ภารกิจ 'ธนชาตประกันภัย' เจาะฐานลูกค้า 10 ล้านราย

ภารกิจ 'ธนชาตประกันภัย' เจาะฐานลูกค้า 10 ล้านราย

บมจ.ธนชาตประกันภัย หรือ “TNI” ให้บริการมายาวนานกว่า 22 ปี ในปีนี้ ถือเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุด

โดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้างผู้ถือหุ้นซึ่ง บมจ.ทุนธนชาต หรือ TCAP เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 51% อีก49%เป็นสโกเทียแบงก์ จากเดิมผู้ถือหุ้นใหญ่สุด100% คือ ธนาคารธนชาต

อย่างไรก็ตาม ทุนธนชาต ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองในธนาคารแห่งใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง ธนาคารธนชาต และ ธนาคารทหารไทย ซึ่งธนาคารแห่งใหม่นี้ จะมีฐานลูกค้ารวมกันมากกว่า 10 ล้านราย สาขาอีกกว่า 900 แห่ง จากเดิมที่ ธนาคารธนชาต มีลูกค้าเพียง 4 ล้านราย และสาขาราว 400 แห่ง ดังนั้นในปีหน้า“ภารกิจใหญ่” ของบริษัท คือ การรุกขยายธุรกิจเข้าไปรองรับฐานลูกค้าในกลุ่มนี้

นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนชาตประกันภัย กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง หลังจากช่วงต้นปี2562 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วเป็น 4,930 ล้านบาท  ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประกันวินาศภัย ทำให้บริษัทมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนกว่า 807% สูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้ที่ 140% ส่งผลให้บริษัทสามารถต่อยอดสร้างอัตราการเติบโตทางธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับการเพิ่มทุนครั้งนี้ เป็นการโอนจากกำไรสะสมทั้งจำนวนตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทเมื่อปี 2540 ซึ่งบริษัทมีกำไรทุกปีมาตลอดเฉลี่ยปีละ 1 พันล้านบาท  สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทยังมุ่งทำธุรกิจในระยะยาวด้วยฐานการเงินที่มีความมั่นคงแข็งแกร่งให้ลูกค้าและคู่ค้า เพื่อรองรับโอกาสการขยายธุรกิจ ยอมรับว่า “จำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นความท้าทาย”

นายพีระพัฒน์ กล่าวต่อว่า บริษัทวางเป้าหมายธุรกิจในปี2563 โดยผลักดันเบี้ยประกันภัย ให้เติบโต7% หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 574 ล้านบาท จากปีนี้คาดว่าทำได้ที่ 8.2 พันล้านบาท เติบโต 3% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ยังคงตั้งเป้ากำไรเฉลี่ยระดับ 1 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถทำได้ระดับมานานถึง3-4ปีต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา  

ทางด้านกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้า ยังคงมองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยมีสินค้า ช่องทางขาย และบริการต้อง “ simple and  easy ” เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก  พร้อมกับใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุน เช่น จีพีเอส บอกจุดเกิดเหตุ  เอไอมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยอนุมัติเคลมรวดเร็ว และยังมีแพลตฟอร์ม“Thanachart Insurance Line Officiall Account”แบบครบวงจรซึ่งเป็นการต่อยอดการให้บริการลูกค้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คาดว่า ในปีหน้าจะนำลูกค้าทั้งหมด1.5ล้านคน มาอยู่บนแฟลตฟอร์มนี้ได้ 

รวมทั้งยังเป็นบริษัทแรกที่ได้รับใบอนุญาตการออกกรมธรรม์ดิจิทัล (E-Policy) ด้วยมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงและการจัดการข้อมูล ตามาตรฐานISO 27001  นอกจากนี้ บริษัทอยู่ในกระบวนการเตรียมการเพื่อรองรับ พ.ร.บ.การยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าเริ่มในเดือนพ.ค.2563 คาดว่าเริ่มได้ไม่มีปัญหา

ขณะที่ทางด้านช่องทางการขาย มุ่งทำงานและสร้างความเข้าใจกับพนักงานสาขาของธนาคารให้มากขึ้น ซึ่งบริษัทมีความชำนาญและมีโมเดลความสำเร็จในการขายประกันภัยผ่านช่องทางสาขาของธนาคาร ตามแนวทางกำกับมาร์เก็ตคอนดักส์ทั้งคปภ. และธปท. อยู่แล้ว จะช่วยให้เบี้ยประกันภัยผ่านสาขาของธนาคารในปี2563 เติบโต15% จากปีนี้มีเบี้ยในช่องทางดังกล่าว 2 พันล้านบาท ถือว่ามากสุดในอุตสาหกรรม อีกทั้งยังคงเดินหน้าขยายการจับมือกับพันธมิตรธุรกิจภายนอก ในช่องทางอื่นๆด้วย

ในปี2563 ยังรักษาสัดส่วนช่องทางการขายตามเดิมเป็นการขายผ่านสาขาของธนาคาร 25% เช่าซื้อ25%เทเลเซลล์ 15% ดีลเลอร์ 15%  และโบรกเกอร์ 10%

ทางด้านพอร์ตรับประกันภัยของเรา ส่วนใหญ่ยังคงเป็นประกันภัยรถยนต์สัดส่วน 85% ที่เหลือเป็นประกันภัยไม่ใช่รถยนต์ (นอนมอเตอร์) สัดส่วน15% และมีอัตราความเสียหายประกันรถยนต์62% ซึ่งยังถือว่า ต่ำกว่าตลาดมาก  ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาด เบี้ยรับประกันภัยรวมอยู่อันดับ 9 เบี้ยประกันภัยรถยนต์อยู่อันดับ5 เบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลหรือพีเออยู่อันดับ6 สะท้อนว่า บริษัทยังอยู่ระดับท็อปเท็น

ทางด้านทิศทางบริหารจัดการธุรกิจประกันวินาศภัยในปีหน้า  นายพีระพัฒน์ มองว่า ในปีหน้าธุรกิจประวินาศภัยมีปัจจัยท้าทาย 3 เรื่อง คือ 1. มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS17 2. เพิ่มความคุ้มครองประกันรถยนต์ 3. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว  ดังนั้นภาคธุรกิจต้องปรับตัวและเน้นการความสามารถในการสร้างผลประกอบการที่ดี