ลุยผลิต“ครูสมรรถนะสูง”พัฒนาผู้เรียน

ลุยผลิต“ครูสมรรถนะสูง”พัฒนาผู้เรียน

ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนผ่านไปอย่างไร หากพูดถึงคุณภาพของระบบการศึกษา คุณภาพของเด็ก ปฎิเสธไม่ได้ว่า “ครู”ยังคงตกเป็นเหยื่อ ถูกมองว่าครูไม่มีคุณภาพ เด็กจึงไม่มีคุณภาพ เพราะด้วยบทบาทหน้าที่ของครูในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เด็ก

ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) สถาบันการผลิตครู เดินหน้ายกเครื่องระบบผลิตครูคุณภาพ โดยตั้งเป้าหมายหลักเพื่อต้องการครูคุณภาพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู และรับประกันการมีงานทำ กลับไปทำงานในท้องถิ่นบ้านเกิด หรือในพื้นที่ห่างไกล พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่/มืออาชีพ โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น และโครงการเพชรในตม เป็นต้น

ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน และครูอาชีวศึกษา รวม 113 สถาบัน และในปีการศึกษา 2562 มีบัณฑิตครูที่สำเร็จการศึกษา 55,783 คน แบ่งเป็น หลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต(ค.บ.) 5 ปี 47,173 คน และหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู 8,610 คน นอกจากนั้นมีจำนวนบัณฑิตที่คุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้รวม 1,270,383 คน

157736830240

ดิเรก พรสีมา ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) กล่าวว่าในปี 2562 มีหน่วยงานที่ใช้ครู หรือที่เป็นครูประจำการ ประมาณ 660,609 คน และมีครูเกษียณอายุราชการ 28,246 คน ซึ่งหากพิจารณาในแง่ปริมาณนั้น ต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดครู เพราะถ้าคิดสัดส่วนครูต่อนักเรียนของไทยจะอยู่ที่ 1:18 คน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น 1:23 ประเทศสิงค์โปร์ 1:25 เกาหลีใต้ 1:28 ดังนั้น สิ่งที่ขาดคือ คุณภาพของครู และคุณภาพการเรียนการสอน

“การผลิตครูไม่ใช่ให้ได้ปริมาณตรงตามที่ความต้องการ แต่ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพ สถาบันการผลิตครูรุ่นใหม่ จึงต้องมุ่งสร้างความเป็นเลิศให้แก่ครู ครูต้องมีสมรรถนะสูงในการพัฒนาผู้เรียน สามารถสร้างผู้เรียนให้มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง เป็นนวัตกรและมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพราะไม่ว่าอย่างไรการศึกษาไทยถ้าครูไม่เก่ง ก็จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพเด็กไม่ได้ และเปลี่ยนประเทศไม่ได้ ต้องปรับปรุงการผลิตครูให้มีคุณภาพสูงให้ได้โดยเร็วโดยความร่วมมือของสถาบันผลิตครูทั้งหมด”ดิเรก กล่าว

ศธ.ต้องการครูรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถตรงกับวิชาที่สอน ก่อนเข้าสู่ระบบ ศธ.จะเทรนนิ่งครู เพื่อให้ได้ครูที่ตรงกับความต้องการที่จะมาผลิตผู้เรียน ขณะที่ อว.ได้ให้โจทย์กับมหาวิทยาลัยเตรียมครูในศตวรรษที่ 21 ต้องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ เพราะครูเป็นกลไกสำคัญในการสร้างคน และ จำนวนการผลิตและความต้องการ การแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องมองเชิงระบบ ซึ่งการผลิตครูในระบบปิดก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา

157736830516

เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎแห่งประเทศไทย (มรภ.ทปอ.) กล่าวว่า ทปอ.มรภ.ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์การผลิตครูที่ให้เป็นไปตามความต้องการของประเทศ และเน้นสมรรถนะครูในศตวรรษที่ 21 โดยยึดการผลิตครูคุณภาพสูงอิงสมรรถนะ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาครูมีทักษะศตวรรษที่ 21 ภายใต้หลัก 3 ประเด็น คือ 1.การผลิตครูตามราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในการผลิตครูที่มีเจตคติที่ดีและถูกต้อง มีรากฐานทางครอบครัวพื้นฐาน มีอาชีพที่มั่นคง และเป็นพลเมืองที่ดี

2.ผลิตครูตามมาตรฐานวิชาชีพครูที่ครุสภากำหนด เป็นครูที่มีทั้งจรรยาบรรณ จิตวิญญาณความเป็นครู เก่งด้านวิชาการ ด้านการสอน และสามารถทำงานกับชุมชนได้ และ3.มีคุณลักษณะ มีความรู้และทักษะศตวรรษ21 อาทิ ทักษะด้านภาษาอังกฤษ STAM ศึกษา Coding และสามารถใช้เทคโนโลยี ดิจิตอลในทางปฏิบัติได้

“ครูยุคใหม่ต้องเท่าทันและใช้เทคโนโลยีในการผลิตสื่อการเรียนการสอนได้ ต้องเข้าใจวิทยาการคำนวณ จัดกิจกรรมออกแบบห้องเรียนให้เหมาะสมกับบริบทของเด็ก ให้เด็กได้รู้จักการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล เพราะอนาคตเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอนมากขึ้นเรื่อยๆ”เรืองเดช กล่าว

157736830610

หลักสูตรต้องปรับจัดการเรียนการสอนให้ครูมีทักษะศตวรรษที่21 ก่อน เมื่อครูจบออกไปจะได้สอนเด็กได้ และการเรียนการสอนครู ไม่ใช่เพียงจบแล้วครูสามารถประกอบอาชีพครูได้อย่างเดียว เนื่องจากสังคมเปลี่ยนไป เรียนวิชาชีพครูนอกจากมีจิตวิญญาณความเป็นครู สอนเด็กให้คิดเป็น ทำงานเป็นแล้ว ครูต้องมีอาวุธ มีองค์ความรู้อื่นๆ ที่จะนำไปสร้างอาชีพอื่นให้แก่ตัวเองได้ด้วย

เรืองเดช กล่าวทิ้งท้ายว่าการผลิตครูที่ผ่านมาเป็นต่างคนต่างผลิต จนทำให้จำนวนบัณฑิตที่ออกมาเกิน แต่หลังจากนี้สถาบันฝ่ายผลิตที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ใช่แค่ มรภ.ต้องมาคุยกันให้ชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยใดจะผลิตสาขาไหน จำนวนเท่าไร รวมถึงต้องดูการมีงานทำ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถสอบบรรจุเป็นครูได้ ต้องส่งเสริมให้มีความรู้และความสามารถที่จะไปประกอบวิชาชีพอื่นได้ด้วย โดยมีวิชาครูเป็นพื้นฐาน ซึ่งปี 2563 คาดว่าจำนวนการผลิตจะลดลง และมีจะมีความชัดเจนภายใน 2 ปี มีการแก้ปัญหาที่เป็นระบบมากขึ้น

157736830224

อย่างไรก็ตาม ครู 1 คน สามารถไปสั่งสอนลูกศิษย์ได้อีกเป็น 1,000 คน  “การพัฒนาระบบการศึกษา” ส่วนหนึ่งต้องเริ่มจากการ “พัฒนาครูคุณภาพ” ซึ่งคำว่าคุณภาพในที่นี้ไม่ใช่เพียงสอนได้ แต่ต้องสอนให้เด็กเข้าใจ เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก  รู้จักนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ให้เกิดองค์ความรู้ กิจกรรมในห้องเรียน อันนำไปสู่การเรียนรู้ของเด็กตามบริบทของแต่ละคน และสอดคล้องกับทักษะศตวรรษที่ 21 โลกในอนาคต

1577368305100