เปิดโรดแมพ ปี 63 สวทช.ตอบโจทย์เศรษฐกิจ 'บีซีจี'

เปิดโรดแมพ ปี 63 สวทช.ตอบโจทย์เศรษฐกิจ 'บีซีจี'

สวทช.เปิดโรดแมพขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี ระบุปี 63 จัดสรรงบ 5 พันล้านเดินเครื่องเต็มกำลังมุ่ง 4 อุตฯหลักครอบคลุมสมาร์ทฟาร์ม การแพทย์เฉพาะบุคคล โรงกลั่นชีวภาพ การท่องเที่ยวชุมชน ตั้งเป้าสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมกว่า 5 เท่าของเงินลงทุน

นาย ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ทิศทางการวิจัยและพัฒนาของ สวทช.ในปี 2563 จะเดินหน้าตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจบีซีจีสู่วิถีการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของบีซีจี ซึ่งเป็นไปหลักตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบด้วย เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาบิ๊กดาต้าเพื่อสนับสนุนและรองรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ

157701661684

ปี 2563 ได้รับจัดสรรงบประมาณกว่า 4,900 ล้านบาทจาก 4,200 ล้านบาทในปี 2562 ส่วนใหญ่จะลงทุนการวิจัยและมีบางส่วนที่จะต้องขยายผล พร้อมทั้งตั้งเป้าสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม 5 เท่าของค่าใช้จ่าย และจากรายได้ที่ขยายเป้าเพิ่มระหว่างปีนี้ จึงเชื่อว่าปี 2563 จะสร้างรายได้กว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัยกับภาคเอกชน รวมถึงบริการทางเทคนิคต่างๆ การขายสิทธิบัตรงานวิจัย การฝึกอบรมและการให้บริการทดสอบวิเคราะห์ โดยลูกค้าหลักยังคงเป็นภาครัฐและเอกชน จากนั้นก็จะรายได้ที่หามาได้ไปต่อยอดสู่การสร้างและพัฒนาโครงการวิจัยเพื่อส่งกลับไปยังประชาชนเช่นเดิม

เล็งลงทุนพัฒนาไบโอรีไฟเนอรี่

ผลงานสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าจะเน้นเรื่องของการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์การเดินหน้าบีซีจีใน 4 อุตสาหกรรม ดังนี้ ด้านไบโอเทคโนโลยี อาทิเช่น โครงการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีถังเลี้ยงปลาหนาแน่นในระบบปิด ยานยนต์อัตโนมัติในระดับ 3 ที่จะนำร่องใช้ต้นปี 2563 อีกทั้งเรื่องการขยายผลทางด้านสมาร์ทฟาร์ม โดยตั้งใจที่จะยกระดับสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าพรีเมียม อีกทั้งใช้วัตถุดิบให้น้อยลงแต่สามารถผลิตสินค้าคุณภาพสูง ปริมาณมากขึ้นและได้รับมาตรฐานระดับนานาชาติ โครงการขยายผลวิจัยสู่เอกชนในการสกัดสาระสำคัญเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรและอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ที่จะต่อยอดสู่การส่งออกมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 จากปี 2559 ที่มีมูลค่าการส่งออกเพียง 5 พันล้านบาท

ส่วนในเรื่องของพลังงานและชีววัตถุ จะเริ่มลงทุนโครงการไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) หรือ โรงกลั่นชีวภาพ ในการนำของเสียต่างๆ มาผลิตเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ เช่นเดียวกันกับการนำน้ำมันดิบมากลั่นเป็นเชื้อเพลิงรวมถึงเม็ดพลาสติกที่จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องจำนวนมากในประเทศไทย อีกทั้งจะขยับขึ้นจากฐานที่เป็นชีวมวลสู่กระบวนทางด้านเคมีชีวภาพ ต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลิตภาพได้เทียบเท่ากลุ่มปิโตรเคมีในอนาคต 5-10 ปี

ขณะเดียวกันทางด้านอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ จะทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานโดยโฟกัสไปที่การแพทย์ระดับจีโนมหรือพันธุกรรมคนไทยผ่านธนาคารข้อมูลจีโนมสู่การแพทย์แม่นยำ โดยมีหลายเทคโนโลยีที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงการแพทย์ได้ดีขึ้นในราคาถูกลง ส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะใช้ความรู้ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างเป็นเรื่องราวที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง พร้อมกันนั้นจะใช้ความรู้ต่างๆ สร้างเรื่องราวและจุดเด่นที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ลงสู่ชุมชน เชื่อว่าการพัฒนาใน 4 สาขายุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมตามบริบทของประเทศ จะช่วยทำให้ทุกประชาชนทุกเซกเตอร์ได้ผลประโยชน์อย่างสูงสุด และนี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 ภายใต้ BCG Economy Model

157701665140

วิจัยสร้างผลกระทบ 4.5 หมื่นล้าน

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาปีงบประมาณ 2562 สวทช.ได้เดินหน้าผลักดันผลงาน ในการสร้างขีดความสามารถของประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตอบโจทย์นโยบายประเทศไทย 4.0 ผ่านการมีส่วนร่วมผลักดันระบบวิจัยของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมจนเกิดเป็นผลงานต่างๆ หลายผลงาน ตอบโจทย์กลยุทธ์บริหารงานที่ตั้งไว้ อีกทั้งสามารถเติมเต็มในส่วนของ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy Model สอดรับกับการพลิกโฉมประเทศในการขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่พร้อมใช้งานได้ทันที

ทั้งนี้ สวทช.เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ได้มุ่งมั่นสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันใน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 สวทช.มีการใช้จ่ายงบประมาณกว่า 6-7 พันล้านบาท จนเกิดเป็นผลงานสู่การใช้จริงในแง่ของอุตสาหกรรม โดยมีการทำงานร่วมกันมากกว่า 2 พันโครงการ สร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ที่เกิดจากผลงานต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา และก่อให้เกิดการลงทุนด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคการผลิตและบริการหลายล้านบาท ซึ่งมีทั้งการรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัย การขายสิทธิบัตรรวมทั้งการให้คำปรึกษาต่างๆ

157701667737

ตัวอย่างผลงานวิจัยและพัฒนาในปี 2562 อาทิ การติดตั้งไอโอทีช่วยบริหารจัดการปัจจัยการผลิตในสวนผลไม้ของเกษตรกรต้นแบบ และในปี 2563 จะขยายผลไปในวงกว้างโดยเฉพาะ จ.ระยอง จันทบุรี อีกทั้งในแง่ของอุตสาหกรรมเราทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมมากกว่า 2 พันโครงการ อาทิ โครงการ LOMAR พัฒนาน้ำยางพาราเข้มข้นสำหรับผสมยางมะตอยเพื่อลาดผิวถนน ทดแทนการใช้น้ำยางพาราข้นทางการค้า ในปี 2562 มีการนำไปใช้ปูลาดทางเพิ่มขึ้น 1,850 กิโลเมตร สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 1,200 ล้านบาท

ขณะที่ตัวอย่างผลงานกลุ่มพลังงานและวัสดุและเคมีชีวภาพ อาทิ การจัดตั้ง แล็บทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทยและในอาเซียน โดยความร่วมมือกับ บริษัท เมอร์เซเดส เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเปิดให้ใช้บริการแล้ว ถุงพลาสติกย่อยสลายสำหรับขยะเศษอาหารที่ร่วมกับภาคเอกชน สามารถย่อยสลายเองได้ภายใน 3-4 เดือน นำร่องใช้จริงแล้วในงานกาชาดที่ผ่านมา