ผังเมืองปลดล็อก 10 นิคมฯ กนอ.จ่อตั้งเพิ่มพื้นที่ 1.8 หมื่นไร่

ผังเมืองปลดล็อก 10 นิคมฯ  กนอ.จ่อตั้งเพิ่มพื้นที่ 1.8 หมื่นไร่

กนอ. เผยผังเมืองอีอีซี ปล็ดล็อกตั้งนิคมฯใหม่ 10 แห่ง พื้นที่ 1.8 หมื่นไร่ ระบุปีงบประมาณ 2562 ยอดขายที่ดินนิคมฯ กนอ.ในอีอีซีแตะ 1.9 พันไร่ เพิ่มขึ้น 98%

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้มีผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมได้แสดงความสนใจที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นจำนวน 18 โครงการ มีพื้นที่ 3.5 หมื่นไร่ 

ทั้งนี้ ยังติดปัญหาผังเมืองไม่สามารถจะตั้งนิคมฯได้ แต่หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้ประกาศแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 ได้มีการปรับพื้นที่สำหรับภาคอุตสาหกรรม หรือพื้นที่สีม่วงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม 18 ราย ได้ปรับการปรับผังเมืองเป็นสีม่วง จำนวน 10 โครงการ มีพื้นที่ประมาณ 1.82 หมื่นไร่ และอีก 8 โครงการ มีพื้นที่ 1.72 หมื่นไร่ ไม่ได้รับการปรับผังสี

สำหรับโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับการปรับผังเมืองเป็นสีม่วง ก็จะเข้าสู่กระบวนการเพื่อขออนุญาตตั้งนิคมอุตสาหกรรม โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นเอกสารให้ กนอ. พิจารณาคุณสมบัติการตั้งนิคมอุตสาหกรรม 

จากนั้นจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.เพื่อให้ความเห็นชอบในหลักการเพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการจะต้องกลับไปจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง จากนั้นจะส่งเข้าคณะกรรมการ กนอ.พิจารณาแล้งจึงจะประกาศเป็นนิคมอุตสาหกรรมได้ โดยรวมแล้วจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 ปี

ขาย-เช่าพื้นที่นิคมฯสูงขึ้น59%

ส่วนยอดขายหรือเช่าที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.ในปีงบประมาณ 2562 มีจำนวน 93 ราย ลดลงจากปีก่อน 13% มีพื้นที่ 2,183 ไร่ สูงกว่าปีก่อน 59% แบ่งเป็นพื้นที่อีอีซี 1,963 ไร่ เพิ่มขึ้น 98% นอกพื้นที่อีอีซี 219 ไร่ ลดลง 43% 

อุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมยาง และพลาสติก อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ประเทศที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง มาเลเซียและสหรัฐ

รวมทั้งในปีงบประมาณ 2562 ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งหมด 30,527 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันกับปีงบประมาณก่อนหน้าลดลง 23% ก่อให้เกิดการจ้างงาน 5,512 คน เพิ่มขึ้น 60% และมียอดขายหรือเช่าที่ดินเพิ่มขึ้น 807 ไร่ จาก 1,376 ไร่ เป็น 2,183 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 59%

ลงทุนจริงหลังซื้อที่ดิน1-3ปี

“เม็ดเงินลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ที่ลดลง 23% สวนทางกับยอดขายพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นถึง 59% เนื่องมาจากการเก็บตัวเลขที่จะบันทึกตัวเลขเงินลงทุนก็ต่อเมื่อสร้างโรงงานเสร็จ และตัวเลขการลงทุนก็มาจากการยื่นขอซื้อที่ดินเมื่อปี 2558-2560 ที่ทยอยลงทุนและเปิดโรงงานในปีนี้ ซึ่งตัวเลขการซื้อที่ดินที่เพิ่มขึ้นในปี 2561-2562 จะสะท้อนตัวเลขการลงทุนหลังจากนี้ 1-3 ปี”นางสาวสมจิณณ์ กล่าว

สำหรับยอดปิดกิจการในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.ในปีงบประมาณ 2562 มีจำนวน 41 โรงงาน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีจำนวน 33 แห่ง และปี 2560 จำนวน 35 โรง โดยโรงงานที่ปิดตัวส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ที่เข้ามาเช่าโรงงาน เพื่อผลิตสินค้า หรือนำเข้า เพื่อทดสอบตลาดภายในประเทศ ซึ่งจะมีสัญญาเช่า 3 ปี ซึ่งเมื่อหมดสัญญาเช่าหากสินค้าเจาะตลาดไม่ได้ก็ปิดกิจการ โดยเป็นเรื่องปกติ ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังไม่มีการปิดตัว

157728007414