กสอ.ดันคลัสเตอร์หุ่นยนต์ สร้าง 70 ต้นแบบยกระดับเอสเอ็มอี

กสอ.ดันคลัสเตอร์หุ่นยนต์ สร้าง 70 ต้นแบบยกระดับเอสเอ็มอี

กสอ.ดันโครงการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติ เพิ่มประสิทธิภาพเอสเอ็มอี ตั้งเป้าปี 2563 ผลิตหุ่นยนต์ 70 ต้นแบบ ปรับปรุงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ 30 ต้นแบบ

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กสอ.ในฐานะหน่วยงานส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาอุตสาหกรรมให้มีสมรรถนะและยกระดับขีดความสามารถในการประกอบการอุสาหกรรม ด้วยกลยุทธ์พัฒนาการรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดเอสเอ็มอี ให้เข้มแข็งด้วยกระบวนการพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะตามแนวทางคลัสเตอร์ เพื่อสร้างความร่วมมือบนพื้นฐานของการแข่งขัน

ทั้งนี้ จะผลักดันให้มีการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การต่อยอดอุตสาหกรรมกลุ่มเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

แนวทางดังกล่าวจะเป็นการต่อยอดและสร้าง S-curve ตัวใหม่ซึ่งเป็นกลไกหลัก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต และเป็นเครื่องมือผลักดันให้ประเทศก้าวเข้าสู่ ประเทศไทย 4.0 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล

สร้างพันธมิตรธุรกิจหุ่นยนต์

ดังนั้น ในปี 2563 กสอ.จึงได้เร่งผลักดันโครงการพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้เข้มแข็งเกิดเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดทั้งโซ่อุปทาน และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งพัฒนาต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีการผลิตและดิจิทัล ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

นายณัฐพล กล่าวว่า ในโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายหลัก ได้แก่ การพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 70 ต้นแบบ ใช้งบประมาณ 33.6 ล้านบาท ปรับปรุงประสิทธิภาพต้นแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่พัฒนาในปี 2562 จำนวน 30 ต้นแบบ ใช้งบประมาณ 9.3 ล้านบาท 

พัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้พัฒนาและออกแบบระบบอัตโนมัติ (เอสไอ) 600 คน ใช้งบประมาณ 44.4 ล้านบาท การบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่เป็นเอสไอด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 12 กิจการ ใช้งบประมาณ 2.8 ล้านบาท 

การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมได้รับการพัฒนาต่อยอดโดยการนำวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยี หรือความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้ดำเนินธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพ และนวัตกรรม อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 2 กลุ่ม รวม 40 กิจการ ใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท

157736522958

หวังลดการนำเข้าเทคโนโลยี

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้จากโครงการนี้ จะช่วยให้เกิดการลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้น 400 ล้านบาท ลดการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 200 ล้านบาท และลดการสูญเสียโดยรวมไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท โดยเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ จำนวนไม่ต่ำกว่า 80% จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1-1.5 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และได้แนวทางร่วมกันในการเพิ่มศักยภาพ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน 

รวมทั้งยังเกิดความเข้มแข็งในการรวมตัวเป็นคลัสเตอร์ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกันนำองค์ความรู้จากภายในเชื่อมโยงองค์ความรู้ภายนอกเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนานวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่สามารถตอบสนองความต้องการในยุคอุตสาหกรรม 4.0

“ในขณะนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอย่างมาก โดยฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่มีเงินทุนสูงสามารถปรับกระบวนการผลิตไปสุ่การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้แล้วเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และมีประสิทธิภาพสุงขึ้นมาก" 

หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึง

สำหรับขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังเข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้ยาก เพราะมีราคาสูง จึงยิ่งทำให้เสียเปรียบผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งในเรื่องของต้นทุนแรงงาน และประสิทธิภาพการผลิต ดังนั้นมาตรการต่างๆของ กสอ. ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพลตฟอร์มต่างๆเข้ามาใช้ จะช่วยให้เอสเอ็มอีมีศักยภาพเพิ่มขึ้นได้มาก และแข่งขันในตลาดโลกได้

นายณัฐพล กล่าวว่า แผนการส่งเสริมในการนำเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ เข้ามาช่วยยะระดับประสิทธิภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สอดคล้องกับรัฐบาลมีแผนการพัฒนาประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2560-2579) โดยมุ่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ประเทศไทย 4.0 เน้นพัฒนาเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมและสร้างสรรค์ในทุกระดับ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

ทั้งนี้ ยกลไกการขับเคลื่อน ที่สำคัญมุ่งเน้นการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม บูรณาการการทำงานร่วมกับภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน พร้อมเชื่อมโยงเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านมาตรการส่งเสริม สนับสนุนเสริมแกร่งครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการเงิน การตลาด การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ เพื่อการยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายตลอดโซ่อุปทาน ซึ่งภาครัฐเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีได้

ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ก็มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพการผลิต และบริการเดิมและการต่อยอดไปสู่ฐานการผลิตและบริการใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีที่เข้มข้นและนวัตกรรม เน้นการวางรากฐานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสำหรับอนาคต ทั้งในด้านการเตรียมคนและโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีกลไกและเครือข่ายความร่วมมือของธุรกิจในลักษณะของคลัสเตอร์ เป็นพื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อน