คกก.ยาเสพติดถกวันนี้ ปลดล็อก "กระท่อม"

คกก.ยาเสพติดถกวันนี้ ปลดล็อก "กระท่อม"

คกก.ยาเสพติดประชุม 24 ธ.ค.นี้ ถกประเด็นปลดล็อก “กระท่อม” ชง 2 ทางเลือก หลุดจากยาเสพติด- อนุญาตนำมาใช้เฉพาะทางการแพทย์แบบกัญชา กพย.ระบุเบื้องต้นพบคัมภีร์ยาหลวงมีตำรับยาเข้าพืชกระท่อม 18 ตำรับ ขณะที่อเมริกามีสิทธิบัตรกระท่อมตั้งแต่ 55 ปีก่อน

         นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 กระท่อมถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เช่นเดียวกับกัญชา ในการปลดล็อกระท่อมออกจากยาเสพติดจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งในวันที่ 24 ธ.ค. 2562 จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ โดยจะมีการนำวาระเรื่องกระท่อมเข้าสู่การพิจารณาด้วยว่าจะมีแนวทางอย่างไร จะปลดล็อกแล้วนำมาใช้เฉพาะทางการแพทย์แบบกัญชา หรือจะปลดออกจากยาเสพติดเลย จำเป็นที่จะต้องพิจารณาหารือร่วมกัน ขณะนี้ทราบว่ากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีการรวบรวมข้อมูลประโยชน์ในการนำกระท่อมมาใช้ทางการแพทย์ เป็นตำรับยาต่างๆ ว่ามีสรรพคุณในการรักษาอะไรบ้าง คาดว่าจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการฯด้วย

           “ส่วนข้อกังวลว่า หากปลดล็อกแล้วจะนำมาใช้เรื่องของการเสพนั้น ไม่ว่าจะปลดล็อกออกมาในรูปแบบใด ก็อาจจะต้องมีการออกระเบียบในการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการเอาไปใช้ในทางที่ผิด”นพ.ไพศาลกล่าว

         นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การผลักดันกระท่อมให้เป็นยาและนำมาใช้ในทางการแพทย์นั้น ตามกฎหมายยังคงเป็นยาเสพติด หากจะนำมาใช้อาจจะต้องทำในรูปแบบเดียวกับกัญชา คือ มีการคลายล็อกให้นำมาใช้ได้ ขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลตำรับตำราของไทยมีการเข้าสูตรกระท่อมหรือไม่ รักษาโรคอะไร มีการจัดการอย่างไร เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณา หากเห็นชอบก็สามารถเสนอต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ลงนาม เพื่อประกาศใช้เป็นตำรับยาที่มีกระท่อมปรุงผสมในการรักษาได้

         ด้าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุเกี่ยวกับกระท่อมไว้ในวารสาร ยาวิพากษ์ จัดทำโดยกพย.ว่า พืชกระท่อมใช้เป็นยาขยันได้อย่างชัดเจน และยังมีกลไกการทำงานที่แสดงศักยภาพคล้ายเมธาโดนที่ใช้ทดแทนยาเสพติด กรมการแพทย์แผนไทยฯได้รวบรวมตำรับยาที่เข้าพืชกระท่อมได้ 18 ตำรับจากหลากหลายคัมภีร์ ทุกคัมภีร์ล้วนเป็นคัมภีร์ยาหลวงทั้งสิ้น ได้แก่ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ตำรายาโรงพระโอสถสมัยรัชกาลที่ 2 ตำรายาศิลาจารึกวัดโพธ์สมัยรัชกาลที่ 3 ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์สมัยรัชกาลที่ 5 ตำรายาพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เจ้ากรมหมอหลวงในรัชกาลที่ 5 ตำรายาเวชศึกษาของพระยาพิศณุประสาทเวช(หมอคง ถาวรเวช) ซึ่งเป็นตำราเภสัชแผนโบราณของแพทย์หลวงรัชกาลที่ 5 ตำรายาแพทย์ตำบลของพระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี(หมอสุ่น สุนทรเวช)แพทย์หลวงประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 6 และคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ เป็นต้น

         “กพย.สนับสนันการจัดการเพื่อความมั่นทางยา โดยเฉพาะการจัดการเรื่องสิทธิบัตรยาจากกระท่อมและจากกัญชา ซึ่งสำหรับกระท่อมนั้น พบว่า ในสหรัฐอเมริกามีสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 จนถึงปี พ.ศ.2557 ก็ยังมีการได้รับอนุมัติสิทธิบัตรอยู่ ในขณะที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้ข้อมูลว่า ไทยยังไม่มีการจดสิทธิบัตรสารจากกระท่อมเลย”ผศ.ภญ.นิยดาระบุ

            ขณะที่ภญ.วัจนา ตั้งความเพียร เภสัชกรชำนาญการ รพ.เจ้าพระยาอภันภูเบศร ระบุไว้ในวารสารฉบับเดียวกันว่า การใช้กระท่อมในวิถีพื้นบ้านนั้น อ้างอิงจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ของดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร พบว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวไร่ชาวนานิยมเคี้ยวกระท่อมเป็นยาชูกำลัง ทำให้ทนต่องานกลางแจ้ง ทนร้อน ทนแดดและทำให้หลับสบาย ทุกบ้านมีปลูกไว้ใช้ประโยชน์หลากหลาย หญิงคลอดบุตรก็ใช้ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัว มีกำลังกลับคืน ใช้ต้มน้ำเดือดดื่มเป็นประจำ ซึ่งกระท่อมจัดเป็นยารสฝาด มีฤทธิ์จำพวกสมาน คุมธาตุ แก้ท้องร่วง ท้องเสีย แก้บิดมูกเลือด ตำรับยาไทยหลายขบวนก็มีกระท่อมเป็นส่วนประกอบ การใช้กระท่อมปรากฏในตำราการแพทย์แผนไทยในรูปแบบยาตำรับที่แก้อาการบิด แก้ท้องเสีย เช่น ยาประสะกระท่อม ยาหนุมานจองถนน ปิดมหาสมุทร ตำรับยากล่อมอารมณ์ เป็นต้น

         “ในตำรับยาพื้นบ้าน ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับกระท่อมอยู่ในหลายตำรับ เช่น ตำรับรักษาเบาหวาน แก้โรคผิวหนัง เริม งูสวัด ปวดเมื่อย มากมายหลายตำรับที่วิถีพื้นบ้านใช้ดูแลตนเองมาช้านาน แม้บางครั้งการใช้กระท่อมมีโอกาสติด ไม่ได้กินจะไม่มีแรง ทำงานไม่ได้ ปวดกระดูก กระวนกระวาย หาวนอน แต่ชาวบ้านยืนยันว่า เลิกกระท่อมนั้นเลิกง่ายกว่าเลิกเหล้าเลิกบุหรี่หลายเท่า จากข้อมูลการใช้ทั้งแบบพื้นบ้านและในตำรับยาต่างๆ หากมีการต่อยอดความรู้ วิจัยหาประสิทธิภาพ ประสิทธิผลทางการแพทย์ของกระท่อมให้กว้างขวาง คนไทยคงได้ประโยชน์จากกระท่อมไม่น้อย”ภญ.วัจนาระบุ