10 ปีผ่านไป อะไรเปลี่ยนบ้างที่ ‘แมนฯ ยูไนเต็ด’

10 ปีผ่านไป อะไรเปลี่ยนบ้างที่ ‘แมนฯ ยูไนเต็ด’

ระยะเวลา 10 ปี สำหรับบางคนถือเป็นการเดินทางที่ยาวนานพอตัว และกลายเป็นช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยน ลองผิดลองถูก ภายหลังจากที่ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่สดใสเท่ากับ 10 ปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับ "อดีต" สโมสรยิ่งใหญ่แห่งอังกฤษอย่าง "แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด"

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรฟุตบอลที่คนไทยรู้จักกันดี และเป็นทีมที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมากที่สุดถึง 13 สมัย แต่ภายหลังจากหมดยุคของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เมื่อสิ้นฤดูกาล 2012-2013 พวกเขาก็ประสบปัญหา ทั้งจากฟอร์มการเล่นในสนาม ศรัทธาของแฟนบอล ธุรกิจซื้อขายนักเตะที่ผิดพลาด รวมไปถึงการเปลี่ยนผู้จัดการทีม 5 คนไล่ตั้งแต่ เดวิด มอยส์, ไรอัน กิ๊กส์ (รักษาการแทนมอยส์ในปลายฤดูกาลเดียวกัน), หลุยส์ ฟาน กัล, โชเซ มูรินโญ และโอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ในระยะเวลา 6 ปีเท่านั้น

หลังจากบรมกุนซือเลือดสก็อต จากไปแมนฯ ยูไนเต็ดก็ทำผลงานได้ดีที่สุดเพียงแค่อันดับ 2 ในการแข่งขันพรีเมียร์ลีกเมื่อปี 2016-2017 ในยุคของมูรินโญ และก็มีแต้มตามหลังทีมอริร่วมเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี ถึง 19 แต้ม (แมนฯ ซิตี คะแนนรวม 100 คะแนน)

ส่วนฤดูกาลที่แล้ว (2018/19) ฟอร์มการเล่นของพลพรรคปิศาจแดงก็ออกทะเลไปไกลกว่าเดิม เพราะจบฤดูกาลที่อันดับที่ 6 แข่ง 38 นัด มี 66 แต้ม ห่างจากแมนเชสเตอร์ ซิตี ซึ่งเคยอยู่ใต้ร่มเงาความสำเร็จของแมนฯ ยูไนเต็ดมาตลอดในยุคเซอร์เฟอร์กี้ ถึง 32 แต้ม

157733822250

ไม่ต้องพูดถึงฤดูกาลนี้ ภายใต้การคุมทีมของ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ตำนานนักเตะของสโมสรที่ผันตัวมาเป็นกุนซือจอมคิดบวกและรับไม้ต่อจากมูรินโญตั้งแต่กลางซีซั่นที่แล้ว จนถึงขณะนี้ผ่านไปเกือบครึ่งฤดูกาล ทีมอยู่อันดับ 8 ด้วยฟอร์มการเล่นที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และที่สำคัญ โซลชาร์เหมือนยังหาทรงบอลที่แท้จริงไม่เจอ!

นอกจากเรื่องผลการแข่งขัน การซื้อ-ขายนักเตะในช่วงหลัง ๆ ก็ดูน่าผิดหวัง พวกเขาถูกวิจารณ์ว่าซื้อนักเตะบางคนในราคาแพงเกินจริงโดยที่ทีมได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า

อาทิ การซื้อ ปอล ป็อกบา ราคา 89 ล้านปอนด์, โรเมลู ลูกากู 75 ล้านปอนด์, อังเคล ดิ มาเรีย 59 ล้านปอนด์, เฟร็ด 52 ล้านปอนด์ นี่ยังไม่ควมถึงดีลอื่น ๆ ที่แสดงว่าการทำธุรกิจเรื่องตัวผู้เล่นของแมนฯ ยูไนเต็ด พังไม่เป็นท่า

เช่น กรณีของมัตเตโอ ดาร์เมียน แบ็คชาวอิตาลี ที่เพิ่งขายให้กับปาร์มาในราคาเพียง 1.4 ล้านปอนด์ ทั้ง ๆ ที่ซื้อมาจากโตริโนด้วยราคา 12.7 ล้านปอนด์ หรือกรณีของอเล็กซิส ซานเชซ ที่แมนฯ ยูไนเต็ดฯ คว้าตัวมาด้วยเงื่อนไขค่าเหนื่อยถึง 500,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ในซีซั่นก่อน แต่ลงเล่นแค่เพียง 36 เกม และทำได้เพียง 5 ประตู

ส่วนฤดูกาลปัจจุบันพวกเขาทุ่ม 74 ล้านปอนด์เพื่อซื้อผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา 3 ราย แต่กลับขายออกได้เงินกลับมาเพียง 28 ล้านปอนด์

ถึงตรงนี้ ถ้าถามว่าอะไรพอจะเป็นสิ่งที่แมนฯ ยูไนเต็ดยังคงรักษามาตรฐานในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กับรอบ 10 ปีก่อนหน้า เห็นทีคงหนีไม่พ้นกับการเป็นแบรนด์สโมสรที่มีมูลค่าอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเว็บไซต์ของสโมสรระบุว่า ในปี 2019 แมนฯ ยูไนเต็ด ทำรายได้รวมทั้งสิ้น 627 ล้านปอนด์ หรือราว 25,000 ล้านบาท

157735368454

แบ่งเป็นสัดส่วนจาก MATCH DAY (ค่าเข้าชม) 18% ค่าสปอนเซอร์โฆษณา 44% ค่าถ่ายทอดสด 38% เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ซึ่งมีรายได้รวม 279 ล้านปอนด์หรือเกือบ 11,000 ล้านบาท จาก MATCH DAY 41% ค่าสปอนเซอร์โฆษณา 24% ค่าถ่ายทอดสด 35%

ในปัจจุบัน แมนฯ ยูไนเต็ด เปลี่ยนโครงสร้างรายได้หลัก มาจากฝั่ง Commercial หรือธุรกิจพาณิชย์ที่รวมตั้งแต่การขายสปอนเซอร์ให้กับแบรนด์สินค้า, การจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์ต่างๆ และการขาย Digital Content ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา สโมสรก็สร้างยอดผู้ติดตามในโลกออนไลน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นยอดผู้ติดตามในเฟซบุ๊ค ซึ่งมีอยู่จำนวน 73.3 ล้านคน ทวิตเตอร์มากกว่า 23.1 ล้านคน อินสตาแกรมกว่า 31.9 ล้านคน ไลน์อยู่ที่ 15.6 ล้านคน เว่ยโป๋ของจีน กว่า 9.4 ล้านคน และยูทูบอีกกว่า 2 ล้านคน

ดูเหมือนว่า ผลงานในสนามไม่ได้ส่งผลถึงรายได้ แต่เอาเข้าจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อไม่นานมานี้ นิตยสารฟอร์บสเพิ่งเผยแพร่ผลจัดอันดับสโมสรกีฬาที่มีมูลค่าแบรนด์มากที่สุดในโลก ปรากฏว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อันดับร่วงจากที่ 2 ไปที่ 6 โดยถูกสำรวจว่ามีมูลค่าการตลาดในปี 2019 ที่ 3,810 ล้านดอลลาร์ มูลค่าลดลงจากปีก่อนที่ประเมินได้ 4,120 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 8% ขณะที่สโมสรเรอัล มาดริด ทีมอันดับ 3 ของลีกสเปนปี 2019 เป็นสโมสรที่มีมูลค่าการตลาดมากที่สุดในโลกด้วยมูลค่า 4,210 ล้านดอลลาร์

ผลประกอบการข้างต้น เป็นเพียงจิ๊กซอว์หนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความเหมือนและความแตกต่างของแมนฯ ยูไนเต็ดในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หากองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ จนทำให้แบรนด์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีมูลค่าลดลงเกือบ 10% ย่อมมาจากผลงานการแข่งขันที่ย่ำแย่ โดยมีสไตล์การเล่นที่ขาดความต่อเนื่อง เมื่อเจอทีมใหญ่ท็อป 6 ของลีก ขุนพลแมนฯ ยูไนเต็ดจะเล่นเก่งผิดหูผิดตาและเก็บแต้มได้แทบทุกนัด แต่เมื่อเจอทีมชื่อชั้นเป็นรองกว่า ก็พร้อมสะดุดหรือแพ้ให้อย่างง่าย ๆ

นอกจากนี้ หากทีมจบฤดูกาลด้วยอันดับ 8 อย่างในปัจจุบัน หมายความว่า พวกเขาจะพลาดตั๋วไปเล่นยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก (ยูซีแอล) ในฤดูกาลหน้าอีกหน (เช่นเดียวกับฤดูกาลนี้) ทั้งคุณภาพของทีม ความสุข และศรัทธาของแฟนบอลที่มีต่อทีมยิ่งน้อยลงไปเรื่อย ๆ

ที่สำคัญ เมื่อแมนฯ ยูไนเต็ดเผชิญกับวิกฤติศรัทธา รายได้จากแฟนบอลที่ซื้อตั๋วเข้าชมและสินค้าสโมสรอาจจะลดลงไปด้วย อีกทั้งสปอนเซอร์ทั้งหลายก็อาจจะมองว่าชื่อ “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” คงขายได้ยากและไม่น่าดึงดูดมากพอในทางการตลาด ในไม่ช้า เม็ดเงินที่เคยหลั่งไหลเข้าสโมสรอย่างมหาศาลก็อาจอันตรธานเข้ากลีบเมฆไปพร้อมชื่อเสียงและประวัติศาสตร์ของสโมสรก็เป็นได้