Green Pulse I เศรษฐกิจสีเขียวกับโลกที่ยังร้อน

Green Pulse I เศรษฐกิจสีเขียวกับโลกที่ยังร้อน

การประชุมโลกร้อนประจำปี หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (COP25) ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน จบลงด้วยความผิดหวังของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากประเทศสมาชิกไม่สามารถตกลงตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนร่วมกันได้ และไม่สามารถสร้างระบบให้กับตลาดคาร์บอนใหม่อย่างที่คาดหวัง และนั่นหมายถึงว่า เส้นทางสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งเป็นอนาคตของโลกอาจต้องล่าช้าออกไป เพราะจำเป็นต้องยกประเด็นไปพูดคุยต่อในปีหน้า (2020) ซึ่งจะเป็นหมุดหมายของการที่ทุกประเทศจะต้องช่วยกันลดก๊าซฯ อย่างจริงจังจากนี้ไปสิบปีจนถึง 30 ปีข้างหน้า เพื่อไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศาสเซลเซียสเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะ

จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ขององค์กรที่เกี่ยวข้องรวมทั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า จำเป็นที่จะต้องลดก๊าซฯ ให้ได้ถึง 45% จากปริมาณก๊าซที่ปล่อยในปี 2010 และการปล่อยก๊าซควรต้องเป็นศูนย์ (carbon neutral) ในอีก 30 ปีข้างหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาอย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้

ถ้าค่าการปล่อยก๊าซยังเป็นแบบในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินว่า จะยังทำให้โลกร้อนขึ้นถึง 3 องศาหรือมากกว่านั้น

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)ของไทยระบุว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริโภคถ่านหินสูงติดอันดับของโลก มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นเร็วที่สุดในโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กว่าร้อยละ 90 มาจาก 5 ประเทศหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย

ประเทศไทย ในฐานะรัฐสมาชิกของอนุสัญญานี้ ได้มีพันธกรณีเช่นกันที่จะต้องตั้งเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ซึ่งเป็นกรอบคิดหลักของการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreeement) ที่ตกลงกันได้ในปี 2015 โดยอนุญาตให้ประเทศสมาชิกนำเสนอเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซฯ ของตัวเองลง

157699141176

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชาได้อัพเดทสถานการณ์ของประเทศผ่านถ้อยแถลงในที่ประชุมฯ ว่า รัฐบาลไทยเองได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้มีการบูรณาการเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งในวาระการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

โดยประเทศไทยสามารถลดก๊าซฯ ได้ถึง 14% จากภาคพลังงานและขนส่ง ในปี 2560 (2017) ซึ่งคิดเป็นสองเท่าของเป้าหมายที่ประเทศไทยตั้งไว้สำหรับปี 2020 (เป้าหมายในปี 2030 คือ 20-25% หรือประมาณ 156 ล้านตันคาร์บอน)

นอกจากนั้น ประเทศไทยได้เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในประเทศ และกำหนดโครงสร้างที่จำเป็นในการดำเนินการให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นการลดก๊าซฯ และการปรับตัวจากผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้การดำเนินงานในประเทศสอดคล้องและตอบโจทย์เป้าหมายข้อตกลงปารีส

ที่สำคัญ นายวราวุธกล่าวว่า ไทยยังได้มีการจัดทำร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของประเทศ การจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และการปรับปรุงระบบการเงินในประเทศ รวมถึงการเสริมสร้างบทบาทของกองทุนสิ่งแวดล้อมในการสนับสนุนทางการเงินแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนในการจัดทำโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ประเทศไทยยังมุ่งมั่นที่จะบูรณาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้รวมกับประเทศต่าง ๆ ภายใต้กลไกความร่วมมือพหุภาคี ในโอกาสนี้ ประเทศไทยจึงแสดงความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อปกป้องภูมิอากาศสำหรับอนาคตของโลกและลูกหลานของเราทุกคน” นายวราวุธกล่าว

157699193990

ผู้อำนวยการ อบก. ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย กล่าวในงาน Climate Talks ที่จัดโดยองค์กรว่า ตลาดคาร์บอนยังเป็นกลไกที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนทุกประเทศไปสู่เป้าหมาย แม้ว่าตลาดเดิมภายใต้ข้อตกลง Kyoto Protocol จะไม่มีความคืบหน้ามากนัก นับตั้งแต่มีการต่ออายุให้ข้อตกลงนี้มาตั้งแต่ปี 2012 และจะสิ้นสุดลงในปีหน้า

ทั้งนี้ เนื่องจากภายใต้ข้อตกลงปารีส ได้มีความพยายามที่จะสร้างตลาดคาร์บอนอีกครั้ง โดยเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก และหากยังจะมีการซื้อขายกันข้ามประเทศ จะยังคงใช้รูปแบบคาร์บอนเครดิตเป็นหลัก

ประเทศไทย จึงได้เตรียมจัดทำกฏหมายที่เกี่ยวกับโลกร้อนเพื่อสนับสนุนการเกิดขึ้นของตลาดอีกสองฉบับคือ กฏหมายว่าด้วยการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซฯ ในภาคอุตสาหกรรม และกฏหมายกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซฯ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนในอนาคตต่อไป ผอ. ประเสริฐสุขกล่าว

ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และหัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจของพรรค ซึ่งร่วมงานเสวนา ตั้งคำถามถึงการผลิตและการบริโภคที่ยังขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม ซึ่งตั้งดัชนีชี้วัดบนตัวเลขทางเศรษฐกิจว่า จะเป็นแนวทางที่ยังเป็นอุปสรรคของการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างดัชนีชี้วัดอื่นๆ เข้ามาร่วมประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนด้วย รวมถึงประเด็นเรื่องโลกร้อน

นอกจากนี้ เขากล่าวว่า รัฐยังควรกำหนดนโยบายหรือแนวทางการสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชนเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้จริง รวมทั้งความพยายามลดโลกร้อน อาทิ green tax 

นายปริญญ์กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ได้มีการประมวลเรื่องโลกร้อนเข้ามาในการวางแผนและตัดสินใจด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า กองทุนโลกที่ลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมมีการขยายตัวขึ้นในหลายๆ ที่ รวมทั้งในยุโรป ในขณะที่บริษัทที่ก่อมลพิษหรือปล่อยก๊าซคาร์บอนจะมีราคาหุ้นที่ตกลง เป็นต้น ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นเทรนด์การลงทุนใหม่ๆ ของโลกที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้มีตัวชี้วัดเพียงตัวเลข หากแต่ยังมีดัชนีชี้วัดเชิงคุณภาพอื่นๆ เข้ามาใช้ด้วย

เขากล่าวว่า รัฐไทยมีเรื่องที่ต้องคิดในหลายประเด็นหากจะขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจใหม่หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน การมียุทธศาสตร์ชาติและการวางแผนระยะยาวเป็นเรื่องที่จำเป็น เขากล่าว