'พิษเศรษฐกิจ-หนี้ครัวเรือน' ส่อทุบค้าปลีก 'ทรุด' ต่อเนื่องปี 63

'พิษเศรษฐกิจ-หนี้ครัวเรือน' ส่อทุบค้าปลีก 'ทรุด' ต่อเนื่องปี 63

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ห่วง “ค้าปลีก” ทรุดต่อเนื่องปีหน้า  เหตุหนี้ครัวเรือนสูง ผู้บริโภคระดับกลางลงล่างกำลังซื้ออ่อนแอ กระทบยอดขายหดตัวทุกหมวดสินค้า ฉุดธุรกิจปีนี้โต 2.8% กระทุ้งรัฐอัดฉีดมาตรการแรงกระตุ้น เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ หนุนตลาดฟื้นชัดปี65

สถานการณ์อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท ยังคงเผชิญภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้านกระทบความเชื่อมั่นใจการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่แนวโน้มปี 2563 แม้จะพอมี “ความหวัง” จากสัญญาณบวกอยู่บ้าง แต่มี “ปัจจัยเสี่ยง” ไม่น้อยที่อาจทำให้การบริโภคภาคค้าปลีกไม่เติบโตเท่าที่ควร 

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกปี 2562 มีสัญญาณการหดตัวในทุกหมวดสินค้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับจีดีพีประเทศคาดว่าจะเติบโตเพียง 2.6% โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยปีนี้เติบโตเพียง 2.8% ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่เติบโต 3.2%

การที่การบริโภคภาคค้าปลีกค้าส่ง (Retail Consumption) อ่อนแอลงมาตลอด สาเหตุจากกำลังซื้อผู้บริโภคกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลางลงล่างซึ่งอาศัยรายได้จากผลผลิตภาคเกษตรยังคงมีกำลังซื้อที่อ่อนแอ  รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนให้เห็นในหมวดสินค้าไม่คงทน (Nondurable Goods) เช่น เครื่องดื่ม อาหาร ที่เติบโตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

ขณะที่ผู้บริโภคระดับกลางที่มีรายได้ประจำเริ่มแสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอลงเช่นกัน เนื่องจากการเติบโตของการบริโภคหมวดสินค้ากึ่งคงทน (Semi-Durable Goods) เติบโตถดถอยลง โดยหมวดสินค้ากึ่งคงทน เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา ซึ่งหมวดนี้เคยเติบโตเฉลี่ย 8-12% ในช่วง 10 ปีผ่านมา กลับเติบโตเพียง 3.2% ส่วนกลุ่มสินค้าคงทนถาวรเติบโตลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย โดยเฉพาะหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่างกล้องถ่ายภาพ และสมาร์ทโฟน ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 40% ของหมวดสินค้าคงทน มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ส่วนหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน “ทรงตัว” เนื่องจากฤดูกาลที่ผันผวน ช่วงฤดูร้อนค่อนข้างสั้น และฤดูฝนเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ ส่วนหมวดสินค้าวัสดุก่อสร้างยังไม่ฟื้นตัวผลจากภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างที่หดตัวลง

ชี้เทรนด์ค้าปลีก2020‘4ความหวัง'

อย่างไรก็ดี ภายใต้การชะลอตัว สมาคมฯ มองว่ายังมีทั้ง “ความหวังและความกังวล” ที่จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนการบริโภคภาคค้าปลีกในปี 2563 ให้เติบโตและไม่เติบโต โดย “4ปัจจัยบวก” ที่เป็นความหวัง ประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นจากนโยบายการคลังเพิ่มเติมจากที่ผ่านมานโยบายการคลังเน้น “บรรเทา” ช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก่อน ขณะที่ การกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มศักยภาพการใช้จ่ายให้กลุ่มคนชั้นกลาง ลูกจ้างประจำ ที่ยังไม่ถูกลดการทำงานเหมือนลูกจ้างชั่วคราว เช่น ที่รัฐดำเนินการไปแล้วในโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” และโครงการ “100 บาท เที่ยวทั่วไทย” 

นอกจากนี้ การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2563  ในภาวะปกติ งบประมาณประจำปีจะเริ่มเดือน ต.ค. แต่ปีนี้่เพิ่งผ่านการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือน ก.ย. และส่งเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาเดือน พ.ย. คาดว่าน่าจะผ่านการพิจารณาอนุมัติราวเดือน ม.ค. ดังนั้น การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 น่าจะเริ่มเห็นผลราวปลายเดือน ก.พ.หรือต้นเดือน มี.ค. ซึ่งจะถูกเร่งรัดใช้ให้หมดภายในเดือน ก.ย. 

“งบประมาณปี 2563 จึงเป็นงบประมาณที่จะถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบภายใน 6 เดือน ซึ่งจะเป็นงบที่มาบรรเทาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวระยะสั้นได้ นโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ยังมีช่องว่างให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพีอยู่ที่ 42% ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จึงมีโอกาสที่จะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้น ก็เก็บภาษีมาใช้คืนหนี้ได้” 

ตามนโยบายทางการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในไตรมาสแรกปี 2563 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% หากปรับลดจะเป็นดอกเบี้ยระดับต่ำที่สุดที่เคยมีมา การลดดอกเบี้ยจะช่วยประคองเศรษฐกิจให้ดีขึ้น 

ความหวังสุดท้าย ภาคการท่องเที่ยว มีแนวโน้มเติบโตจากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทย พบว่าช่วง 2 เดือนนี้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาอย่างชัดเจน และประเทศไทยยังเป็นจุดหมายหลักอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ประโยชน์ระยะสั้นจากเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง ที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เบนทิศทางมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้น

4 ข้อกังวลปัจจัยลบ

สำหรับปัจจัยลบที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วยผลกระทบจากการเลิกจ้างและลดการผลิตจากปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่กระทบคู่ค้าตลาดส่งออกทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย  การถูกสหรัฐตัดสิทธิประโยชน์ GSP สินค้าไทย อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากสถิติอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มีการจ้างงานราว 2.5 ล้านคน หรือ 40% ของการจ้างงานภาคการผลิตทั้งหมด 

"ปรากฏการณ์การปิดหรือการลดกำลังการผลิต การลดกำลังคน การยกเลิกโอที จนถึง การเลิกจ้างงาน มีให้เห็นเป็นรายวัน ส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลงอย่างน่าตระหนกตกใจ ขณะที่ผลจากภัยแล้งปี 2562 กระทบผลผลิตและรายได้ทางการเกษตรลดลง 16% จากปี 2561 สำหรับปี 2563 คาดว่ารายได้ทางการเกษตรจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย ในกรอบ -0.5% ถึง 0.0% (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

นอกจากนี้ยังเผชิญผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำการประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 5-6 บาทต่อวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 กระทบโดยตรงต่อการจ้างงานภาคบริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และก่อสร้าง จะได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากยังต้องใช้แรงงานทักษะต่ำเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนได้

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ การจ้างงานของภาคบริการ โดยเฉพาะการจ้างงานในธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และการก่อสร้าง มีกว่า 11 ล้านคน เศรษฐกิจชะลอตัวรอบนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและเป็นเวลานาน 

“การชะลอตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้สร้างผลกระทบแตกต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ซึ่งขณะนั้นกระทบผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ชนชั้นบน เป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนราว 30% ของประชากร และหนี้ที่เกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจเป็นหนี้ทางธุรกิจ ซึ่งการฟื้นฟูธุรกิจให้กลับเข้าสู่โหมดเดิม ใช้เวลาไม่นาน แต่ผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวในรอบนี้ (2556-2565) มีผลต่อชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วน 70% ของประชากร หนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ครัวเรือน มีผลต่อกำลังซื้อเป็นสำคัญ ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจรอบนี้มีผลกระทบเป็นวงกว้างและต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูกลับมา”

ประเมินค้าปลีกฟื้นตัวปี 2565

อย่างไรก็ดี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 2.4 ล้านล้านบาทจะส่งผลถึงอุตสาหกรรมค้าปลีกก็คงเป็นครึ่งปีหลังของปี 2564การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งประกอบไปด้วย การพัฒนาระบบขนส่งทางราง การพัฒนาโครงข่ายถนน เช่น การสร้างมอเตอร์เวย์ การพัฒนาท่าเรือ การพัฒนาท่าอากาศยาน รวมถึงการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ คาดว่าน่าจะมีการดำเนินการอย่างจริงจังในไตรมาสแรกปี 2563 

“การลงทุนดังกล่าวเป็นโครงการระยะยาว รอบในการหมุนของวัฎจักรจากการลงทุนการจ้างงานจนถึงการบริโภค อยู่ในช่วง 8-18 เดือนคาดว่า จะส่งผลถึงอุตสาหกรรมค้าปลีกก็คงเป็นราวครึ่งปีหลังของปี2564 ซึ่งจะเป็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคค้าปลีกอย่างชัดเจนในราวปี 2565”