ปรากฏการณ์ตลาด 2019..!! เกมธุรกิจร้อนแรง“ไม่หมู” 

ปรากฏการณ์ตลาด 2019..!! เกมธุรกิจร้อนแรง“ไม่หมู” 

ปิดปีหมู ธุรกิจไม่หมู !! หลากเซ็กเตอร์ เกิดการเปลี่ยนแปลง ปรากฎการณ์สะเทือนแวดวงการค้ามีทุกช่วงเวลา สื่อยังล้มหายตายจาก ยักษ์ใหญ่เดินหน้าลงทุนซื้อกิจการ กลุ่มอาหารแข่งกันเบ่งอาณาจักร ค้าปลีกส่อแววปิดฉากทุนข้ามชาติ เทรนด์รักษ์โลก แรง !!

นับถอยหลังปิดปี “หมู” ที่ธุรกิจ “ไม่หมู” เอาเสียเลย เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าการขยายตัวทาง “เศรษฐกิจ” หรือ จีดีพี” ปี 2562 ถูกหั่นเป้า ลดต่ำลงเป็นระลอก ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับประมาณการณ์จีดีพี เหลือ 2.5% จากเดิม 2.8%

เศรษฐกิจแย่ไม่พอ ! สิ่งที่ซ้ำเติมภาคธุรกิจยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าของ 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจโลก “จีน VS สหรัฐ” ดิจิทัล ดิสรัปชั่นที่ยังคงเป็นภัยคุกคามองค์กรที่ไม่ปรับตัวเองท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทว่า จะกี่ปัจจัยเสี่ยง มีธุรกิจที่ดำดิ่ง แต่ก็มีธุรกิจที่รุ่งโรจน์ ฉายแววเติบโตได้ แล้วในปีที่กำลังจะสิ้นสุดลง เกิดเหตุการณ์ เรื่องราวมากมายในวงการตลาด ซึ่งกรุงเทพธุรกิจ BizWeek รวบรวมสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของปี 2562 เพื่อเป็นกรณีศึกษาและเตรียมตัวเคลื่อนทัพในปี “ชวด” 2563

**ทีวีดิจิทัล “จอดำ” 7 ช่อง

เป็น มหากาพย์ การกลืนเลือดของผู้ประกอบการ ทีวีดิจิทัล” จริงๆ เพราะหลังจากที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัล และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)เปิดให้ประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ(ไลเซ่นส์)ได้ ทุนเล็กทุนใหญ่ หน้าใหม่หน้าเก่าตบเท้าเข้าประมูลกันคึกคักทั้งช่องวาไรตี้เอชดี วาไรตี้เอสดี ช่องข่าว ช่องเด็กและครอบครัว

ความหวังเป็นเจ้าของช่องและมีโอกาสในการชิงเค้ก โฆษณาแสนล้าน” ตัวเลขที่เย้ายวน จนมีบางรายแห่ประมูล 2-3 ช่องไว้ในมือ จนมองข้ามและ “คาดไม่ถึง” ว่าดิจิทัล ดิสรัปชั่น กำลังก่อตัวเป็นสึนามิถล่มอุตสาหกรรม

เม็ดเงินกว่า 50,000 ล้านบาท ที่เข้าแผ่นดิน แต่สถานการณ์ของทุนทีวีดิจิทัลแต่ละช่องกลับ “ขาดทุนยับ รายใหญ่ที่มั่งคั่ง เผชิญวิบากกรรมไม่แพ้กัน เพราะกำไรหดตลอดระยะเวลา 5 ปีเศษ

โอดครวญและเรียกร้องต่อภาครัฐเป็นระลอก แต่ไม่เป็นผล ทีเซอร์แรกจาก พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ ติ๋ม ทีวีพูล” จึงตั้งโต๊ะแถลงข่าวปล่อยให้ 2 ช่อง ไทยทีวีและโลก้า” ที่ประมูลมารวม 1,976 ล้านบาท ต้อง จอดำ” พร้อมร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้กสทช.รับผิดชอบด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาวะขาดทุนและการเรียกร้องอย่าวต่อเนื่องของผู้ประกอบการ ทำให้เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 สางปัญหาที่เกิดขึ้น เปิดทางให้ผู้ประกอบการที่ยกธงขาว คืนไลเซ่นส์ พร้อมรับเงินชดเชยหลังหักลบกลบกำไรขาดทุนแล้ว

7 ช่อง โบกมือลา ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 3แฟมิลี่ 3เอสดี MCOTแฟมิลี่ ไบรท์ทีวี วอยซ์ทีวี สปริง26 สปริงนิวส์19 ถือเป็นการ “อวสาน” ช่องเด็กด้วย ส่วนช่องที่คืนไลเซ่นส์ทั้งหมดได้รับเงินชดเชยรวมกันเกือบ 3,000 ล้านบาท

157699797665

ขณะที่ 15 ช่องประเภทธุรกิจที่เหลือ ยังหายใจไม่คล่อง โดย ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ(เอ็มไอ)และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด ประเมินไว้ก่อนการคืนไลเซ่นส์ยกแรกถึง “จำนวนช่อง” ที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 10 ช่อง เพราะที่สุดแล้วพฤติกรรมการรับชมทีวีของผู้บริโภคชาวไทยในอดีต จะดูหลักเพียง 2 ช่อง คือ 3 และ 7 และกุมเม็ดเงินโฆษณามาตลอด ช่อง 5 ช่อง 9 แบ่งเค้กได้เพียงเล็กน้อย เมื่อพิจารณาปัจจุบัน “ทางเลือก” ในการเสพคอนเทนท์มีมากแพลตฟอร์ม เปิดดูได้ทุกที่ทุกเวลา(Anywhere, anytime) ตามความสะดวก ทีวีจึงได้รับความนิยม(เรทติ้ง)ลดลงไปมาก

อีกสื่อที่ สาหัส” คือสิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร หลายปีที่ผ่านมา มีสื่อดังและเป็น ตำนาน” ลาแผงไปมาก ปี 2562 ซึ่งไม่หมูในการดึงเงินโฆษณามายังสิ่งพิมพ์ จึงเห็นการ “ปิดตัว” หลายเล่ม M2F พิมพ์ถึงวันที่ 8 มี.ค. 2562 เริ่มจากหนังสือพิมพ์ Post Today พิมพ์ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2562 นิตยสาร Hamburger ซึ่งแจกฟรี (ทุกวันพุธ) พิมพ์ฉบับวันที่ 13-19 มี.ค.62 เป็นฉบับสุดท้าย หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ The Nation พิมพ์ถึงวันที่ 28 มิ.ย. 2562 นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับ พ.ย.-ธ.ค.2562 เป็นเล่มสุดท้าย และสุดสัปดาห์ (ฉบับเดือน ธ.ค.2562) เป็นเล่มสุดท้าย

ทั้งนี้ เม็ดเงินโฆษณาหนังสิือพิมพ์ 11 เดือน มีมูลค่า 3,747 ล้านบาท ลดลง 24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 4,918 ล้านบาท ส่วนนิตยสารมีมูลค่า 816 ล้านบาท ลดลง 21% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 1,027 ล้านบาท เมื่อเม็ดเงินหล่อเลี้ยงธุรกิจร่อยหรอลงเรื่อยๆ การกัดฟันสู้ย่อมไม่ใช่คำตอบ การยุติแพลตฟอร์มกระดาษไปยังออนไลน์ จึงเป็น “ทางออก” ที่ดีกว่า เพราะอย่างไรเสีย คอนเทนท์ที่มีในมือ ยังเสิร์ฟผู้เสพได้เหมือนเดิม

**บิ๊กแบรนด์เบ่งอาณาจักร “อาหาร 

เศรษฐกิจทรุด เทคโนโลยีอาจดิสรัปหลากธุรกิจให้ระส่ำย่ำแย่ แต่ ข้าวปลา คือของจริง ! จึงเห็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ตบเท้าใช้ทางลัด ซื้อและควบรวมกิจการ”(M&A) ร้านอาหาร คาเฟ่ ซึ่งไม่ใช่แบรนด์เล็กๆ แต่เป็น “แบรนด์ใหญ่” ชื่อก้องในแต่ละหมวดหมู่ที่ยืนหยัดอยู่มในตลาด

ไทยเบฟ ส่งบริษัทในเครืออย่าง เฟรเซอร์แอนด์นีฟ หรือเอฟแอนด์เอ็น ควงพันธมิตรฮ่องกง Maxim’s Caterers Limited (Maxim’s) ปิดดีลซื้อสาขาร้านกาแฟดังระดับโลก สตาร์บัคส์” ในประเทศไทยถือเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความฮือฮาให้กับตลาด เพราะความแข็งแกร่งของ “สตาร์บัคส์” ที่ทำตลาดมายาวนาน 20 ปี มีความแข็งแกร่งอย่างมาก และทำให้พฤติกรรมการดื่มกาแฟไม่ใช่แค่ปลุกความกระปรี้กระเปร่า แต่กลายเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ที่แสถงออกถึง Status บางอย่างในสังคม กลายเป็นการจุดพลุให้ตลาดกาแฟที่บริโภคนอกบ้านโตวันโตคืน จนแซงหน้าตลาดกาแฟปรุงสำเร็จ กาแฟทรีอินวัน ที่บริโภคภายในบ้านด้วย

157699801656

สตาร์บัคส์ ปักหมุดในไทยมานาน ทำรายได้รวมในปี 2561 กว่า 7,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8% กำไรสุทธิกว่า 1,000 ล้านบาท เติบโต 21.74% ถือเป็นรายได้ที่ไม่น้อย อีกทั้งอัตราการเติบโตยังมีต่อเนื่องสะท้อนถึง “โอกาส” ที่ยังโกยเงินในประเทศไทยได้อยู่

ขณะที่การตัดสินใจขายสาขาในไทยให้กับ เจ้าสัวน้อย ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ผู้กุมบังเหียน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) อาจดูเซอร์ไพรส์ในสายตาผู้บริโภค แต่ข้อมูลที่ปรากฎบนเว็บไซต์ของสตาร์บัคส์เองจะเห็นการ “ปรับยุทธศาสตร์” หันหัวรบบุกตลาดอื่นที่มีศักยภาพและ “ขุมทรัพย์การตลาด” ใหญ่กว่าประเทศไทย อย่างแดนมังกร เพราะผู้บริโภคจำนวน “พันล้านคน” และมี “กำลังซื้อสูง” การสาดกระสุนรบเปิดร้านปีเดียวมากถึง 300 สาขา แซงหน้าไทยอยู่นาน 20 ปีด้วย

เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐที่ยังให้น้ำหนักกาแฟการขยายธุรกิจ เพราะการบริโภคกาแฟนอกบ้านยังเป็นเทรนด์ ทำให้ที่ผ่านมา ยังเห็นการปรับพอร์ตโฟลิโอของแบรนด์ ด้วยการจำหน่ายกาแฟที่เจาะช่องทางค้าปลีกให้กับ “เนสท์เล่” มูลค่า “แสนล้านบาท” ด้วย

ฟาก “ไทยเบฟ” ได้อะไรจากดีลนี้ คงไม่ต้องสงสัย เพราะ “จิ๊กซอว์” ในการทำให้ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มของเอเชียสัญชาติไทยผงาดในสมรภูมิธุรกิจระดับภูมิภาคมากขึ้น และเป็นกลยุทธ์ในการขยายพอร์ตโฟลิโอของบริษัทอยู่แล้ว จะให้ขายเหล้าเบียร์จน “มั่งคั่ง” อย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ต้องมีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการ “ผู้บริโภค” กลุ่มเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามต่อในสเต็ปถัดไป คือการ “ซีนเนอร์ยี” ธุรกิจเครือไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น(ทีซีซี กรุ๊ป)ของ เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” จะปลุกสมรภูมิร้านกาแฟและพา “สตาร์บัคส์” ไปไกลแค่ไหน เพราะทันทีที่กาแฟดังตกอยู่ภายใต้อาณาจักรเจ้าสัว เห็นการเปิดร้านในอาคารอาคเนย์ประกันภัย ที่ทายาทคนโต อาทินันท์ พีชานนท์” กุมบังเหียน แต่ที่ฮือฮาสุดคือการจะเปิดร้านสตาร์บัคส์ขนาดใหญ่ที่เอเชียทีก เดอะ ริเวอร์ ฟร้อนท์ เพื่อให้ผู้บริโภคดื่มด่ำวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

ปล่อยให้ คู่แข่ง” รายสำคัญโตวันโตคืนไม่ได้ ค่าย สิงห์” ที่ให้น้ำหนักขยายธุรกิจที่ไม่ใช่่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์(Non-Alcohol)ขอโดดสู่สังเวียนร้านอาหารจริงจัง ผ่าน Passion ของทายาท ปิติ ภิรมย์ภักดี” แม่ทัพใหญ่ของฟู้ดแฟ็คเตอร์ส ที่ประกาศชัดถึงเตรียมเงิน 3,000-4,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจอาหาร ดันรายได้ให้ทะลุ “หมื่นล้านบาท”

157699815145

บทบาทของฟู้ดแฟ็คเตอร์ส จะมีกลิ่นอายความเป็น “สตาร์ทอัพ” คือต้อง “สปีด” ในการทำธุรกิจ การเห็น “ปิติ” ควักงบ 1,500 ล้านบาท ซื้อหุ้น 88% ในบริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด หรือร้าน ซานตา เฟ่ สเต็ก” (Santa fe) 117 สาขา ซึ่งจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการเสริมศักยภาพธุรกิจร้านอาหาร และทำให้พอร์ตโฟลิโออาหารของค่ายสิงห์หลากหลายขึ้น จากที่มีขนมหวานและเบเกอรี่ ฟาร์มดีไซน์ ร้านอาหารหรูหรา R-HAAN ที่ติดดาวหรือมิชลิน สตาร์เรียบร้อยแล้ว

นอกจากซานตาเฟ่ฯ ปิติ ย้ำว่าจะซื้อกิจการเสริมทัพธุรกิจอาหารมากขึ้น เกณฑ์ที่เข้าตาต้องเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และอาหารต้องมีรสชาติ อร่อย” หัวใจสำคัญของธุรกิจ

Big Deal และเป็น Big Move ของ Big4 ธุรกิจอาหารสำหรับแบรนด์ เอ็มเค เรสโตรองส์” ที่ตัดสินใจซื้อร้านอาหารทะเลระดับตำนาน แหลมเจริญซีฟู้ด ด้วยสัดส่วนหุ้น 25% คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท นี่จะเป็นการเบนเข็มทิศจากอาหารหม้อร้อน สุกี้” สู่อาหารประเภทใหม่ๆมากขึ้น

157699822929

กระนั้นพอร์ตโฟลิโอของเอ็มเค ไม่ได้มีแค่สุกี้ แต่ยังมีร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ ร้านอาหารไทย ตลอดจนขนมหวานและเบเกอรี(รายได้บริจาคแก่โรงพบาบาล) แต่จะเติบโตต่อ กลยุทธ์ Diversify มักถูกนำมาใช้กว้างขวางในแวดวงธุรกิจอยู่แล้ว ส่วนการได้แบรนด์แหลมเจริญมาอยู่ใต้เงาเอ็มเคจะโตได้แค่ไหน คงต้องติดตามระยะยาว

หากมองเป็นเกมธุรกิจอาจ “ยอม” กันไม่ได้ บิ๊กโฟร์อย่าง บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชนหรือ MINT ทุ่มเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ฮุบหุ้น 100% ของบริษัท ชิคเก้น ไทม์ จำกัด ประเทศไทย (ชิคเก้น ไทม์) ผู้บริหารแบรนด์ร้านไก่ทอดสไตล์เกาหลี บอนชอน” กว่า 40 สาขาในประเทศไทย หากมองโอกาสการเติบโต ปฏิเสธไม่ได้ว่าบอนชอนขยายตัวเร็ว ยอดขายแตะระดับ “พันล้าน” แต่ที่น่าสนใจคือ “กำไรดี” ที่ 300 ล้านบาทต่อเนื่อง

157699824943

ธุรกิจอาหารของไมเนอร์ ถือว่าแกร่งมาก เพราะมีร้านกว่า 2,200 สาขาใน 26 ประเทศ แบรนด์พระเอกมากมาย เช่น เดอะ พิซซ่า คอมปะนี,สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ ควีน และเบอร์เกอร์ คิง, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ไทย เอ็กซ์เพรส และบอนชอน เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นภาพของ “Big Corp” พากันซื้อกิจการ เบ่งอาณาจักรอาหาร” ให้เบิ้มกว่าเดิม และปี 2563 ยังมี “เซอร์ไพรส์!” รออยู่ เพราะพี่ใหญ่ธุรกิจไทย “เครือสหพัฒน์” ก็ซุ่มศึกษาธุรกิจอาหารเพื่อต่อยอดการเติบโตเช่นกัน

**“เทสโก้ โลตัส” จ่อถอนทัพไทย

เป็นปรากฏการณ์ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด สำหรับกระแสข่าว เทสโก้” อาจทิ้งกิจการห้างค้าปลีกสมัยใหม่(โมเดิร์นเทรด) เทสโก้ โลตัส” ในประเทศไทย ซึ่งบริหารงานโดย บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิทเทม จำกัด

การขยายตัวของเทสโก้ โลตัส เติบโตในทิศทางที่ดีและก้าวเป็นเบอร์ 1 ไฮเปอร์มาร์เก็ตในไทย มีสาขาทั้งสิ้น 2,100 สาขาทั่วประเทศ กลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมากสำหรับตลาดนอกประเทศอังกฤษ และเมื่อดูรายได้ของเทสโก้ โลตัส ทำรายได้รวมมากถึง 1.89 แสนล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 7,800 ล้านบาท แม้จะเป็นอัตราที่ลดลงแต่ธุรกิจเป็นหนึ่งในตลาดที่เนื้อหอมเตะตา “ทุนใหญ่” จนกลุ่มเทสโก้ ต้องทบทวนแผนธุรกิจค้าปลีกในไทยและมาเลเซีย  

สำหรับการขายกิจการ ต้องทำในขณะที่ธุรกิจขาขึ้นและมี “กำไร” เพื่อจะโขกราคาขายได้ดี ซึ่งหากประเมินมูลค่าการจะซื้อขายเทสโก้ โลตัส ประเมินกันที่ระดับเกือบ 3 แสนล้านบาท เพราะไม่ใช่แค่คำนวณจาก “รายได้” แต่ยังมีทรัพย์สินอื่น ทั้งที่ดิน อาคารสิ่งปลูกสร้าง และ “โอกาส” ในการทำเงินต่อยอดการเติบโตในอนาคต

 

กรณีศึกษา “ค้าปลีก” ถอนทัพจากไทย ไม่ได้เพิ่งเกิด เพราะหากรวมทุกประเภทจะพบว่าตลาดไทย “ปราบเซียน” ไปหลายราย ไม่ว่าจะเป็นห้างไดมารู คาร์ฟูร์ แมคโครที่เปลี่ยนผู้ถือหุ้นจากทุนเนเธอร์แลนด์ เป็น เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ผู้ครองอาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) บิ๊กซี จากทุนกาสิโน กรุ๊ป มาอยู่ในมือ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และโตคิว สาขาพาราไดซ์พาร์ค ศรีนครินทร์ เป็นต้น เพียงแต่บริบทการ “เลิก” แตกต่างกัน อย่าง คาร์ฟูร์ บิ๊กซี สถานการณ์ค้าปลีกในประเทศอื่นๆ “ร่อแร่” จากดิจิทัลดิสรัป ทำให้หลายประเทศประสบปัญหาธุรกิจ “ขาดทุน” จึงต้องขายกิจการในตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อ “เสริมสภาพคล่องธุรกิจ” ขณะที่โตคิวฯ จำนวนคนเข้าห้าง(Traffic) น้อยจนไม่ “คุ้มค่า” กับการลงทุน จึงต้องยกธงขาว

157699817992

อย่างไรก็ตาม หลายสิบปีที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกที่เป็นทุนยักษ์ใหญ่ ข้ามชาติ” เอ็นจอยกับการดำเนินธุรกิจในไทยไม่น้อย โดยเฉพาะการเข้ามาของ เทสโก้” ซึ่ง “ดิสรัป” ธุรกิจการค้าแบบดั้งเดิมทั้งค้าปลีกค้าส่ง รวมถึงร้านค้าทั่วไปหรือ โชห่วย” จนดับชีพไปจำนวนมาก ขณะที่ปัจจุบันดิจิทัล เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ต่างจากอดีตสิ้นเชิง โดยเฉพาะการ ชอปปิง” จากต้องเดินไปยังหน้าร้านหรือ Physical Store ซึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงตั้งแต่ออกจากบ้าน เดินทาง ใช้เวลาเลือกของ ฯ มาเป็นชอปปิงผ่านปลายนิ้วบนแพลตฟอร์ม “ออนไลน์” แทน ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกเดิมๆกระเทือน ปิดกิจการหน้าร้านหลายประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายกรณีที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกรุงเทพ ทุ่มเงิน 9 หมื่นล้านบาท ซื้อกิจการธนาคารในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเสริม “ธุรกิจหลัก” หรือ Core Business ท่ามกลางแบงก์จำนวนมากของไทยมุ่ง “ทรานส์ฟอร์ม” เป็น ดิจิทัล แบงก์กิ้งกันพรึ่บพรับ Super Aliance เมื่อ เซ็นทรัล ผนึกแบรนด์ร้านกาแฟ อเมซอน” ของบรรษัทพลังงาแห่งชาติ “ปตท.” เพื่อขยายธุรกิจกาแฟในประเทศเวียดนาม ซึ่งแน่นอนว่าทั้งคู่มีจุดแข็งมากมาย ตั้งแต่ เงินทุน หนาปึ้ก! ระดับแสนล้านจนถึงล้านล้านบาท การมีฐานทัพธุรกิจในประเทศเวียดนาม เซ็นทรัลมีห้างค้าปลีก เป็นต้น

แผนดังกล่าวน่าสนใจ เพราะยุทธศาสร์เซ็นทรัล มุ่งโกอินเตอร์เพื่อสร้างการเติบโตรายได้ ส่วน “อเมซอน” มีพันธกิจสำคัญในการส่งร้านกาแฟสัญชาติไทยไปใหญ่เป็นแบรนด์ระดับโลกหรือ Global Brand ท้าชน “สตาร์บัคส์

157699820126

ที่มาแรงไม่แพ้กันต้องยกให้ปรากฏการณ์ รักษ์โลก” ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำนวนมากลุกขึ้นมาคลอดนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการ “ลด” ใช้ถุงพลาสติก ซึ่งห้างค้าปลีกทั้งศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต โมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ แบรนด์ต่างๆ อย่างเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี เซ็นทรัล เซเว่นอีเลฟเว่น ทยอยงดให้ถุงพลาสติก เป็นการช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในการพกพา “ถุงผ้า” เพื่อไปชอปปิงด้วย

และนี่คือเสี้ยวหนึ่งของปรากฎการณ์ตลาดที่เปิดขึ้นในปี หมู” ที่มีทั้งหมู และ ไม่หมู !!