ธุรกิจแบงก์ ปี 2563 เตรียมรับโจทย์เศรษฐกิจ-การเปลี่ยนแปลง

ธุรกิจแบงก์ ปี 2563 เตรียมรับโจทย์เศรษฐกิจ-การเปลี่ยนแปลง

ธุรกิจแบงก์ ปี 2563 เตรียมรับโจทย์เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของหลักเกณฑ์และกติกาทางการ

เศรษฐกิจไทยที่ยังมีแนวโน้มเติบโตในกรอบจำกัด ตลอดจนการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในภาคการเงินที่จะเริ่มใช้ในปี 2563 นับเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มแรงกดดันต่อสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน และมีผลทำให้โจทย์ท้าทายของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในเรื่องการประคองความสามารถในการทำกำไรทวีความเข้มข้นมากขึ้น ในระหว่างที่หลายธนาคารเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อหาช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ๆ โดยเฉพาะจากฐานธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพเศรษฐกิจไทยปี 2563 ที่ยังขยายตัวในกรอบต่ำ ยังคงเป็นแรงกดดันต่อแนวโน้มการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลัก ทั้งการปล่อยสินเชื่อ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย

ภาพรวมสินเชื่อปี 2563 อาจเติบโตเพียง 3.5% (ใกล้เคียงกับปี 2562) โดยคาดหวังการเติบโตต่อเนื่องของสินเชื่อธุรกิจที่ 2.0% ตามแรงหนุนจากบรรยากาศการลงทุน อย่างไรก็ดี สัญญาณอ่อนแอของกำลังซื้อในประเทศและตลาดส่งออก ตลอดจนแรงกดดันด้านต้นทุนและความผันผวนของค่าเงินบาทที่มีผลกระทบต่อสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ อาจทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีปี 2563 ยังเติบโตเพียง 1.0% ซึ่งแม้จะเป็นทิศทางที่ดีขึ้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำของปี 2562 ที่คาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีจะหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ 1.8% ส่วนทิศทางสินเชื่อรายย่อยนั้น อาจชะลอการเติบโตลงมาที่ 6.3% เนื่องจากพอร์ตหลักอย่างสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เร่งตัวไปมากแล้วในปี 2562 ประกอบกับภาระหนี้ที่สูงจะเป็นข้อจำกัดในการก่อหนี้ก้อนใหม่ในผลิตภัณฑ์สินเชื่ออื่นๆ

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และ NIM  มีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งจากสินเชื่อที่เติบโตในกรอบต่ำ และความเป็นไปได้ที่ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อจะได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมหากอัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงอีกในปี 2563 โดยคาดว่า NIM ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2563 จะชะลอลงมาอยู่ในกรอบประมาณ 2.70-2.80% (จากคาดการณ์ที่ 2.82% ในปี 2562) โดย NIM อาจอยู่ใกล้เคียงกรอบด้านต่ำ หากธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพียงขาเดียว หรือปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ ร่วมกับการลดดอกเบี้ยเงินฝากเพียงบางผลิตภัณฑ์ เช่น เงินฝากประจำระยะยาว ทั้งนี้ ประเมินว่า หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR ลง 0.25% เพียงอย่างเดียว จะมีผลกระทบต่อ NIM ประมาณ 0.8-0.9%

รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ยังมีข้อจำกัดการฟื้นตัวเช่นกัน โดยแม้ว่าผลกระทบจากการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลจะทยอยลดลงตามลำดับ แต่คงต้องยอมรับว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมาขยายตัวอย่างเต็มที่ กลายเป็นข้อจำกัดการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนอื่นๆ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในเบื้องต้นว่า รายได้ค่าธรรมเนียมอาจเผชิญกรอบการเติบโตที่จำกัดในปี 2563 โดยอาจขยายตัวในระดับไม่เกิน 1.0-2.0%  จากตัวเลขคาดการณ์ในปี 2562 ที่ 1.3%

ปัญหาคุณภาพสินเชื่อ ต้องได้รับการดูแลในเชิงรุกต่อเนื่องในปี 2563 เนื่องจากความสามารถในการชำระคืนหนี้ของทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการยังน่าจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนในจังหวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตลอดจนปัจจัยกดดันเฉพาะของแต่ละธุรกิจ โดยคงต้องเฝ้าระวังประเด็นคุณภาพของสินเชื่อผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วน NPLs  (ของระบบธ.พ.ไทยและสาขาธ.พ.ต่างประเทศ) ในปี 2563 มีโอกาสยืนในระดับที่สูงกว่า 3.00% ตลอดทั้งปี และอาจปิดสิ้นปี 2563 ที่กรอบประมาณ 3.02-3.10%

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังต้องเตรียมรับมือกับโจทย์การปรับเปลี่ยนกรอบกฎเกณฑ์ และแนวนโยบายของทางการ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อม/เงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปี 2563 โดยนอกเหนือจากมาตรฐาน TFRS 9 แล้ว คงต้องรอติดตามกรอบกติกา/แนวนโยบาย/เกณฑ์ในด้านอื่นๆ ที่น่าจะมีการทยอยเปิดเผยรายละเอียดออกมาเพิ่มเติมในระหว่างปี ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยรวบรวมประเด็นหลักๆ เกี่ยวกับกติกาดังกล่าวไว้ ดังนี้

157710446528

157710449263

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากการที่ธปท.ได้ทยอยชี้แจงเรื่องกรอบเวลาการใช้มาตรฐาน TFRS 9 ตลอดจนเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ดังนั้นอาจสามารถกล่าวได้ว่า ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีเวลาเตรียมการและน่าจะมีความพร้อมสำหรับเรื่องมาตรฐาน TFRS 9 แล้ว อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญหลังจากนั้น ก็คือ ธนาคารพาณิชย์จะต้องติดตามและดำเนินการในเชิงรุกเพื่อดูแลคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อ โดยไล่เรียงตั้งแต่การวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้แต่ละราย การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ การติดตามเพื่อประเมินสถานะทางการเงินของลูกค้า การแก้ไขและการปรับโครงสร้างหนี้เมื่อลูกหนี้เผชิญปัญหาไม่สามารถชำระคืนหนี้ ตลอดจนการตัดจำหน่ายและขายหนี้เสียบางส่วนออกไป เพราะกระบวนการทั้งหมดจะมีผลเชื่อมโยงกับแนวทางการกันสำรองในระดับที่เพียงพอและเหมาะสมของแต่ละธนาคาร 

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปี 2563 จะเป็นอีกปีที่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทายรอบด้าน ซึ่งน่าจะเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นต่อผลการดำเนินงาน โดยไล่เรียงจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เติบโตในกรอบจำกัด เกณฑ์การกำกับดูแลของทางการที่มุ่งเน้นการดูแลและสร้างความเป็นธรรมต่อทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการ ตลอดจนมาตรฐาน TFRS 9 ซึ่งภายใต้เงื่อนไขของปัจจัยเหล่านี้ คาดว่า สินเชื่อของระบบธ.พ.ไทยปี 2563 อาจเติบโตในกรอบจำกัดที่ 3.0-3.8% ขณะที่ NIM น่าจะชะลอลงมาที่ 2.70-2.80% ตามแรงกดดันจากรายได้ดอกเบี้ยและโอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระหว่างปี ในขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้น เศรษฐกิจที่เติบโตในกรอบต่ำอาจทำให้สัดส่วน NPLs ระบบธนาคารพาณิชย์ขยับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 3.0% ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ภาพที่จะเห็นต่อเนื่องในปี 2563 ก็คือ การหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ ทั้งที่ดำเนินการผ่านการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการของสาขา ทบทวนจำนวนสาขาที่ให้บริการและบริหารจัดการให้จำนวนพนักงานต่อสาขามีความเหมาะสม รวมไปถึงการเพิ่มทักษะความชำนาญให้พนักงานให้มีศักยภาพที่หลากหลาย ตลอดจนการเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสภาวะการแข่งขันในตลาดให้บริการทางการเงินที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นจากผู้เล่นอื่นๆ อาทิ ผู้ประกอบการ FinTech/TechFin และผู้ประกอบการ e-commerce

โดยในปี 2563 น่าจะเห็นธนาคารพาณิชย์เร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านของการยกระดับการให้บริการทางการเงินด้วยการขยายฐานลูกค้าและเร่งสร้างรายได้ใหม่ๆ จากแพลตฟอร์มของธนาคารพาณิชย์ อาทิ การปล่อยสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงผ่านช่องทางออนไลน์ ตลอดจนการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของพันธมิตรเพื่อเติมเต็มระบบนิเวศของบริการทางการเงินให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องติดตามในระหว่างปี 2563 น่าจะอยู่ที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจ ระดับความเข้มข้นของกติกาและแนวนโยบายของทางการที่จะเกิดขึ้นทั้งในเรื่องค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ย ตลอดจนทิศทางของผลการประกอบการ ซึ่งภาพทั้งหมดนี้อาจมีผลต่อเนื่องมายังบทบาทของธนาคารพาณิชย์ในการทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

1577104611100