“ไอเค็ม-ความชื้น” ต้นเหตุก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

“ไอเค็ม-ความชื้น” ต้นเหตุก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

ฟอร์ด เปิดเผยข้อมูลการวิจัยพบว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ผลกระทบจากการกัดกร่อนของน้ำเค็มที่เจอกับอากาศร้อนชื้นทำให้เกิดไอเค็ม อย่างรุนแรง

       ฟอร์ดระบุว่าแต่ละปีมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 3 แสนล้านบาท โดยวัสดุหลายๆ อย่างล้วนเป็นหยื่อแม้ว่าจะดูมั่นคงแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก พลาสติก หรือคอนกรีต

       แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่อยู่อาศัยห่างจากพื้นที่ชายทะเล จะหลีกเลี่ยงการกัดกร่อนได้ เพราะยังมีตัวต้นเหตุการกัดกร่อนอีกหลายอย่าง เช่น เมืองอย่างกรุงเทพฯ หรือขึ้นเหนือไปเชียงใหม่ มีต้นเหตุจากความชื้น และมลพิษที่รวมตัวกันก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวกับวัสดุต่างๆ รวมถึงรถยนต์

       ฟอร์ดระบุว่า วิศวกรของฟอร์ดจึงคิดค้นวิธีทดสอบแบบสุดขั้วขึ้นมาเพื่อใช้ในศูนย์ทดสอบ You Yang Proving Grounds (YYPG) ในออสเตรเลีย เรียกว่า การทดสอบความทนทานการกัดกร่อนทั้งคันรถซึ่งใช้เวลา 12 สัปดาห์ติดต่อกัน ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง

       ขั้นตอนแรกของการทดสอบคือ คือ การนำรถเข้าไปผ่านความชื้นในตู้อบชื้น โดยตู้ดังกล่าวสามารถจอดรถได้พร้อมกัน 4 คัน และสามารถสร้างความชื้นได้เทียบเท่ากับห้องซาวน่า

       หลังจากผ่านขั้นตอนการอบชื้นแล้ว วิศวกรจะนำรถไปขับบนพื้นผิวหลากหลายทำให้รถสั่นสะเทือน และให้รถผ่านสสารต่างๆ ทั้งเกลือ ฝุ่น และกรวด โดยอุณหภูมิและความชื้นรอบด้านแปรผันในระดับสูงสุดและต่ำสุดสลับกันตลอดเวลา 

       โดยระยะทางทั้งหมดของรถที่ใช้จากการทดสอบการกัดกร่อน เทียบเท่ากับสภาพแวดล้อมที่รถถูกอากาศและสสารต่างๆ เสมือนกับการใช้งานรถบนชายฝั่งอันดามันเป็นเวลาประมาณ 6 ปี

       นอกจากการทดสอบดังกล่าวแล้ว วิศวกรของฟอร์ด ยังแยกชิ้นส่วนรถยนต์ ตั้งแต่ภายนอก ไปจนถึงช่วงล่างเพื่อดูว่ารถมีภูมิคุ้มกันการกัดกร่อนมากแค่ไหน ขั้นตอนนี้ยังทำให้มั่นใจได้ว่าทุกชิ้นส่วนผ่านการประเมินในทุกด้าน ทั้งรูปลักษณ์ภายนอก ประสิทธิภาพ และการใช้งาน การวิเคราะห์จนทราบได้ว่าช่วงใด และชิ้นส่วนใดของรถยนต์ได้รับผลกระทบบ้าง ทำให้วิศวกรของฟอร์ดสามารถหาทางป้องกันที่ดีขึ้นจากผลกระทบจากสภาพแวดล้อมในระยะยาว

       “เป้าหมายของการทดสอบสุดทรหดที่แสนยาวนานนี้ ก็เพื่อหาจุดอ่อนของรถ ก่อนที่รถจะถึงมือลูกค้า” สตีเฟน แอนดรูว์ส หัวหน้าฝ่ายทดสอบการกัดกร่อน ภูมิภาคเอเชีย แฟซิฟิก ประจำศูนย์ทดสอบ YYPG กล่าว

        แอนดรูว์ส กล่าวว่า ผลที่ได้ก็จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาในอนาคตด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ รวมถึงเรื่องของการอาบสารป้องกันการกัดกร่อน ก่อนที่จะพ่นสี เพื่อเพิ่มการ ป้องกันผลจากการกัดกร่อนมากขึ้นอีกขั้น

       อย่างไรก็ตาม สำหรับเจ้าของรถทุกคน ก็มีส่วนช่วยป้องกันรถตนเอง จากการกัดกร่อนได้ เช่น เมื่อต้องนำรถไปใช้งานในพื้นที่เสี่ยง เช่น ชายทะเล เมื่อกลับมาแล้วควรจะจัดการล้าง ทำความสะอาดให้เรียบร้อย หรือแม้แต่ไม่ได้ใช้งานชายทะเล ก็ต้องพยายามตรวจสอบไม่ให้รถเกิดความชื้น  หรือถ้าเกิดแล้วก็ต้องจัดการแก้ไขไล่ความชื้นออกไป เช่น การตากพรม หรือจอดรถกลางแดดพร้อมเปิดกระจกหรือประตู รื้อดูใต้พรมว่ามีสิ่งแปลกปลอม เช่น เม็ดกรวด ทราย ดิน 

       หลังจากขับรถ เมื่อใกล้ถึงจุดหมาย ก็ควรจะตัดการทำงานของคอมเพรสเซอร์แอร์ แต่ยังคงเปิดเปิดพัดลมเอาไว้ เพื่อให้ไล่ความเย็นที่ค้างอยู่ในระบบออกมา ทำให้อากาศในห้องโดยสารยังคงมีความเย็นอยู่อีกระยะหนึ่ง 

       เพราะหากเราเปิดระบบปรับอากาศไว้ตลอดจนกระทั่งดับเครื่องยนต์ ความเย็นที่ค้างอยู่จะทำให้เกิดหยดน้ำ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการสึกกร่อนของรถได้นั่นเอง