คกก.ไม่เคาะ “กระท่อม”พ้นยาเสพติด

คกก.ไม่เคาะ “กระท่อม”พ้นยาเสพติด

คกก.ยาเสพติดยังไม่เคาะ“กระท่อม”พ้นยาเสพติด สั่งอนุฯศึกษาข้อมูลเพิ่ม เบื้องต้นพบฤทธิ์แก้ปวด-ท้องเสีย เร่งวิจัยdiIuลำไส้อักเสบ-เบาหวาน กรมแพทย์แผนไทยฯชง 7 ตำรับยาไทยมีกระท่อมปรุงผสม ส่วนป.ป.ส.ยกกรณี“บ้านน้ำพุ”ชุมชนปลูกกระท่อมควบคุมกันเอง

           เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษที่มีนพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานว่า ในส่วนของกระท่อมนั้น คณะกรรมการฯยังไม่ได้มีมติในการดำเนินการเรื่องกระท่อม การประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังและให้ข้อเสนอแนะตามที่ คณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องกระท่อม แต่งตั้งโดยคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเมื่อปี 2556 และมีรองเลขาธิการอย.เป็นประธาน ซึ่งปัจจุบันกระท่อมยังจัดเป็นพืชเสพติด ประเภท 5 จะต้องมีการควบคุมการนำไปใช้ ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 คณะกรรมการฯจึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯไปรวบรวมงานวิจัย ผลกระทบในมิติต่างๆเพิ่มเติม เพื่อนำเสนออีกครั้ง
           นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการฯได้รายงานการพิจารณาในทุกมิติทั้งเชิงสังคม กฎหมายและเศรษฐกิจ ซึ่งเบื้องต้นพบว่าสามารถใช้ในทางการแพทย์แผนไทยได้ดีใน 7 ตำรับ เป็นการแก้อาการบิด ปวดท้อง ท้องเสีย ขณะที่มิติเชิงสังคม พบว่ามีการใช้ตามวิถีพื้นบ้าน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)ได้นำเสนอผลการวิจัย การพัฒนารูปแบบการควบคุมพืชกระท่อมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในประเทศไทย : กรณีศึกษาตำบลน้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ใช้กระท่อมตามวิถีชีวิต และมีการจัดทำธรรมนูญชุมชน เพื่อใช้ในการดูแล ควบคุมกำกับการใช้กระท่อมของคนในชุมชนเอง เบื้องต้นพบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนเป็นกลไกลสำคัญในการควบคุมการปลูกและใช้กระท่อม และมีการเสนอขอทำโครงการวิจัยต่อเนื่องในการจัดทำข้อมูลสารสนเทศ
          “พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ให้ใช้ประโยชน์กระท่อมในทางการแพทย์ได้ และตามมาตรา 58/2 กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สามารถประกาศให้ท้องที่ใด เป็นท้องที่ที่ทำการเสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด ซึ่งในการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้พื้นที่ดำเนินการได้นั้น จะต้องอยู่ที่ป.ป.ส.พิจารณาควบคู่กับการเห็นถึงความพร้อมในการมีส่วนร่วมและวิถีชีวิตดั้งเดิมการใช้กระท่อมของชุมชนนั้นคู่กัน”นพ.ไพศาลกล่าว
         นพ.ไพศาล กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อมูลเชิงวิชาการนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องการใช้กระท่อมทางการแพทย์ และใช้ทดแทนสารเสพติดอื่นๆ รวมถึง สถาบันอื่นอยู่ระหว่างการศึกษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันเกี่ยวกับสรรพคุณ แก้ปวด แก้ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ และเบาหวาน เป็นต้น และอนาคตวิจัยการทำสารสกัดเพื่อเป็นยาต่อไป ส่วนในมุมเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากกระท่อมเป็นไม้ยืนต้น จึงสามารถใช้ลำต้นในประโยชน์อื่นได้ เช่น ทำเครื่องเรือน หรือป้องกันน้ำป่าไหลาหลาก เป็นต้น
        นพ.ไพศาล กล่าวอีกด้วยว่า ส่วนของกัญชา คณะกรรมการฯมีการอนุญาตให้ปลูกหรือสกัดกัญชาได้อีก 6 ราย ได้แก่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง และรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรร่วมกับวิสาหกิจชุมชนรักจังฟาร์มเมล่อน วังน้ำเขียว ซึ่งจะสามารถดำเนินการวิจัยและใช้ในการแพทย์แผนไทยและการผลิตสารสกัดกัญชา เพื่อทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ในการใช้กัญชาทางการแพทย์