'ภาษีดิจิทัล' ดาบสองคมธุรกิจออนไลน์

'ภาษีดิจิทัล' ดาบสองคมธุรกิจออนไลน์

โลกยุค 4.0 ที่การซื้อสินค้า-บริการจบได้เพียงนิ้วสัมผัสบนมือถือ แต่หลายประเทศยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้เกี่ยวกับกฎระเบียบที่จะนำมาบังคับใช้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แล้วหากออกกฎหมายมา จะเป็นผลดีกับทุกประเทศหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ดี

ขณะนี้หลายประเทศพยายามผลักดันการจัดเก็บภาษีสินค้าดิจิทัล แม้จะมีข้อติดขัดภายใต้ข้อตกลงของสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่กำหนดให้งดเว้นการเก็บภาษีการทำธุรกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ปี 2541 โดยดับเบิลยูทีโอต้องหารือกับชาติสมาชิกทุกปี เพื่อตัดสินใจว่าจะมีการใช้ข้อตกลงนี้ต่อไปหรือไม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

ค้าปลีกเร่งบูม 'ออนไลน์' ชี้ 3 ปียอดโตก้าวกระโดด

'ยักษ์จีน' ฮุบอีคอมเมิร์ซไทย จี้รัฐเข้มกำกับก่อนลามกระทบภาคผลิต-ค้าปลีกทั้งระบบ

'รูดบัตร' ช้อปออนไลน์พุ่ง 'คลัง'อุดช่องโหว่รีดภาษี


ล่าสุด อินเดียและแอฟริกาใต้ ได้ทำหนังสือถึงดับเบิลยูทีโอ ขอให้พิจารณาไม่ใช้ข้อตกลงนี้ โดยให้เหตุผลว่าสินค้าดิจิทัลมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน แต่การผลักดันข้อตกลงไม่เก็บภาษีสินค้าดิจิทัลก็ถูกมองว่า เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของชาติมหาอำนาจในการส่งออกสินค้าดิจิทัลโดยไม่ต้องเสียภาษีให้กับประเทศปลายทาง ซึ่งจะมีความสูญเสียรายได้จากภาษีในส่วนนี้แตกต่างกันไป

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดว่า การงดเว้นการเก็บภาษีสินค้าดิจิทัล ส่งผลให้หลายประเทศสูญเสียรายได้มากถึงปีละ 10,400 ล้านดอลลาร์ ส่วนดับเบิลยูทีโอ ระบุว่า เฉพาะประเทศกำลังพัฒนาเพียงที่เดียวก็สูญเสียรายได้ปีละกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ หากไม่เก็บภาษีดิจิทัล

สวนทางกับรายงานวิเคราะห์ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ที่บอกว่า การสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีของประเทศปลายทางอยู่ระหว่าง 280-8,000 ล้านดอลลาร์ และหากเก็บภาษีจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคในประเทศปลายทาง มากกว่าที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ เพราะราคาสินค้าดิจิทัลจะแพงขึ้น

แต่การพิจารณายกเลิกข้อตกลงงดเว้นการเก็บภาษีธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากชาติสมาชิกดับเบิลยูทีโอทั้งหมดเสียก่อน และขณะนี้มีชาติสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 21 ประเทศ นำโดยจีน แคนาดา และสหรัฐ ที่ต้องการให้งดเว้นการเก็บภาษีต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน จนถึงเดือน มิ.ย. ปี 2563

ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป เสนอร่างกฎหมายเก็บภาษีดิจิทัลอยู่ที่ 3% ของรายได้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ โดยกลุ่มสมาชิกทั้ง 28 ชาติได้หารือร่วมกันหลายครั้งถึงแนวทางการเก็บภาษีดังกล่าว โดยจะเริ่มจากกลุ่ม "GAFA" คือ กูเกิล แอ๊ปเปิ้ล เฟซบุ๊ค และอเมซอน เนื่องจากบริษัทเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีรายได้รวมกันทั่วโลกปีละกว่า 750 ล้านยูโร และมีรายได้ในอียูปีละกว่า 50 ล้านยูโร

แต่การหารือในประเด็นนี้ระหว่างชาติสมาชิกอียูยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ เนื่องกลุ่มประเทศขนาดเล็ก ที่ได้ผลประโยชน์จากการที่บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติเข้ามาเปิดสำนักงานกังวลว่า หากมาตรการเก็บภาษีดิจิทัลที่ 3% อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั้ง 28 ประเทศ อาจทำให้เสียเปรียบชาติสมาชิกใหญ่ๆ อย่างฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งจะทำให้บริษัทข้ามชาติยอมไปเสียภาษีในแต่ละประเทศที่เข้าไปทำธุรกรรมทางธุรกิจ ขณะที่บางประเทศเห็นว่า จะทำให้เกิดการเก็บภาษีซ้ำซ้อนในกลุ่มอียู และอาจเป็นการละเมิดกฎการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ที่ทำให้สหรัฐดำเนินมาตรการตอบโต้อียู

ในเมื่อชาติสมาชิกอียูทั้ง 28 ประเทศยังตกลงกันไม่ได้ ฝรั่งเศส จึงเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ก่อน ด้วยการผ่านร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการเก็บภาษีผู้ให้บริการดิจิทัล โดยจะเรียกเก็บภาษี 3% จากบริษัทดิจิทัลใดๆ ที่มีชาวฝรั่งเศสเป็นผู้บริโภค บริษัทนั้นต้องมีรายได้รวมจากทั่วโลกมากกว่า 750 ล้านยูโร และมีรายได้ในฝรั่งเศสมากกว่า 25 ล้านยูโร 

157709587643

เป้าหมายหลักของการเก็บภาษีนี้คือ บริษัทดิจิทัลที่นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานไปใช้ในการขายโฆษณาทางออนไลน์ ซึ่งจะส่งผลต่อบริษัทกว่า 30 แห่ง ครอบคลุมทั้งบริษัทสหรัฐ บริษัทจากจีน เยอรมนี สเปน อังกฤษ แม้กระทั่งบริษัทของฝรั่งเศสเอง

ฝรั่งเศส ยืนยันว่า กฎหมายภาษีฉบับนี้เป็นแค่มาตรการชั่วคราวและจะใช้จนกว่าสมาชิกของอียูสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับกฎหมายภาษีดิจิทัลได้แล้ว และมั่นใจว่ากฎหมายการเก็บภาษีนี้จะช่วยให้ฝรั่งเศสมีรายได้มากถึง 500 ล้านยูโร ในปี 2562 ก่อนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป

ขณะที่อังกฤษ ได้เผยแพร่ร่างกฎหมายการเก็บภาษีดิจิทัล โดยจะเรียกเก็บภาษีในอัตรา 2% จากรายได้รวมของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย บริการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และตลาดออนไลน์ที่มีชาวอังกฤษเป็นผู้บริโภค บริษัทเทคโนโลยีเหล่านั้นต้องมีรายได้รวมทั่วโลกมากกว่า 500 ล้านปอนด์ และ 25 ล้านปอนด์ในอังกฤษ ซึ่งร่างกฎหมายเก็บภาษีจะเริ่มใช้ในเดือน เม.ย. ปี 2563 และคาดว่าจะทำให้รัฐบาลมีรายได้กว่า 400 ล้านปอนด์ในปี 2565

หากขยับเข้ามาใกล้หน่อยอย่างในภูมิภาคอาเซียน ก็มีอินโดนีเซีย ที่เตรียมออกกฎหมายที่จะทำให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่าง อัลฟาเบท อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล และบริษัทอเมซอนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยนางศรีมุลยานี อินทราวาตี รัฐมนตรีคลังของอินโดนีเซีย ระบุว่า บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำโลกเหล่านี้จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม "สถานประกอบการถาวร" ที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับอินโดนีเซีย ไม่ว่าบริษัทเหล่านี้จะมีสำนักงานอยู่ในประเทศนี้หรือไม่ก็ตาม

"เป็นเพราะบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แม้พวกเขาจะไม่มีสำนักงานสาขาในอินโดนีเซีย กูเกิ้ล อเมซอน และเน็ตฟลิกซ์ เป็นตัวอย่างของบริษัทที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายใหม่ของอินโดนีเซีย" รัฐมนตรีคลังอินโดนีเซีย กล่าว

ไม่ต้องแปลกใจที่หลายประเทศตื่นตัวกับเรื่องนี้ เพราะรายได้ในส่วนนี้มหาศาลและนับวันยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันกว่า 4 พันล้านคน หรือ 53% ของประชากรทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว และ 92.6% ของจำนวนนี้ ซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์บนมือถือ

ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2564 ผู้ซื้อในตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 2.1 พันล้านคน จาก 1.66 พันล้านคนในปี 2559 โดยมีอเมซอน ครองส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซโลกในสัดส่วนมากถึง 44% และ 42% ของนักช้อปทั่วโลกนิยมจ่ายค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิต ส่วนนักช้อปออนไลน์เกือบ 61% ไม่ซื้อสินค้าเพราะขาดความเชื่อมั่นในแบรนด์สินค้า

นอกจากนี้การจ่ายเงินผ่านมือถือจะทะลุ 50% และจะกลายเป็นรูปแบบการจ่ายเงินกระแสหลักในการซื้อสินค้า-บริการภายในปี 2569