กูรูชี้ 'เศรษฐกิจโลก' พ้นจุดต่ำสุด ฟันธงไทย 'โตช้า-กระจุกตัว'

กูรูชี้ 'เศรษฐกิจโลก' พ้นจุดต่ำสุด ฟันธงไทย 'โตช้า-กระจุกตัว'

นักเศรษฐศาสตร์ ฟันธงเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแบบช้าๆ "เวิลด์แบงก์" ประเมินเศรษฐกิจโลกพ้นจุดต่ำสุด ด้าน "อีไอซี" หวังนโยบายคลังพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ "ภัทร" ห่วง "เฟอร์เฟคสตอร์ม" ฉุดจีดีพีโตต่ำคาด "ทีดีอาร์ไอ" คาดปีหน้าเศรษฐกิจโตช้า-กระจุกตัว

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดงานสัมมนา "Thailand Economic Outlook : เศรษฐกิจไทย 2020 ฟื้น หรือ ฟุบ?" นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของเมืองไทย ให้ความเห็นในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นแบบช้าๆ และยังมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจเป็น "ขาลง" จากทั้งระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง สงครามการค้าที่ส่อว่าจะยืดเยื้อ การลงทุนเอกชนที่อยู่ระดับต่ำ ความเหลื่อมล้ำการศึกษา ตลอดจนปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้ถือว่าขยายตัวต่ำสุด ในรอบ 5 ปี แต่ก็น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในปีหน้า จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ที่ยังมีอุปสงค์ในประเทศที่ดี รวมทั้งเศรษฐกิจเอเชียที่มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับแรงกระแทกจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แม้ว่าเศรษฐกิจจีนในปีหน้าคาดการณ์กันว่าจะขยายตัวต่ำกว่าระดับ 6%

สำหรับ เวิลด์แบงก์ คาดการณ์การขยายตัว เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตประมาณ 2.6% และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวราว 2.8% แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนม.ค.2563 ทางเวิลด์แบงก์จะทบทวน ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีหน้าใหม่

157717186024

  • เศรษฐกิจไทยเผชิญ 3 ปัจจัยเสี่ยง

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับ 3 ปัจจัยเสี่ยง คือ ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง การลงทุนที่อ่อนแอมานาน และความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา หากไทยปรับปรุงเรื่องเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญทำให้ขับเคลื่อนในภาคบริการ อีกทั้งควรมีการปรับปรุงโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ เพื่อนำคนที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบให้มากขึ้น และปรับโครงสร้างภาคการเกษตร เพื่อ ไม่ให้เศรษฐกิจเติบโตแบบกระจุกตัว

157717010832

  • "จีดีพี" ปีหน้าดีขึ้นแต่คนไม่รู้สึก

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า อีไอซีคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทยเติบโต 2.5% ในปีนี้ และเติบ 2.7% ในปีหน้า ซึ่งเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะเป็นภาพการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และไม่ค่อยทั่วถึง กล่าวคือ "จีดีพี" ดูดีขึ้น แต่คนไม่ค่อยรู้สึก ต้องพึ่งพาภาครัฐมากขึ้น เป็นผลจาก 3 ปัจจัย คือ 1.ผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามการค้า เสมือนเราติดไข้หวัดใหญ่ 2.วัฏจักรขาลงของการบริโภค ที่พึ่งพาสินเชื่อ เสมือนเราต้องพึ่งสเตียรอยด์ 3.ความท้าทายเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ เสมือนร่างกายอ่อนแอ ไม่สมดุล

157717031664

ความหวังในปี 2563 ด้วยนโยบายการคลังที่ยังมีเพียงพอ 1.ทำให้ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นผ่านการใช้จ่ายภาครัฐและการ อุดหนุนรายได้ประชาชนในรูปแบบเงินโอน (money transfer) 2.จากการก่อสร้างภาครัฐ ได้รับอานิสงส์ก็จากโครงการเมกะโปรเจค รวมถึงการเร่งเบิกจ่ายภาครัฐ

3.จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาขยายตัว แต่เป็นการชะลอตัวลงตามการฟื้นตัวช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและการแข่งขันที่มากขึ้น ข้อจำกัดของสนามบิน รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้รายได้ต่อหัวลดลง แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ยังชะลอตัวอย

"โรคที่เรากำลังเผชิญ ทำให้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตช้า สิ่งเหล่านี้แก้ไขได้ เราต้องให้ยาบำรุง ยารักษาโรคเฉพาะหน้าพอสมควร เราต้องปฏิรูปกันจริงๆ ในหลายๆ เรื่อง อยากเห็นภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันมากขึ้น ส่วนภาคธุรกิจเอง ก็ต้องบริหารความเสี่ยงลดค่าใช้จ่าย ลดหนี้ที่ไม่จำเป็น เตรียมสภาพคล่องไว้ให้เพียงพอ และยังมีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากสังคมสูงวัย เทคโนโลยี ภูมิอากาศ ที่ภาคธุรกิจต้องปรับปรุงทักษะและตามกระแสให้ทัน"

นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาท มองว่าเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ซึ่งทำให้ไทยมีสถานะเป็น regional safe haven และพฤติกรรม home bias ของนักลงทุนไทย ที่ทำให้มีเงินลงทุนในต่างประเทศน้อย สินทรัพย์ลงทุนในต่างประเทศของไทย เช่น กบข. มีสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศเพียง 30% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสัดส่วน 10% และนักลงทุนทั่วไปมีสัดส่วนแค่ 1-2% เท่านั้น ควรจะมีการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่งคั่งมากขึ้น

  • ห่วง "มหาพายุ" กดดันเศรษฐกิจโตต่ำคาด

นายพิพัฒน์ เหลืองนิฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวใน ระดับ 2.5-2.6% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเติบโต ในระดับ 2.8%

157716454028

"เศรษฐกิจปีหน้า 'พายุยังคงอยู่' แต่เราเหมือนเดินเข้าไปสู่ใจกลางพายุ บางช่วงอาจสงบชั่วคราว แต่หากเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ไม่เป็นตามคาด โดยยังเผชิญความเสี่ยงจาก 3 พายุ ได้แก่ การค้าโลกยังติดลบต่อเนื่อง การผลิตติดลบนำไปสู่การลดกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น และภัยแล้งยังซ้ำเติมรายได้ภาคเกษตร หดตัว มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเจอความเสี่ยงด้านต่ำ นอกจากนี้ถ้าเฟอร์เฟคสตอร์มมาพร้อมกัน 3 ลูก รวมถึงยังมีพายุด้านการเมือง ซ้ำเป็นพายุลูกที่ 4 แน่นอนว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสชะลอตัวกว่าที่คาด"

157717095524

ส่วนทางนโยบายการเงิน ปัจจุบันเรามีกระสุนจำกัดมากขึ้น และเราเข้าสู่จุดที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องยังมีค่อนข้างมาก การใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำทำให้เงินเฟ้อ ขยับสูงขึ้นมีข้อจำกัดมากขึ้น รวมถึงเงินบาทแข็งค่า ณ วันนี้ที่ระดับ 30.20 บาทต่อดอลลาร์ มีค่าเงินบาทมีความผันผวนมากในปีนี้ และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เงินบาทแข็งค่าขึ้น 20% เป็นระดับการแข็งค่าในช่วงเดียวกับปีก่อนเกิดวิกฤติปี 2540 

ส่วนทางด้านนโยบายการคลังยังมีช่องว่างกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ ด้วยหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ 43-45% ในปีหน้า แต่อยู่ที่ว่าจะมีรูปแบบของนโยบายการคลังแบบไหน ที่จะสามารถใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งต้องมั่นใจว่าเงินทุกบาทที่ใช้ส่งผลต่อการกระตุ้นในระยะยาวด้วย

  • เศรษฐกิจปีหน้าโตช้า-กระจุกตัว

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 เติบโตช้า กระจุกตัว แต่มีโอกาส โดยทีดีอาร์ไอคาดว่า เศรษฐกิจไทยเติบโต 2.5% ในปีนี้ และ 2.5-3% ในปีหน้า ด้วยจากปัจจัยลบจากผลการส่งออก ที่เติบโตช้าลง ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้า และเศรษฐกิจจีนชะลอ โตต่ำกว่า 6% ถือว่าต่ำสุดในประวัติศาสตร์ อาจจะส่งผลกระทบท่องเที่ยวและอสังหาริททรัพย์จากจีนมาไทย

157717109211

อย่างไรก็ตามยังหวังปัจจัยท่องเที่ยวน่าจะยังเติบโตและภาครัฐเร่งเบิกจ่ายได้ต่อเนื่อง รวมถึงการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ คาดว่าในปีหน้าจะมีเม็ดเงินจากการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปีหน้า ไม่ต่ำกว่าปีนี้ที่มีเม็ดเงินประมาณ 1% ของจีดีพี

ทางด้านการกระจุกตัว พบว่า ในบางเซ็คเตอร์ไม่มีการกระจายรายได้ แต่ไม่วิกฤติ และมองว่ายังมีโอกาสเข้าไปทำธุรกิจได้ เช่น การย้ายฐานการผลิตจากจีนมาอาเซียนและไทย แต่ก็ต้องระวังความเสี่ยงการเกินดุลกับสหรัฐ หากขยับขึ้นเร็ว สหรัฐจะเพ่งเล็งมา เป็นความเสี่ยงในระยะยาวได้ ขณะที่ยังมีการส่งออกไทยไป สหรัฐยังเติบโตดี

นอกจากนี้ กระแสการเปลี่ยนแปลงสังคม สูงวัย สภาพภูมิอากาศ และเทคโนโลยี ยังเป็นโอกาสของภาคธุรกิจอย่างมาก ไม่ใช่เป็นตัวฉุดรั้ง อย่างธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องสำอางชะลอวัย อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว ยังตอบโจทย์สังคมสูงวัย ขณะที่การใช้วัสดุทดแทน การทำอาหารจากพืชทดแทนเนื้อ ใช้ไม่มียาปฏิชีวนะ ตอบโจทย์สภาพภูมิอากาศ ส่วนเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ธุรกิจค้าขายดีขึ้น อย่างอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิต

ดาวน์โหลดพรีเซ็นเทชั่น :

ทีดีอาร์ไอ

อีไอซี

ภัทร

เวิลด์แบงก์