โอสถสภา-คาราบาว เปิดศึกชิงเค้ก 'ซีแอลเอ็มวี'

 โอสถสภา-คาราบาว เปิดศึกชิงเค้ก 'ซีแอลเอ็มวี'

ปัจจุบัน บมจ.โอสถสภา (OSP) และ บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) คือ สองผู้เล่นเบอร์หนึ่งและสองของไทยในตลาด "เครื่องดื่มชูกำลัง" ด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 53.5% และ 23% ตามลำดับ

แต่ดูเหมือนว่าการแข่งขันของทั้งสองบริษัทในขณะนี้จะไม่ได้โฟกัสอยู่แค่ในประเทศไทยอีกแล้ว

เดิมที CBG เป็นบริษัทที่เริ่มรุกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจังมากกว่า หลังจากที่เร่งสร้างยอดขายในประเทศ ในฐานะน้องใหม่ที่เริ่มวางตลาดในปี 2545 จนสามารถขึ้นมาเป็นเบอร์สองได้ในที่สุด หลังจากนั้นบริษัทเริ่มมุ่งเน้นการขยายธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น จนสัดส่วนยอดขายจากธุรกิจต่างประเทศแซงหน้ารายได้ในประเทศไปแล้ว

ณ 9 เดือน 2562 สัดส่วนยอดขายต่างประเทศของ CBG ขยับขึ้นมาเป็น 52% ต่อ 48% โดยประมาณ 80% ของรายได้จากต่างประเทศ มาจากในกลุ่มประเทศ CLMV รองลงมาคือจีนและประเทศเอเชียอื่นๆ ประมาณ 15% และสหราชอาณาจักร ประมาณ 0.8%

ขณะที่ฝั่ง OSP ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ 16% แต่ล่าสุด ผู้บริหารของ OSP เริ่มส่งสัญญาณว่าบริษัทจะเดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาตลาดต่างประเทศของ OSP อยู่ในกลุ่มประเทศ CLM คือ กัมพูชา ลาว และพม่า โดยโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในพม่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปีนี้ และจะเริ่มดำเนินการผลิตในไตรมาส 1 ปี 2563

ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนลงทุนในโรงงานผลิตขวดแก้วในพม่าเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มอัตรากำไรให้ดีขึ้น โดยคาดจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2564 วางงบลงทุน 1.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเจาะตลาดเวียดนามเพิ่มเติม โดยตั้งงบลงทุน 1.5 พันล้านบาท ตั้งบริษัทร่วมทุน และถือหุ้น 60% สำหรับรุกตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง

..แน่นอนว่า CBG ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของตลาด CLMV อยู่ก่อนแล้ว ก็พร้อมที่จะแข่งขันเพื่อรักษาฐานของตัวเอง 

โดยปี 2563 บริษัทตั้งเป้ารายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น 20% จากตลาด CLMV โดยเฉพาะประเทศพม่า เวียตนาม ที่จะทำการตลาดเพิ่ม 

สำหรับกัมพูชาคาดยอดขายเพิ่มขึ้น 5% จากฐานสูง ขณะเดียวกันยอดขายจีนได้กำหนดเป้ายอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านกระป๋องจากปี 2562 ที่คาดว่าจะทำได้รวม 90 ล้านกระป๋อง และอังกฤษคาดยอดขายยังเล็กน้อย แต่ขาดทุนลดลงจากการลดค่าใช้จ่าย

"หทัยชนก มูลวงศ์" นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป ระบุว่า ที่ผ่านมา CBG ยังเติบโตได้ดีในตลาด CLMV โดยเฉพาะตลาดพม่าที่เติบโตค่อนข้างสูง ขณะที่การขยายในประเทศจีนก็เริ่มดีขึ้น แต่ในอังกฤษยังอยู่ในช่วงเร่งทำการตลาด โดยภาพรวมแล้วสัดส่วนรายได้ของ CBG ในปีหน้ายังมีแนวโน้มมาจากต่างประเทศราว 55% สูงกว่าสัดส่วนรายได้จากในประเทศ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการแข่งขันเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV จะเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ OSP เริ่มส่งสัญญาณที่จะรุกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง

แนวโน้มปีหน้าของทั้ง CBG และ OSP เชื่อว่ากำไรสุทธิจะเติบโตได้ทั้งคู่ สำหรับ CBG คาดเติบโตราว 20% จากปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ 2,512 ล้านบาท เป็นผลจากการใช้กำลังการผลิตได้มากขึ้นเกือบเต็ม 100% ของโรงงานผลิตใหม่ ส่วน OSP คาดว่ากำไรจะเติบโตราว 19% ในปี 2563

อีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้ทั้ง CBG และ OSP หันไปรุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะแนวโน้มการเติบโตต่ำของเครื่องดื่มชูกำลัง (Energy drink) ในประเทศ

บล.กรุงศรี มองว่า ช่วงปี 2562 – 2564 การเติบโตของเครื่องดื่มชูกำลังน่าจะต่ำเพียง 0-2% โดยเฉลี่ย แม้จะมีปัจจัยหนุนจากค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นของกลุ่มแรงงาน รวมถึงการพยายามอัดฉีดเงินจากภาครัฐลงไปสู่กลุ่มรากหญ้า แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบสำคัญที่ยังกดดันมาจากรายได้ภาคการเกษตรที่ยังต่ำ ตามราคาพืชผลการเกษตร รวมถึงภาวะการแข่งขันที่รุนแรงจากเครื่องดื่มทางเลือกอื่นๆ เช่น กาแฟพร้อมดื่ม เครื่องดื่มเกลือแร่

แม้ OSP จะเป็นเจ้าตลาดในประเทศมานาน แต่หากเทียบผลงานในตลาดต่างประเทศอย่าง CLMV แล้ว แต้มต่อดังกล่าวอาจจะไม่ได้มีผลนัก ปัจจุบันรายได้จาก CLMV ของทั้ง CBG และ OSP ไม่ได้หนีกันมากนัก โดยน่าจะอยู่ที่กว่า 4 พันล้านบาท และกว่า 3 พันล้านบาท ตามลำดับ

หลังจากนี้ เราน่าจะได้เห็นตลาด CLMV เป็นสมรภูมิที่ร้อนระอุขึ้นจากการแข่งขันของสองบริษัทนี้