตาร์ทอัพเป็นโอกาสและเป็นหนึ่งในการทำงานที่สนุกและสร้างรายได้

วงการนี้ยังต้องการซอฟต์สกิลจากผู้หญิงอยู่มาก ขอเพียงมีความกล้าแสดงออก เรื่องเทคโนโลยีสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ ไม่ต้องกังวล แม้จะมีประสบการณ์การทำงานที่ไม่ตรงสาย”

157742692339

บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ทางความคิด

ทางด้าน มนธิดา แมคคูล เป็นบุคคลทรงคุณวุฒิในยุคบุกเบิกด้านนวัตกรรมและแพลตฟอร์มดิจิทัลรูปแบบ B2B ของกลุ่มนักธุรกิจที่ขับเคลื่อนเครือข่ายระดับภูมิภาคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในฐานะ Investment Partner เมนเทอร์ และการ Coaching สตาร์ทอัพ เธอให้ความสนใจในการผลักดันและให้คําปรึกษาแก่ผู้ประกอบการอิสระรุ่นใหม่ให้ประสบผลสําเร็จในธุรกิจได้อย่างลุล่วง

ปัจจุบันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบริษัทชั้นนําถึง 14 บริษัทในภูมิภาคอาเซียน และดํารงตําแหน่งเป็นที่ปรึกษาแก่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) เคยเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนในกองทุนประเดิม Cocoon Capital ที่เจาะจงไปที่ขั้นตอนแรกเริ่มบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ทางความคิด เป็นโครงการที่พัฒนาจากสิงคโปร์

นอกจากนี้ยังดํารงตําแหน่งประธานบริหารฝ่ายเครือข่ายผู้ประกอบการสตรี และผู้ประกอบการหน้าใหม่แห่งกงสุล ณ ประเทศสิงคโปร์ องค์กรอิสระที่มีฐานในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีหัวใจสําคัญในการร่วมผลักดันและพัฒนาในการขับเคลื่อนเข้าสู่ตลาดระดับสากลอย่างยั่งยืน

แรกเริ่มมนธิดาได้พัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างเครือข่ายโครงการ JDFI และ Muna-D จัดสร้างแหล่งเงินทุนจํานวนหนึ่งเพื่อเข้าสู่เครือข่ายและเปลี่ยนขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย และต่อมาได้เสริมสร้างรากฐานอันมั่นคงของเครือข่ายให้แก่ผู้ประกอบอิสระ นักลงทุนและองค์กรทางราชการ โดยเฉพาะตลาดสําคัญระดับประเทศชั้นนําอย่างสิงคโปร์และไทย

157742694379

เส้นทางสำเร็จอีกยาวไกล

มนธิดาได้สะท้อนมุมมองถึงบทบาทของผู้หญิงและการสร้างโอกาสให้กับผู้หญิงไทยในการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคว่า ในสหรัฐมีการทำงานรายงานว่า จำนวนสตาร์ทอัพในสหรัฐที่มีผู้หญิงเป็นผู้ก่อตั้งนั้นสามารถระดมทุนจาก VC ได้เพียง 2% เท่านั้น จำนวนสตาร์ทอัพที่มีผู้ก่อตั้งเป็นผู้หญิงนั้นมีจำนวนน้อยกว่าสตาร์ทอัพที่มีผู้ก่อตั้งเป็นผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ และสัดส่วนของบริษัทที่มีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งสำคัญจำนวนน้อยกว่า 10% เนื่องจาก VC จำนวนมากไม่มีแม้กระทั่งนักลงทุนที่เป็นผู้หญิงหรือมีพันธมิตรในทีมเป็นผู้หญิง

ดังนั้น ผู้หญิงยังมีหาทางในการก้าวเดินในเส้นทางนี้อีกยาวไกล จึงต้องให้การสนับสนุนเชิงบวกกับผู้หญิงเป็นอย่างมาก และจะต้องถูกเปลี่ยนชุดความคิด ริเริ่มทำเชิงบวก เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจต้องรู้ว่าคุณควรทำสิ่งที่อยู่นอกคอมฟอร์ดโซน และต้องตระหนักว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นเสมอตลอดเส้นทางแต่มันคือส่วนที่สำคัญในการเติบโตและเรียนรู้

“ความเป็นผู้ประกอบการผู้หญิงเป็นการต่อสู้ดิ้นรน ที่ต้องใช้ความพยายามสูงเป็นเวลานาน ดังนั้น ต้องตระหนักว่าเส้นทางนี้มีหนทางอีกยาวไกลและเตรียมพร้อมที่จะเล่นกับเกมนี้ รวมถึงโอกาสที่ท้าทายรออยู่ในอนาคตข้างหน้า อีกทั้งต้องพึงตระหนักว่า เรามีชุมชนที่คอยให้การสนับสนุนอยู่อย่างมากมาย และผลักดันตัวเองให้อยู่ในกลุ่มคนที่มีความคิดเชิงบวก ซึ่งพวกเขาจะช่วยผลักดันไปข้างหน้าพร้อมความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลก