คลังคลอดมาตรการต่างๆ มอบเป็นของขวัญปีใหม่

คลังคลอดมาตรการต่างๆ มอบเป็นของขวัญปีใหม่

หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ได้จัดทำของขวัญปีใหม่ปี 2563 ให้กับประชาชน ผู้เสียภาษี เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 62 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ได้จัดทำของขวัญปีใหม่ปี 2563 สำหรับประชาชนทั่วไป ผู้เสียภาษี เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เริ่มดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 แก่เกษตรกรที่ลงทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปีกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและทำให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวและรักษาคุณภาพข้าว ในอัตราไร่ละ 500 บาท ตามพื้นที่ที่ปลูกข้าวจริงแต่ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ วงเงิน 25,793 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2562 ธ.ก.ส. ได้เริ่มโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้วจำนวน 285,887 ราย เป็นเงิน 1,537 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะเร่งทยอยโอนเงินได้ร้อยละ 80 ของเป้าหมายทั้งหมด หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 นี้ ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ซึ่งจะทยอยจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน 2563

ธนาคารออมสิน จัดทำ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการคืนดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ลูกค้ารายย่อย คืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ธนาคารได้รับในรอบ 12 เดือนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2562 สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินรวมทุกสัญญาไม่เกิน 200,000 บาท และโครงการมอบอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับลูกค้าเงินฝากประจำ โดยเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยตามประกาศเดิมอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี สำหรับเงินฝากไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คืนเงิน (Cash Back) จำนวน 1,000 บาท ให้แก่ลูกค้าที่มีประวัติการผ่อนชำระหนี้ดีย้อนหลัง 48 เดือน โดยชำระตรงเวลาและไม่น้อยกว่าเงินงวดที่ธนาคารกำหนด สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยผู้ที่สนใจสามารถแสดงความจำนงที่ ธอส. ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยธนาคารจะโอนเงินผ่านทางบัญชีเงินฝากที่ผูกกับแอปพลิเคชั่น GHB ALL ของทางธนาคารภายในเดือนธันวาคม 2562 ถึงเดือนมกราคม 2563

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จัดทำ 2 โครงการ คือ โครงการเสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก วงเงินโครงการ 2,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่เป็นผู้ส่งออก ผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าเพื่อการส่งออก เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียน หรือปรับปรุงเครื่องจักร โรงงาน วงเงินอนุมัติสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 ร้อยละ 3.99 ต่อปี และฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 4 ปี และโครงการการลดภาระในการชำระหนี้ สำหรับลูกค้า SMEs ของธนาคารที่ไม่ต้องการวงเงินเพิ่ม แต่ต้องการลดภาระในการผ่อนชำระหนี้ แบ่งเป็น
ลูกค้าเงินกู้ระยะยาว ขยายระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 2 ปี และลดอัตราดอกเบี้ยลงจากเดิมร้อยละ 0.125 ต่อปี
ลูกค้าเงินกู้ระยะสั้น เพิ่มสัดส่วนการเบิกเงินกู้สูงสุดร้อยละ 95 ของมูลค่าเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit : L/C) และร้อยละ 85 ของมูลค่าใบสั่งซื้อสินค้า (Purchase Order : P/O) และลดอัตราดอกเบี้ยและอัตรารับซื้อลดเอกสารส่งออกลงจากเดิมร้อยละ 0.125 ต่อปี

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเรียกเก็บทุกประเภท ได้แก่ ค่าประเมินหลักประกัน ค่าธรรมเนียมนิติกรรมสัญญา สำหรับลูกค้าที่ขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบ้านแลกเงินที่ทำสัญญาสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 นอกจากนี้ ธนาคารยังมีอัตรากำไรพิเศษสำหรับ Refinance สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ในอัตราเริ่มต้นเฉลี่ย 3 ปีแรกเท่ากับร้อยละ 3.056 ต่อปี และได้รับเงื่อนไขการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ข้างต้นด้วยเช่นกัน

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จัดทำ 4โครงการ ดังนี้ มาตรการลดภาระการชำระหนี้ สำหรับลูกค้าชั้นดีที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท พักชำระเงินต้นคงเหลือ (ชำระเฉพาะดอกเบี้ย) ได้นานถึงสูงสุด 6 เดือน มาตรการสร้างรายได้ให้แก่ SMEs โดยหาช่องทางการจำหน่ายให้ลูกค้า ในงานออกบูธจำหน่ายสินค้า SMEs ภายใต้โครงการ “SMEs Gift Fest” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม 2562 - 5 มกราคม 2563 ณ ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเฉลี่ยร้อยละ 0.33 ต่อเดือน วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 15 ล้านบาท สินเชื่อ SMART Factoring บัญชีเดียว อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 0.57 ต่อเดือน วงเงินสูงสุดร้อยละ 90 ของมูลหนี้ทางการค้า พร้อมทั้งให้เครดิตนาน 180 วัน

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม จัดทำโครงการ บสย. SMEs D ยกกำลังสาม วงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท (ภายใต้โครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8) วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ฟรีค่าธรรมเนียม 3 ปีแรก สำหรับการค้ำประกันสินเชื่อภายใต้โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

กรมสรรพากร จัดทำ 2 โครงการ ดังนี้ SME โปรดีบัญชีเดียว เป็นมาตรการที่กรมสรรพากรร่วมมือกับสถาบันการเงินทั้ง 19 แห่ง ในการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. ยกเว้นเบี้ยปรับฯ พ.ศ. 2562 โดยให้สิทธิประโยชน์พิเศษทางการเงินในรูปแบบสินเชื่ออัตราพิเศษหรือรูปแบบอื่น ๆ อันจะช่วยสร้างรากฐานทางธุรกิจที่มั่นคงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 7 มกราคม 2563 เว้นภาษี แก้หนี้ NPL เป็นมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นการลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ

กรมสรรพสามิต จัดทำแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชาสัมพันธ์รณรงค์ไม่ดื่มสุราขณะขับขี่ยานพาหนะ และใช้ความระมัดระวังในการขับขี่และรักษาวินัยจราจร เข้มงวดการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลา สถานที่ และบุคคลที่ห้ามจำหน่าย จัดเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ และจัดชุดเฉพาะกิจสำนักตรวจสอบ ป้องกันและปราบปราม พร้อมสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตตามแหล่งสถานบริการ แหล่งชุมชน และพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ

กรมศุลกากร จัดทำโครงการผู้ประกอบการโดนใจได้ประโยชน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดเก็บค่าภาษีอากรให้กับผู้ประกอบการที่ชำระค่าภาษีอากรไม่ครบถ้วนได้ทบทวนตนเอง และเปิดโอกาสให้ชำระค่าภาษีอากรที่ขาดด้วยความสมัครใจ โดยโครงการดังกล่าวได้กำหนดระเบียบปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการที่ได้รับการพิจารณาเบื้องต้นว่าเป็นผู้ประกอบการสุจริตแต่อาจชำระค่าภาษีอากรไว้ไม่ครบถ้วน ได้ทบทวนตนเอง ตามประเด็นข้อสงสัยที่เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้ทราบ และไปชำระค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วนด้วยความสมัครใจตามประเด็นที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ากระทำการโดยทุจริต ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพิจารณาคดีโดยการผ่อนผันการปรับ

กรมธนารักษ์ จัดทำโครงการตลาดประชารัฐตามแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน “จัดทำชุมชนให้เป็นห้องประชุมในที่ราชพัสดุ” ในพื้นที่ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร โดยจัดพื้นที่ในที่ราชพัสดุเพื่อจำหน่ายสินค้าที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของวิถีชุมชน พร้อมทั้งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในการซื้อขายให้มีสุขอนามัยที่ดี รวมถึงเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้าเกษตร สินค้าหัตถกรรม สินค้า OTOP ของชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงมาจำหน่าย เป็นต้น โดยจะเริ่มโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2563