กูรูแนะกลยุทธ์ลงทุนปี 63 บริหารเงินสดเพื่อโอกาสการเข้าซื้อ

กูรูแนะกลยุทธ์ลงทุนปี 63 บริหารเงินสดเพื่อโอกาสการเข้าซื้อ

ปัจจุบันประเภทสินทรัพย์ลงทุน (Asset Class) สามารถแบ่งได้หลากหลายรูปแบบ แต่หากมองไปยังสินทรัพย์หลักๆ ก็คงหนีไม่พ้น ตราสารทุน ตราสารหนี้ เงินสด และการลงทุนทางเลือก อาทิ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์

ในปี 2562 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่มีความผันผวนค่อนข้างสูงสำหรับตราสารทุน ดัชนี SET ปลายปี 2561 อยู่ที่ 1,563 จุด ก่อนจะทะยานไปถึง 1,748 จุด ในช่วงครึ่งปีแรก แต่สุดท้ายดัชนีกลับร่วงลงมาอยู่ใกล้เคียงระดับเดิม สวนทางกับดัชนีตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อย่าง S&P500 ของสหรัฐ ซึ่งปรับตัวขึ้นถึง 28% ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่กว่า 3,200 จุด

"วศิน วณิชย์วรนันต์" ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย มองว่า จากการคาดการณ์ของหลายสำนักวิจัย แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 คงเป็นภาพของการทรงตัว แม้ปัจจัยต่างประเทศหลายๆ ปัจจัยจะเริ่มคลี่คลาย แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะปะทุกลับมาได้อีก

“ด้วยสภาพคล่องที่ค่อนข้างสูง และทิศทางดอกเบี้ยต่ำ ทำให้โอกาสของการลงทุนยังเปิดกว้าง แต่ด้วยความเสี่ยงที่ยังมีอยู่มาก ทำให้การกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์จะเป็นทางเลือกที่ดีมากกว่าแค่การถือเงินสดทั้งหมด”

หากอิงจากสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2563 "ณัฐชาติ เมฆมาสิน" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ แนะนำว่า น้ำหนักการลงทุนในปี 2563 ควรจะเน้นไปที่ต่างประเทศเป็นหลัก สำหรับการลงทุนในหุ้นให้น้ำหนัก 30% แบ่งเป็นต่างประเทศ 20% โดยเน้นกลุ่มประเทศตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier market) ที่เพิ่งเกิดได้ไม่นาน อาทิ เวียดนาม

“ปัจจุบันดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามมีค่า P/E 13 เท่า และคาดเงินปันผล 2% ขณะที่นักวิเคราะห์ประเมินการเติบโตของกำไรปีหน้าถึง 20% โดยรวมแล้วทำให้ตลาดเวียดนามยังซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ เหตุผลที่ให้น้ำหนักหุ้นไทยน้อย เพราะเรื่องของมูลค่าหุ้นที่ตึงตัว และกำไรยังมีโอกาสถูกปรับลงได้อีก”

เช่นเดียวกัน ตราสารหนี้ที่แนะนำสัดส่วน 30% แต่ให้น้ำหนักต่างประเทศ 20% เพราะผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยอยู่ที่ 1.9% เทียบกับ 1.5% สำหรับพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี ขณะที่การลงทุนทางเลือกอย่างกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทองคำ ให้น้ำหนักอย่างละ 10%

“กองทุนรวมอสังหาฯ เริ่มน่าสนใจหลังราคาปรับตัวลงมาแรง หนุนให้เงินปันผลสูงขึ้น ขณะที่ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ยังต่ำ และเงินเฟ้อไม่น่าจะปรับขึ้นได้แรง ส่วนทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยยังน่าจะปรับขึ้นได้ต่อ แต่อาจจะไม่โดดเด่นเท่าปี 2562 ซึ่งได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งของสหรัฐ”

สุดท้าย คือ เงินสด ที่แนะนำให้ถือในสัดส่วน 20% เพราะการจัดพอร์ตในปัจจุบันจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด เมื่อสินทรัพย์ใดเกิดการปรับฐานอย่างรุนแรง เงินสดจะช่วยให้มีโอกาสเข้าซื้อได้

ด้าน "สมชาย กาญจนเพชรรัตน์" กรรมการผู้จัดการอาวุโส บล.เคจีไอ มองว่า โดยภาพรวมการจัดพอร์ตลงทุนในปี 2563 นักลงทุนควรจะปรับเพิ่มน้ำหนักของการลงทุนในตราสารทุน โดยประเมินไว้ที่ประมาณ 30-40% ของพอร์ต แรงหนุนทางอ้อมส่วนหนึ่งก็ยังมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เงินลงทุนยังไม่ได้ไหลออกจากตราสารทุน แต่ครึ่งปีแรกอาจจะถูกกดดันจากกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ยังไม่ดีนัก

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในปี 2563 มองว่ากลุ่มที่น่าจะโดดเด่นจะเป็นกลุ่มที่ราคาปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้ ได้แก่ พลังงาน ธนาคาร ปิโตรเคมี ซึ่งหุ้นหลายๆ ตัว ราคาลดลงมาจนต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีแล้ว ขณะที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ก็น่าจะเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะโดดเด่นมากขึ้น ล้อไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี

ส่วนกลุ่มที่ยังมีความเสี่ยงรุมเร้า ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ บันเทิง และขนส่ง ที่ยังคงถูกกดดันจากกำลังซื้อภายในประเทศ

สำหรับทิศทางทองคำในปี 2563  "เบญจมา มาอินทร์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มองว่าปัจจัยหลักที่ต้องติดตามคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แม้จะคลี่คลายลงได้ใน เฟส 1 แต่เชื่อว่าการลดอัตราภาษีในระยะแรกยังไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้เหมือนเดิม และหากยังไม่มีข้อยุติอย่างถาวร ก็มีโอกาสที่จะยืดเยื้อต่อไปได้อีก และเป็นแรงหนุนต่อราคาทองคำ

ถัดมา คือ การผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่แม้จะประกาศว่าไม่ลดดอกเบี้ยลงอีกแล้ว แต่ก็จะยังไม่ขึ้นจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะถึงระดับเป้าหมาย เป็นการส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการถือครองทองคำต่ำไปด้วย

“ช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ทองคำยังมีแรงหนุนเชิงพื้นฐานจากการที่ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกซื้อทองเพิ่มเข้ามาราว 650 ตันต่อปี ขณะที่สัญญาณบวกจากสัญญาฟิวเจอร์สในตลาด COMEX เป็นฝั่งซื้อสุทธิ (Net Long) มาต่อเนื่อง 34 สัปดาห์ติดต่อกัน”

ทั้งนี้ ประเมินกรอบราคาทองคำปี 2563 ที่ 1,390 – 1,615 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขยับขึ้นจากกรอบของปี 2562 ที่ 1,266 – 1,557 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนน้ำหนักการลงทุนในทองคำ หากเป็นพอร์ตลงทุนระยะยาวควรแนะนำถือครอง 15% เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 2562 ที่ 7.5 – 10% แต่ไม่ควรเกิน 20% เพราะจะกระทบต่อผลตอบแทนในระยะยาว