'ยักษ์จีน' ฮุบอีคอมเมิร์ซไทย จี้รัฐเข้มกำกับก่อนลามกระทบภาคผลิต-ค้าปลีกทั้งระบบ

'ยักษ์จีน' ฮุบอีคอมเมิร์ซไทย จี้รัฐเข้มกำกับก่อนลามกระทบภาคผลิต-ค้าปลีกทั้งระบบ

สินค้าจีนทะลักอีคอมเมิร์ซไทย ครองส่วนแบ่งตลาดเกิน 80% ชี้นโยบายรัฐเอื้อ เปิดทางจีนตั้งฐานโลจิสติกส์ กูรูคาดไทยสูญ "หลายหมื่นล้าน" ด้านสมาคมอีคอมเมิร์ซเร่งผู้ประกอบการไทยปรับตัว จี้รัฐออกมาตรการคุมเข้ม เก็บภาษีสกัดสินค้า หวั่นระยะยาวไทยขาดดุลค้าจีน

แม้อีคอมเมิร์ซประเทศไทย จะมีสัดส่วนเพียงแค่ 3% ของการค้าทั้งหมดของประเทศ แต่ไทย คือ หนึ่งในประเทศเป้าหมายของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีน รวมถึงโซเชียลมีเดียรายใหญ่ ด้วยพฤติกรรมคนไทยที่หันมาช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้นทำสถิติติดอันดับโลกหลายครั้ง ขณะที่ปัจจุบันสินค้าจีนกลายเป็นหนึ่งในสินค้าหลักที่ครองส่วนแบ่งตลาดในอีคอมเมิร์ซไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง   

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สินค้าจีนเข้ามามีบทบาทในไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากราคาที่ถูกแล้ว บางนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมไปถึงเรื่องภาษี ที่อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ แต่ในอีกมุมอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่เอื้อให้สินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนทะลักเข้ามาในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น 

อ่านข่าวเพิ่มเติม : 

ค้าปลีกเร่งบูม 'ออนไลน์' ชี้ 3 ปียอดโตก้าวกระโดด

'รูดบัตร' ช้อปออนไลน์พุ่ง 'คลัง'อุดช่องโหว่รีดภาษี

'ภาษีดิจิทัล' ดาบสองคมธุรกิจออนไลน์

  • หนุนรัฐหามาตรการดูแล

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (อีคอมเมิร์ซ) ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทย กล่าวว่า การลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากจีนมีความน่ากังวลมากกว่าการลงทุนธุรกิจจากต่างประเทศแบบเดิมๆ อย่างญี่ปุ่นที่มักจะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตต่างๆ ที่มักสร้างงานให้กับคนไทยด้วย แต่การลงทุนอีคอมเมิร์ซของจีน โดยเฉพาะในอีอีซี ที่ให้ยักษ์ใหญ่ของจีนเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หากมองกลับกันการลงทุนดูเหมือนเป็นการใช้พื้นที่ของประเทศไทยมากกว่า ไม่ได้มีการลงทุนแบบตั้งโรงงาน หรือมาสร้างเครื่องจักรใดๆ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการนำสินค้าจากจีนเข้ามากองไว้ในพื้นที่ที่เป็นเขตปลอดภาษี (Free Trade Zone) แล้วนำมาขายให้คนไทยและในอาเซียนต่ออีกที

อย่างไรก็ตาม นายภาวุธ กล่าวว่า ได้มีโอกาสเข้าพบกับ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางอีอีซีไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องสินค้าจีน โดยอยู่ระหว่างการศึกษาการนำสินค้าไทยขายไปจีนด้วย ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในโซลูชั่นที่จะช่วยผู้ประกอบการไทยได้

ขณะที่เขาเห็นด้วยที่กรมสรรพากรกำลังปรับโครงสร้างภาษี โดยสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาขายในไทย จะถูกเก็บภาษีตั้งแต่ 0 บาทแรก ส่วนราคาสินค้าที่สั่งจากต่างประเทศเข้ามาจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ตั้งแต่บาทแรก ซึ่งถือว่าเป็นผลดี เพราะในระยะยาวหากไทยไม่มีอะไรป้องกัน การบุกรุกของสินค้าจากต่างประเทศทางออนไลน์ ประเทศจะเสียดุลการค้ากับจีนอย่างมาก และกระทบไปวงกว้างถึงธุรกิจค้าปลีกทั้งประเทศ รวมไปถึงภาคการผลิต


  • สินค้าจีนครองอีคอมเมิร์ซไทย

นายภาวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันมากกว่า 60-70% เป็นสินค้าจีนที่ขายอยู่ในอีคอมเมิร์ซของไทย ขณะที่คาดว่า จะมีเม็ดเงินไหลออกไม่ต่ำกว่า 20-30% ของยอดขายอีคอมเมิร์ซทั้งหมด

"ผมลองเก็บข้อมูลในเว็บลาซาด้าในวันที่ 11 ต.ค.2562 แบ่งตามหมวดหมู่ โดยแยกเป็นสินค้าในประเทศและสินค้าจากจีน ปรากฏว่า จำนวนสินค้าในลาซาด้าทั้งหมด 41,777,029 ล้านชิ้น มีสินค้าไทย 21,994,514 ล้านชิ้น คิดเป็น 52.65% มีสินค้าจีน 18,652,606 ล้านชิ้น คิดเป็น 44.65% ซึ่งถือว่าเยอะมาก ขณะที่สินค้าจากประเทศอื่นๆ มีไม่มากเท่า"

157711289218

ขณะที่ เมื่อลงไปแต่ละหมวดหมู่ บางหมวดมีจำนวนสินค้าจีนจำนวนมาก เช่น รองเท้า นาฬิกา กระเป๋าเดินทาง อุปกรณ์กีฬา มีสินค้าจีนถึง 60-70% หรือสินค้าในกลุ่มเด็กอ่อน ของเล่น พวกสมาร์ทดีไวซ์ สินค้าพวกไอทีหรือแก็ดเจ็ททั้งหลาย โดยเฉพาะในลาซาด้า เป็นสินค้าจากจีนเกิน 50% 

เขากล่าวว่า ยิ่งมีอีอีซี จากที่เคยต้องรอสินค้าจากจีนเป็นเวลานาน แต่ปัจจุบัน สินค้าจากจีนมีพื้นที่มาฝากไว้ในประเทศไทยเรียบร้อย ทำให้สินค้าจากจีนจะถูกส่งเข้ามาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาจมองได้ว่า ผู้บริโภคอาจจะได้สินค้าที่ราคาถูกลง แต่สิ่งที่จะหายไป คือ เทรดเดอร์ (พ่อค้าคนกลาง) ที่เคยนำสินค้าจีนเข้ามาขาย และสินค้าที่จะได้รับผลกระทบแรก คือ กลุ่มแกดเจ็ท ที่ผลิตจากจีน ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่า เพราะสินค้ามาจากโรงงานโดยตรง อีกทั้งด้านหนี่งที่เริ่มเห็นแล้วคือ การเข้ามาผลิตสินค้าจีนในไทย หรือการมีสินค้าจีนที่มาปลอมเป็นสินค้าไทย เนื่องจากคนจีนชื่นชอบในสินค้าไทยมาก โดยเฉพาะประเภทสินค้าเครื่องสำอาง เช่น มาร์กหน้า

  • คาด 5 ปี ไทยสูญ 5 หมื่นล้าน

"เมื่อจีนมีช่องทางการส่งสินค้าโดยตรง และการนำสินค้าผ่านออนไลน์สามารถดั้มพ์สินค้าเข้ามาเป็นล้านๆ ชิ้น และถึงมือคนไทยได้เพียงไม่กี่วัน ส่วนตัวมีตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้คนไทยจะสั่งซื้อสินค้าผ่านลาซาด้า มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ปี 2563 คาดว่าอยู่ที่กว่า 10,000 ล้านบาท หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% และคาดว่าภายใน 5 ปี คนไทยจะซื้อสินค้าจีนผ่านลาซาด้าถึง 50,000 ล้านบาท" นายภาวุธ ประเมิน  

ขณะที่ยังมีความกังวล คนไทยที่เป็นผู้ที่ค้าขายสินค้าอยู่ โอกาสในการแข่งขันจะมีน้อยมาก ผู้ประกอบการต้องพยายามมองหาสินค้าอื่นๆ ที่ในมาร์เก็ตเพลสยังไม่มี และต้องพยายามสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาให้ได้ เพื่อที่จะแข่งกับสินค้าจีนเหล่านี้ 

  • แนะผู้ประกอบการปรับตัว

ขณะเดียวกัน ไม่ควรพึ่งแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่ต้องเริ่มบาลานซ์พอร์ต จัดสัดส่วนว่าจะไปในช่องทางไหนบ้าง จะพึ่งพาช่องทางใดช่องทางหนึ่งอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องเก็บข้อมูลของลูกค้าเป็นของตัวเอง และต้องเริ่มทำการตลาดกับลูกค้าเหล่านั้นโดยไม่ต้องผ่านใครทั้งมาร์เก็ตเพลสหรือโซเชียลมีเดีย ควรที่จะต้องมีช่องทางของตัวเอง มีข้อมูลของตัวเอง ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการเองได้ทั้งหมดจริงๆ

นายภาวุธ กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซของไทยปัจจุบันภาพรวมเติบโตขึ้นมา แม้ว่าในส่วนของอีมาร์เก็ตเพลสตอนนี้ของไทยไม่เหลือแล้วเพราะไม่มีใครสู้ ลาซาด้า หรือช้อปปี้ได้ แต่ยังมีอีกเซกเมนต์หนึ่งที่ยังมีโอกาสอยู่ คือ ฝั่งของโซเชียลคอมเมิร์ซ ซึ่งทั้งบรรดาพ่อค้า แม่ค้าที่ไลฟ์ขายของบนเฟซบุ๊ค บนไลน์ สินค้าบางตัวยังมีโอกาสอยู่ หากเราเจาะเข้าไปในบางหมวดหมู่ เช่น อาหารเสริม สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าประเภทความงาม สินค้าจีนยังไม่ค่อยมีเข้ามามากเท่าไหร่ เพราะยังมีปัญหาในเรื่องของ อย.อยู่

แต่ด้วยยังเป็นแพลตฟอร์มของต่างประเทศ จึงยังเกิดคำถามถึงเงินที่ประเทศไทยควรจะได้ ก็อาจไหลออกไปนอกประเทศด้วยเช่นกัน ภาครัฐจึงต้องเข้ามากำกับดูแลให้เกิดความเท่าเทียมกันของธุรกิจ ไม่เช่นนั้นสินค้าจากต่างประเทศอาจมาฉกฉวยโอกาสตรงนี้ไปจากประเทศไทยไปได้ทั้งหมด

โดยก่อนหน้านี้ มีผลวิจัยชี้ว่า ไทยคือผู้นำของตลาดโซเชียลอีคอมเมิร์ซ ด้วยตัวเลข 40% แซงหน้าทุกชาติในโลก ดังนั้นเชื่อว่าปี 2563 ตลาดนี้จะมีขนาดใหญ่มาก

  • อีคอมเมิร์ซไทยโตปีละ 30%

ด้านธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดซื้อขายออนไลน์ไทยโตขึ้นปีละ 30% มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี รูปแบบ business-to-consumer หรือ B2C การขายสินค้าไปยังผู้บริโภคทั่วโลกโดยตรง และ C2C เป็นการติดต่อโดยตรงระหว่างลูกค้ารายย่อยที่ซื้อขายกันเอง ซึ่งจุดเด่นของธุรกิจในลักษณะนี้เริ่มมีมากขึ้น เพราะแต่ละคนจะเป็นเจ้าของสินค้าและเปิดร้านค้าของตนเอง

ข้อมูลไพรซ์ซ่า ระบุว่า เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ต้องเน้นเจาะกลุ่มพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่ชื่นชอบการช้อปปิ้งผ่าน 3 ช่องทางที่มาแรง ได้แก่ 1.ผ่านโซเชียลมีเดีย 40% 2.อีมาร์เก็ตเพลส 35% 2.E-Tailers / Brands.com 25% โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ สินค้าแม่และเด็ก สุขภาพ ความงาม กลุ่มแฟชั่นเสื้อผ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ขณะที่การค้าออนไลน์แบบไร้พรมแดนจะเริ่มเข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะการทะลักของสินค้าจีน ทั้งนี้ อ้างอิงจากข้อมูลของสินค้าใน 3 มาร์เก็ตเพลสดังในไทยในปีนี้มีจำนวนสินค้าเติบโตมากขึ้นถึง 174 ล้านชิ้น โดยเป็นสินค้าจีนมากถึง 77%

  • สินค้าจีนแรงจี้รัฐกำกับดูแล

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการค้าออนไลน์ต้องรู้ คือ ปัจจุบันกลุ่มสินค้าประเภทเดียวกัน 80% คือ คู่แข่งที่ไม่ได้อยู่ในประเทศ การแข่งขันในทุกวันนี้ไร้พรมแดน ดังนั้น ต้องหาช่องทางโดยตรงที่สามารถขายสินค้าให้กับลูกค้า ขณะที่ตลาดซีแอลเอ็มวี ยังอยู่ในการพัฒนาระบบ ซึ่งตลาดรวมยังน้อยกว่าไทย ส่วนใหญ่ธุรกิจที่ไปลงทุนเป็นโซเชียลมีเดีย โดยปัจจุบันตลาดอินโดนีเซียน่าสนใจไม่แพ้เวียดนาม เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ แต่ต้องดูพันธมิตรให้ชัดเจนด้วย

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าห่วงคือสินค้าจากจีน สตาร์ทอัพที่ลงทุนสินค้าใหม่จะแข่งขันลำบาก ต้องเจาะกลุ่มให้ชัดเจน ขณะเดียวกันภาครัฐควรมีมาตรการป้องกันสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้ามา รวมถึงควรมีมาตรการกระตุ้นสตาร์ทอัพในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางในระยะเริ่มลงทุนโดยการยกเว้นภาษีให้ผู้ค้ารายย่อย

"ตอนนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตมาก เพราะง่ายต่อการสื่อสารทั้งรวดเร็วและดึงดูด โดยสินค้าที่มาแรง คือ แฟชั่น บิวตี้ อิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน ที่น่ากังวล คือ สินค้าจากจีนทะลัก ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการมีเกราะป้องกัน"