'เรืองไกร' ร้อง กกต. เอาผิด 'ปารีณา' แทรกแซงจัดสรรที่ดินหรือไม่

'เรืองไกร' ร้อง กกต. เอาผิด 'ปารีณา' แทรกแซงจัดสรรที่ดินหรือไม่

"เรืองไกร" ร้อง กกต. สอบ "ปารีณา" หลังพบเข้าร่วมประชุมเร่งรัดจนท.ตรวจสอบที่ดิน "แม่ธนาธร" เป็นป่าชุมชน

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 62 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่ ส.ส.ก้าวก่าย แทรกแซงการพิจารณาของกรมป่าไม้ เกี่ยวกับที่ดินของ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ จ.ราชบุรี เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวเป็นป่าชุมชน ตามความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรมป่าไม้ได้ส่งเอกสารให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ตนเองเป็นกรรมาธิการฯ อยู่ด้วย จากเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นรายงานการประชุมของกรมป่าไม้ พบว่านอกจากจะได้มีการสรุปลำดับเหตุการณ์ การจัดตั้งป่าชุมนุมหมู่ที่ 14 บ้านหนองน้ำใส ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ที่ชาวบ้านมีการไปร้องเรียน น.ส.ปารีณา ขอให้ตรวจสอบที่ดินของ นางสมพร ซึ่งถือหนังสือ นส.2 และ นส. 3 เพราะต้องการให้ที่ดินดังกล่าวถูกตั้งเป็นป่าชุมชน จนกระทั่งมีการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ น.ส.ปารีณา ก็ได้เข้าไปร่วมประชุมด้วย เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 62

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า ในรายงานการประชุมดังกล่าวระบุถ้อยคำของ น.ส.ปารีณาที่แจ้งกับที่ประชุม ว่าจะกำชับประสาน เร่งรัด การตรวจสอบดังกล่าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าชุมชนได้เร็วขึ้น จึงเห็นว่าถ้อยคำนี้เข้าข่ายว่า น.ส.ปารีณา ใช้ตำแหน่ง ส.ส.ก้าวก่าย แทรกแซง การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น ผิดมาตรา 185(1) ต้องมาร้องต่อ กกต. เพราะหาก กกต. เห็นว่าผิดจริง ก็ต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของ น.ส.ปารีณา สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(7 ) ประกอบมาตรา 82 วรรค 4

“การที่คุณปารีณาดูแลช่วยเหลือประชาชนนั้นถูกต้องแล้ว แต่หมายถึงต้องตั้งกระทู้ญัตติในสภาผู้แทนราษฎร์ ถามว่าการไปร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่รัฐแล้วใช้ถ้อยคำในลักษณะเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่รีบดำเนินการถูกต้องแล้วหรือ จึงต้องมาร้องต่อ กกต. ให้พิจารณา ซึ่งอาจต้องเรียกเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาให้ปากคำว่าการใช้ถ้อยคำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดหรือไม่” นายเรืองไกร กล่าว