ส่งออก พ.ย.หดตัวเกือบทุกตลาด สรท.ห่วงไร้วี่แววฟื้นตัว

ส่งออก พ.ย.หดตัวเกือบทุกตลาด สรท.ห่วงไร้วี่แววฟื้นตัว

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานการส่งออก พ.ย.2562 ที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า ทำให้การส่งออกของหลายประเทศหดตัวรวมถึงไทย

การส่งออกเดือน พ.ย.2562 มีมูลค่า 19,656 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 7.4% รวม 11 เดือน แรกของปีนี้มีมูลค่า 227,090 ล้านดอลลาร์ ลดลง 2.8% เป็นการติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,108 ล้านดอลลาร์หดตัว 13.8% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 549 ล้านดอลลาร์

รวม 11 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 227,090 ล้านดอลลาร์ลดลง2.8% การนำเข้ามีมูลค่า 218,081 ล้านดอลลาร์ลดลง 5.2% และการค้าเกินดุล 9,009 ล้านดอลลาร์

การส่งออกไทยยังคงรักษาระดับมูลค่าส่งออกได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคที่หดตัวมากกว่าไทย เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์

ทั้งนี้ มีปัจจัยชั่วคราวในสินค้ากลุ่มน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องที่การส่งออกลดลงมาก สาเหตุจากการปิดโรงกลั่นในประเทศเพื่อซ่อมบำรุงช่วงปลายปี ทำให้การส่งออกน้ำมัน เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ลดลงกว่า 27% แต่ในช่วงต้นปี 2563 จะกลับมาผลิตได้ตามเดิม 

อีกประเด็นที่เป็นพัฒนาการที่ดี คือ ผลกระทบของสงครามการค้าต่อการส่งออกของไทยเริ่มทรงตัว เห็นได้จากการที่ไทยส่งออกสินค้าไปทดแทนในตลาดสหรัฐและจีนได้ดีหลายกลุ่ม

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 3.6% เมื่อเมียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน สินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัว 105.3% ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ซูดาน จีน กัมพูชาและเวียดนาม 

ไก่สด แช่แข็งและแปรรูปขยายตัว 10.4% ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ส่วนผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูปขยายตัว 7.0% ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐ ฮ่องกง อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย 

เครื่องดื่ม ขยายตัว 3.8% ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เมียนมา จีน อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น 

สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 37.3% หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวันและสหรัฐ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม และเนเธอร์แลนด์

ข้าว หดตัว 31.4% (หดตัวในตลาดจีน แอฟริกาใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐ แคเมอรูนและอังโกลา ยางพารา หดตัว 18.4% หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และบราซิล แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดมาเลเซีย สหรัฐและตุรกี

กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัว 9.1% หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดาและเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน มาเลเซียและเมียนมา

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวที่ 6.4% สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัว 26.4% ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐ มาเลเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ 

สินค้าที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 27.2% หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชาและอินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในปากีสถาน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 15.6% หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม จีน และซาอุดิอาระเบีย

ทองคำ หดตัว 8.5% หดตัวในตลาดกัมพูชา สิงคโปร์ ไต้หวัน บังกลาเทศ และอิตาลี แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ เมียนมาและเกาหลีใต้

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปสหรัฐหดตัว 2.6% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์และแผงวงจรไฟฟ้า สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ยาง

ตลาดสหภาพยุโรป (15 ประเทศ) หดตัว 8.2% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ตลาดญี่ปุ่น หดตัว 10.9% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกล ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ

ตลาดจีน กลับมาขยายตัว 2.3% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง เครื่องยนต์สันดาป น้ำตาลทราย ตลาดอาเซียน (5 ประเทศ) หดตัว 11.1% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและเม็ดพลาสติก ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีเครื่องประดับ

ตลาดอินเดีย หดตัว 14.1% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ โทรทัศน์และส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ และทองแดง ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ

157710762099

สรท.ชี้ปีนี้ติดลบ2.5-3.0%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือน พ.ย.ที่ติดลบ 7.4% เป็นไปตามคาดเพราะยังไม่มีสัญญาณเชิงบวกที่ชัดเจนที่เศรษฐกิจพลิกฟื้นทันที แต่แนวโน้มการชะลอตัวไม่รวดเร็วเหมือนในบางช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อดูตัวเลขการนำเข้าพบว่า ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่า ไทยได้ใช้โอกาสในช่วงที่ค่าเงินบาทลด นำเข้าเครื่องจักรหรือวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะผลพวงจากคำสั่งซื้อที่ยังไม่กระเตื้องขึ้นมาเท่าไรในไตรมาสแรก ส่วนใหญ่ก็คาดการณ์ตามการผลิตในช่วงที่ผ่านมา

“การส่งออกเดือน ธ.ค.ที่กระทรวงพาณิชย์คาดกว่าจะส่งออกได้ 20,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ทั้งปีติดลบ 2% ดูแล้วยากเพราะยังไม่มีสัญญาณการแย่งตู้สินค้าส่งออกหรือตู้สินค้าขาดแคลน ซึ่งสรท.ประเมินว่าการส่งออกปีนี้ ติดลบที่ 2.5-3%”

เสนอพึ่งตลาดในประเทศ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือน พ.ย.ในรูปเงินบาทจะลดลงถึง 20% ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข คือ การแข็งค่าเงินบาท เพราะที่ผ่านการส่งออกลดลงแต่การนำเข้าลดลงมากกว่าทำให้ไทยเกินดุลเพิ่มขึ้น หากไม่เร่งแก้ไขในปีหน้าค่าเงินบาทอาจจะต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ จะต้องแก้ปัญหาสงครามการค้าโดยหันไปเจาะตลาดใหม่ ปรับสินค้าไทยให้เหมาะกับผู้ซื้อในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย และที่สำคัญไทยจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ จากปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวสูงกว่า 70% จึงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง 

ดังนั้นควรจะลดสัดส่วนการส่งออกให้เหลือ 50% ของจีดีพี และพึ่งพาตลาดภายในประเทศอีก 50% โดยการพึ่งพาตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้สินค้าไทยส่งออกลดลง เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนสินค้าให้กับจีน และประเทศต่างๆผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายเพื่อส่งออกไปทั่วโลก ทำให้เมื่อจีนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสินค้าไทยก็กระทบไปด้วย

157710763733