ของขวัญปีใหม่ บรรเทาค่าครองชีพ

ของขวัญปีใหม่ บรรเทาค่าครองชีพ

หนึ่งในข่าวดีของประชาชนคนไทยช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2563 คงหนีไม่พ้นของขวัญจากกระทรวงต่างๆ ที่โปรยมาตรการออกมาช่วย ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ทั้งนี้คงจะต้องมองให้ครอบคลุมถึงเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย

เมื่อวานนี้ (25 ธ.ค.2562) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติให้ปรับลดอัตราจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันทุกชนิด ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิด จะปรับลดลงอัตรา 1 บาทต่อลิตร ระหว่างวันที่ 26 ธ.ค.2562 ถึง 10 ม.ค.2563 ส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ในช่วงบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพฯ 1,383 ล้านบาท นับเป็นการสนองนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานมีมติตรึงราคาค่าไฟฟ้าอีก 4 เดือน ไปแล้ว

ขณะที่กระทรวงอื่นๆ ต่างตอบรับนโยบายจัดของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยตามอำนาจหน้าที่ ยกตัวอย่างกระทรวงคมนาคม ยกเว้นค่าผ่านทางทางหลวงพิเศษ บางช่วงบางเวลา เช่นเดียวกับยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษในทางพิเศษบูรพาวิถีและทางพิเศษกาญจนาภิเษก ให้บริษัทการบินไทยจำหน่ายบัตรโดยสารราคาพิเศษสำหรับเดินทางวันจันทร์-พฤหัสบดี ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่ง สคส.ในประเทศผ่านไปรษณีย์ไทยฟรี โทรศัพท์บ้านทีโอทีทุกเลขหมายยกเว้นค่าโทรไปยังเลขหมายปลายทางของโทรศัพท์ทีโอทีทั่วประเทศ

การออกมาตรการข้างต้น ในช่วงรอยต่อเทศกาลคริสต์มาสกับปีใหม่นี้ สื่อมวลชนบางสำนักยกให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นซานตู่ มอบของขวัญให้ประชาชน หากย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่ารัฐบาลไทย รวมทั้งรัฐบาลชุดนี้ นิยมการมอบของขวัญในโอกาสต่างๆ ยิ่งรัฐบาลซานตู่ ไม่น้อยหน้ารัฐบาลเลือกตั้งชุดก่อนๆ ไม่ต้องรอเทศกาลสิ้นปี ทั้งมาตรการอุดหนุนคนจน แจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน มาตรการชิมช้อปใช้ มาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตชาวนา โครงการคืนเงินผู้กู้ธนาคารของรัฐสำหรับผู้กู้ที่มีประวัติชำระเงินดี ช่วยให้คนเข้าถึงการมีบ้านโดยลดหย่อนภาษีโครงการ รวมทั้งการสนับสนุนเงินทุนธุรกิจเอสเอ็มอี

เราเห็นว่ามาตรการรัฐบาลที่ออกมาก่อนหน้ารวมทั้งในช่วงเทศกาล มีข้อดีก็คืองัดออกมาในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผลกระทบจากสงครามการค้าที่กินเวลานานกว่า 2 ปี แม้มาตรการส่งเสริมการส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง เป็นสิ่งจำเป็น ทว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในเพื่อฟื้นกำลังซื้อการอุปโภคบริโภคในประเทศก็เป็นสิ่งควรทำ ยิ่งเป็นมาตรการที่งบประมาณลงไปสนับสนุนเกษตรกรและกลุ่มคนฐานราก ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เขาเหล่านั้นเป็นคนไทยที่ไม่ได้รับโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งจากโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศที่เหลื่อมล้ำ เราจึงเห็นว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ถึงเวลาแล้ว