เงินบาทแข็ง แก้ที่ต้นเหตุ

เงินบาทแข็ง แก้ที่ต้นเหตุ

โจทย์ใหญ่ของไทย ณ วันนี้ คงต้องหารืออย่างจริงจัง ถึงปัญหาเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องยาวนาน เป็นปัญหากับเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน และมาตรการที่ควรจะดำเนินการ ต้องทำอะไรบ้าง

นายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันแล้วว่า รัฐบาลเป็นห่วงเช่นกันกับทิศทางค่าเงินบาทแข็งเพราะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือ เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ที่ต้องบอกกล่าวกันเช่นนี้ เพราะค่าเงินบาทที่แข็งต่อเนื่องมายาวนานนั้น ได้ซ้ำเติมภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เพราะนอกจากรับผลกระทบมาจากสงครามการค้าแล้ว ค่าเงิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับราคาสินค้าส่งออกที่แพงขึ้น ถือว่ากระทบโดยตรง สะท้อนได้ผ่านการส่งออกเดือน พ.ย.2562 มีมูลค่า 19,656 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 7.4% รวม 11 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 227,090 ล้านดอลลาร์ ลดลง 2.8% เป็นการติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,108 ล้านดอลลาร์ หดตัว 13.8% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 549 ล้านดอลลาร์

การส่งออกที่ทรุดตัวลงมาก ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจโดยรวม กำลังซื้อในประเทศลด การจ้างงานมีปัญหา มาตรการประคับประคองที่รัฐบาลดำเนินการผ่านมาตรการด้านการคลัง เพียงเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจย่ำแย่ไปกว่าเดิม เป้าหมายที่จะเห็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับ 3% ในปีนี้ จึงไม่เกิดขึ้น จึงไม่แปลกที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ จะประเมินว่าปีนี้น่าจะโตระดับ 2.5% และปีหน้า ไม่เกิน 2.8%

ถามว่าระดับนี้ คือสิ่งที่เราอยากเห็นหรือสิ่งที่เราต้องการหรือไม่ คำตอบไม่ใช่เลย เพราะโดยศักยภาพแท้จริงของเศรษฐกิจไทยนั้น ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็บอกเราแล้วว่าควรอยู่ระดับ 3.5-4% ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง สิ่งที่สำคัญคือต้องมีการเร่งปฏิรูปโครงสร้างหลายด้าน เพื่อทำให้เศรษฐกิจมีศักยภาพสูงขึ้น ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ดังนั้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ คือการแก้ปัญหาในระยะยาวที่ต้องเริ่มดำเนิน แต่จะเห็นผลอีกระยะหนึ่งเพราะ เมื่อพูดถึงโครงสร้างจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร

แต่สิ่งที่ต้องนั่งคุยตั้งวง หารืออย่างจริงจังเฉพาะหน้านี้ คือปัญหาค่าเงินบาทแข็งว่าเป็นปัญหากับเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน และมาตรการที่ควรจะดำเนินการ ต้องทำอะไรบ้าง เพราะที่ผ่านมา แบงก์ชาติยอมรับแล้วว่า การลดดอกเบี้ยเพื่อลดส่วนต่างของต้นทุนทางการเงิน เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ และแบงก์ชาติได้ใช้เงินทุนสำรองเข้าแทรกแซงในระดับที่พอเหมาะ เพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไข และเฝ้าระวังเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น หรือเงินร้อนที่มาพักในตลาดตราสารหนี้ หรือตลาดเงิน ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินบาทโดยตรง แถมยังออกมาตรการผ่อนผันเกณฑ์กำกับดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ให้สามารถนำเงินออกไปต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น เป็นต้น

ซึ่งหากพิจารณาตามมาตรการดังกล่าวจะเห็นว่า ก็น่าจะทำให้เงินบาทอ่อนกว่าเดิม แต่เปล่าเลยแค่ประคับประคองไม่ให้หลุด 30 บาทต่อดอลลาร์เท่านั้น เพราะปัญหาแท้จริงคือเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในอัตราที่สูง และเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาสูงมาก ขณะเดียวกัน กองทุนของเราไปลงทุนต่างประเทศยังต่ำ ดังนั้นหากรัฐบาลจะหามาตรการแก้ค่าเงินบาทแข็ง ก็ควรพิจารณาใน 3 ตัวแปรหลักเหล่านี้

157714708034