ยกฟ้อง 'เนติวิทย์-ผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ARMY57' 43 คน

ยกฟ้อง 'เนติวิทย์-ผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ARMY57' 43 คน

ศาลยกฟ้อง คนอยากเลือกตั้ง “ARMY57” ชุมนุมหน้ากองทัพบก พ้นข้อกล่าวหาฝ่าฝืนชุมนุม ไล่ คสช. หน้ากองทัพบก สั่งปรับ 1 พัน แค่ “ชลธิชา” ผู้จัดชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่ง เจ้าตัวเล็งอุทธรณ์สู้ชุมนุมถูกต้อง

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.62 ที่ห้องพิจารณาคดี 407 ศาลแขวงดุสิต ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 1229/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีแขวง 3 (แขวงดุสิต) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง "นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล" อายุ 23 ปี นักกิจกรรมทางสังคม นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , น.ส.ชลธิชา หรือลูกเกด แจ้งเร็ว อายุ 26 ปี และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ชุด ARMY57 เดินขบวนไปหน้ากองทัพบก เป็นจำเลยที่ 1- 44 ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติลงวันที่ 1 เม.ย.58 ข้อ 12 , พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 6,5(2),(4),16(1),(8),18,28,30,31 , พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108,114,148 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ,91 ตามฟ้องโจทก์ ระบุพฤติการณ์ว่า

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.61 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยร่วมกับพวกที่แยกสำนวนดำเนินคดีที่ศาลอาญา และพวกที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้องอีกประมาณ 350 คนร่วมกันชุมนุมทางการเมือง มีวัตถุประสงค์ปราศรัยแสดงความคิดเห็นเรียกร้องให้ยุบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนัดรวมตัวกันที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยไม่ได้รับอนุญาตและกีดขวางการจราจร ซึ่งมี น.ส.ชลธิชา จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ดังกล่าว ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ เกิดการขัดขวางต่อประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ 

โดยวันนี้ "นายเนติวิทย์" , จำเลยทั้ง 44 คนและทนายความ เดินทางมาพร้อมฟังคำพิพากษา ซึ่งมีบุคคลใกล้ชิดหลายสิบคนมาให้กำลังใจด้วย ภายหลังฟังคำพิพากษา "น.ส.ภาวิณี ชุมศรี" ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า วันนี้ศาลพิพากษายกฟ้องในส่วนที่เป็นผู้ชุมนุมทั้งหมด โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีพยานมายืนยัน มีเหตุแห่งความสงสัยว่าแต่ละคนมาชุมนุมอยู่จุดไหนอย่างไร มีการเคลื่อนขบวนหรือไม่ มีการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างไร ซึ่งพยานโจทก์ไม่มีใครยืนยัน

ดังนั้น ศาลเลยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย พิพากษายกฟ้องผู้ชุมนุมทั้งหมด แต่ในส่วนของ น.ส.ชลธิชา ในฐานะที่เป็นผู้แจ้งการชุมนุมและเป็นผู้จัดการชุมนุม ศาลเห็นว่าเป็นผู้จัดมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลการชุมนุมให้เรียบร้อย และเลิกการชุมนุมตามกำหนดเวลา จึงพิพากษาลงโทษปรับ น.ส.ชลธิชา ในฐานะเป็นผู้จัดการการชุมนุม เป็นเงินจำนวน 1,000 บาท อย่างไรก็ตามทางผู้จัดได้มีการดูแลผู้ชุมนุมแล้ว แต่เกิดจากปัจจัยที่เจ้าหน้าที่มารบกวนการชุมนุม จึงทำให้เกิดความล่าช้าไปบ้าง

ขณะที่ "น.ส.ชลธิชา" จำเลยที่ 2 กล่าวยืนยันว่าการชุมนุมเราทำขบวนการทางกฎหมายเรียบร้อยและเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย มีการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ซึ่งตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 19 กำหนดหน้าที่ของตำรวจไว้ว่าในกรณีที่มีการเดินบนเส้นทางการจราจรบนถนน ตำรวจมีหน้าที่จัดการจราจร และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ดังนั้น ข้อหาที่เราถูกกล่าวหาว่าไม่ดูแลการจราจร หรือทำให้เกิดผลกระทบกับคนอื่นจึงเป็นหนึ่งในกระบวนการที่เราต่อสู้ได้ อีกทั้งมาตรา 20 ระบุว่า ตำรวจต้องช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องของการชุมนุมทั้งก่อน-ระหว่างชุมนุม-หลังชุมนุม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้อื่น เราในฐานะผู้จัดการชุมนุมเราทำตามกฎหมาย แต่ก็สู้กันต่อว่าในระหว่างการชุมนุม การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจชอบด้วยกฎหมายมากน้อยเพียงใด โดยหลังจากนี้อาจจะต้องขอคุยกับทนายความเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อ