ธปท.จี้ปฏิรูป 'โครงสร้างเศรษฐกิจ' หวังหนุนจีดีพีไทยโต 'เต็มศักยภาพ' 3.5-4%

ธปท.จี้ปฏิรูป 'โครงสร้างเศรษฐกิจ' หวังหนุนจีดีพีไทยโต 'เต็มศักยภาพ' 3.5-4%

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยปี 63 เติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ขยายตัวเพียง 2.8% จากศักยภาพควรอยู่ระดับ 3.5-4% จี้ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เตือนสร้างภูมิคุ้มกันรับปัจจัยเสี่ยง มอง 3 ปัจจัย สังคมสูงวัย ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นทั้งความเสี่ยง-โอกาส

ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2562 ทั้ง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา "ชะลอตัว" อย่างต่อเนื่อง จากการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง จากพิษสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน จนสำนักวิจัยต่างหั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้และปีหน้าหลายครั้ง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จึงจัดสัมมนา "Thailand Economic Outlook 2020 : อนาคตเศรษฐกิจไทย 2020" เพื่อฉายภาพทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในช่วง "Thailand Economic Outlook  เศรษฐกิจไทย 2020" ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น คาดการณ์การขยายตัวอยู่ที่ระดับ 2.8% จากปีนี้ที่ 2.5% ปัจจัยหลักมาจากแรงส่งด้านภาคการคลังที่คาดว่าจะมีมากขึ้น ตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่จะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือน ก.พ.เป็นต้นไป ทำให้การลงทุนขนาดใหญ่ และการเบิกจ่ายงบประมาณดีกว่าปี 2562 

157716891886

  • หนุนปฏิรูปดันเศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพ

ด้านที่สอง คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากปี 2562 ที่การค้าโลกขยายตัวไม่ถึง 1% ต่ำสุดในรอบหลายปี ส่วนหนึ่งมาจากห่วงโซ่การผลิตที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ขณะที่ภาคการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นและกลับมาเป็นบวกได้ จากปีนี้คาดว่าจะติดลบ 3-4% 

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าปี 2562 แต่การเติบโตในระดับ 2.8% ก็ยังไม่น่าพอใจ เพราะเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ตามศักยภาพเศรษฐกิจไทย ควรขยายตัวในระดับ 3.5-4% เป็นผลมาจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง สิ่งที่สำคัญคือต้องมีการเร่งปฏิรูปโครงสร้างหลายด้าน เพื่อทำให้เศรษฐกิจมีศักยภาพสูงขึ้น ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินไปข้างหน้าด้วยกัน

"แทนที่จะมาถกกันว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะเผาจริงหรือเผาหลอก เราควรเปลี่ยนมาถกกันว่าจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร ศักยภาพเศรษฐกิจไทยถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็อยู่ที่ 3.5-4% แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรพอใจ เราสามารถปฏิรูปผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากกว่านี้"   

157716896920

  • จี้ทำนโยบายเสริมขีดแข่งขัน 

เขากล่าวว่า สิ่งสำคัญต้องให้ความสำคัญกับนโยบายที่เป็นอุปทานมากขึ้น เพราะนโยบายการเงิน นโยบายด้านการคลัง ถือเป็นนโยบายด้านอุปสงค์ ล้วนมีข้อจำกัดไม่สามารถแก้ไขแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ดังนั้นหากจะยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย ต้องให้ความสำคัญกับด้านอุปทานมากขึ้น เช่น การปฏิรูปกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เป็นอุปสรรค การสนับสนุนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ต้องเร่งทำ เช่น นโยบายที่หนุนให้เกิดการแข่งขัน ให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี มีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น 

อีกด้านที่สำคัญคือ การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับตัวไปในทิศทางที่เหมาะสมกับอนาคตมากขึ้น เช่น การเข้าไปช่วยเหลือภาคเกษตร ที่ผ่านมาทำผ่านการเยียวยาภาคเกษตร แต่ไม่ได้เน้นให้เกิดการปรับตัว ไม่ได้ช่วยทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพหรือการผลิตที่สอดคล้องตลาด 

"นโยบายด้านอุปสงค์ช่วยได้ระยะสั้น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะลอ หรือหดตัวแรงเท่านั้น แต่นโยบายด้านอุปทาน จะเป็นทางเดียวที่ทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ปัญหาหลายอย่าง ทั้งการจ้างงาน ค่าเงินบาท ที่อาจคิดว่าเป็นตัวแปรด้านการเคลื่อนย้ายเงิน แต่เหล่านี้สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง เหมือนเวลาเราไม่สบาย อาจมีการอักเสบข้างในที่เราไม่รู้ และเมื่อเจอแรงกดดัน สภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยน ไข้เหล่านั้นก็ออกมา หากเราคิดว่าแค่เป็นไข้ แล้วใช้ยาแก้ไข ก็ไม่หาย และอาจสร้างผลข้างเคียงที่ไม่ได้ตั้งใจเพิ่มขึ้นได้"

157716903837

  • เผย 3 ปัจจัยเสี่ยง-โอกาสธุรกิจ 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่กังวล คือในช่วง 3 ปีข้างหน้า เชื่อว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ในระบบการเงินโลกอยู่อีกมาก การบริหารความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยสร้างให้มีภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกันสิ่งที่อยากให้ความสำคัญมาก คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส มีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.สังคมผู้สูงวัยที่ทำให้กำลังซื้อลดลง แต่ผลิตภัณฑ์ผู้สูงวัยจะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เราสามารถที่จะเป็นผู้นำด้านนี้ ได้

2.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือภาวะอากาศโลกร้อน ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เกิดการลดใช้พลาสติก การยกระดับการผลิตภาคเกษตรให้สอดคล้องกับเรื่องนี้จึงสำคัญ และ 3.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่กระทบต่อทุกอุตสาหกรรม การค้าขายออนไลน์ที่ขยายตัว ก็ต้องสอนให้คนไทยมีทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น

สำหรับนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตามไม่ได้บอกว่า เราปิดประตู เพราะหากสถานการณ์เศรษฐกิจแย่กว่าที่คาด กนง.ก็พร้อมใช้เครื่องมือดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่หากใช้นโยบายการเงินเกินพอดี อาจส่งผลข้างเคียงต่อเสถียรภาพการเงิน ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในอนาคตได้

157716909397

  • รับลดดอกเบี้ยหวังผลค่าเงินบาท 

เขากล่าวว่า ยอมรับว่าการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะกังวลว่าหากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ถ่างมากพอ อาจมีผลต่อค่าเงินบาทได้ จึงต้องลดแรงจูงใจต่างชาติที่เข้ามาพักเงิน โจทย์สำคัญของ ธปท.ต้องไปดูว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรบ้าง ที่ทำให้เงินไหลเข้าออกไม่สมดุลด้วย ธปท.จับตาอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องการให้เกิดการเก็งกำไร โดยเฉพาะช่วงสิ้นปีที่มีการปรับพอร์ต ธปท.ระมัดระวังและจับตาเป็นพิเศษ ที่ผ่านมาพบว่าปัญหาน้อยลงต่อเนื่อง

"นโยบายการเงินแบบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เหมาะสำหรับเศรษฐกิจไทยที่เป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก เราบริหารแบบมีความยืดหยุ่น โดยมีการทบทวนกรอบเป้าหมายทุกปี ปีนี้เตรียมจะหารือกับกระทรวงคลัง และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้" 

  • เกาะติด "4 ประเด็น" การเงิน

ธปท.เปิดเผยผลการประชุมร่วมระหว่าง กนง.คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ระบบการเงินไทยมีจุดสะสมความเปราะบาง 4 เรื่อง คือ 1.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในช่วง 9 เดือนปีนี้ ยังขยายตัวโดยสินเชื่อสำหรับผู้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก สัญญาณการเก็งกำไรลดลงจากมาตรการแอลทีวี 2.สถานการณ์หนี้ครัวเรือนและสินเชื่อ SMEs ยังน่ากังวล โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดย ธปท.ร่วมกับบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท ขยายขอบเขตโครงการคลินิกแก้หนี้ให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้รายเดียวและที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีด้วย ในระยะต่อไป ที่ประชุมเห็นควรศึกษาหาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีศักยภาพในวงที่กว้างขึ้น

3.การระดมทุนและพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ตลาดตราสารหนี้มีความเสี่ยงกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่สูงขึ้น ด้านธุรกิจประกันภัยยังเผชิญแรงกดดันด้านการทำกำไรในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ปรับปรุงเกณฑ์เพื่อช่วยการปรับตัวของธุรกิจประกันภัยให้สามารถขยายการลงทุนไปสู่นอกภูมิภาคอาเซียน และ 4.ความเชื่อมโยงภายในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากการรับฝากและปล่อยกู้ระหว่างกัน อาจเป็นการส่งผ่านความเสี่ยงในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์