'ซีบีอาร์อี' ชี้พื้นที่ค้าปลีกไตรมาส 3 เพิ่ม 4.39% ชูกลยุทธ์ 'รีเทลเทนเมนท์' ดึงลูกค้า

'ซีบีอาร์อี' ชี้พื้นที่ค้าปลีกไตรมาส 3 เพิ่ม 4.39% ชูกลยุทธ์ 'รีเทลเทนเมนท์' ดึงลูกค้า

ตลาดค้าปลีกในกรุงเทพฯ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องใน “เชิงพื้นที่” ที่มีโครงการใหม่เปิดให้บริการเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้น!!  แม้ว่าเศรษฐกิจและกำลังซื้อจะค่อนข้างซบเซา และกระแสนิยมชอปปิงออนไลน์ขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยผู้ประกอบการต่างมองหากลยุทธ์และสร้างประสบการณ์ใหม่ ผสานช่องทางออนไลน์เสริมแกร่งออฟไลน์ เพื่อดึงดูดลูกค้า พร้อมรับมือการแข่งขัน 

จริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในกรุงเทพฯ จากการสำรวจพื้นที่ค้าปลีกโดยแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี พบว่า ณ ไตรมาส 3 ปี 2562 มีพื้นที่การค้าปลีกในกรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 7.8 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 4.39% ต่อปี โดยโครงการโดดเด่นที่สร้างเสร็จในปีนี้ ได้แก่ เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ดองกิ มอลล์ สามย่าน มิตรทาวน์ และเซ็นทรัล วิลเลจ เอาท์เล็ตมอลล์ แห่งแรกของกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดค้าปลีกในปีนี้ยังคงซบเซา เนื่องจากประเทศไทยเผชิญกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ และกำลังซื้อที่ลดลงจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แตะระดับ 72.2 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 39 เดือน  ลดลง 10.1% ต่อปี นอกจากนี้มีรายงานว่าหนี้ครัวเรือนได้ทำลายสถิตินับตั้งแต่ปี 2560 มาอยู่ที่ 78.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำลังการใช้จ่ายโดยรวม

แม้ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 รัฐบาลได้ออกมาตรการและโครงการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ได้แก่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การลดอัตราดอกเบี้ย โครงการชิมช้อปใช้ มอบเงินให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) และลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ท่องเที่ยวภายในประเทศ ซีบีอาร์อีเชื่อว่าโครงการนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าปลีกรายใหญ่ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์มากกว่า เพราะเข้าถึงได้สะดวกกว่าร้านค้าท้องถิ่นในชนบท

ขณะที่เทรนด์ “รีเทลเทนเมนท์” (Retailtainment) ยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในตลาดค้าปลีกของกรุงเทพฯ ในปีนี้เริ่มเห็น โคเวิร์กกิ้งสเปซ เข้าไปใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในโครงการค้าปลีกย่านใจกลางธุรกิจของกรุงเทพฯ หรือซีบีดีมากขึ้น ผู้พัฒนาโครงการค้าปลีกคาดหวังว่าการผนึกกำลังกันนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการโครงการค้าปลีกในวันธรรมดา รวมถึงเติมเต็มพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ในโซนที่ได้รับความนิยมน้อยกว่า นอกจากนี้เพื่อที่จะแข่งขันในตลาดที่มีการแข่งขันสูงได้ ร้านค้าปลีกบางรายยอมลดขนาดร้านค้าแบบสแตนอโลนของตนเองลงเพื่อให้มีความเหมาะสมกับห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และซูเปอร์สโตร์

ไม่เพียงแค่ผู้ค้าปลีกที่มีหน้าร้านเท่านั้นที่มุ่งสู่การใช้ช่องทางการค้าที่หลากหลาย หรือ ออมนิแชนแนล (Omni-channel)  ร้านค้าปลีกออนไลน์รายใหม่จำนวนมากก็ได้ขยายไปสู่การมีหน้าร้านในโครงการค้าปลีกเพื่อเป็นโชว์รูมและจุด คลิกและรับ สินค้าด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นที่ค้าปลีกใหม่จำนวนมากที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต  ผู้พัฒนาโครงการค้าปลีกจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็วเข้ามาใช้และสร้างจุดขายที่ไม่ซ้ำใครให้แก่ศูนย์การค้าของตนเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้