‘ตลาดละตินอเมริกา’ ทางเลือก-เลี่ยงเสี่ยงสงครามการค้า

‘ตลาดละตินอเมริกา’ ทางเลือก-เลี่ยงเสี่ยงสงครามการค้า

การบุกตลาดใหม่ คู่กับขยายการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ เล็งหมุดหมายไปยังตลาดประเทศในละตินอเมริกา หวังลดผลกระทบจากสงครามการค้าและแข่งขันในโลกยุคใหม่

กระทรวงการต่างประเทศหนึ่งในหัวหอกสำคัญ มุ่งเดินหน้าส่งเสริมตลาดใหม่   ในภูมิภาคละตินอเมริกาไล่เรียงจากคู่ค้าที่สำคัญของไทย ตั้งแต่บราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา ชิลี เปรู และโคลอมเบีย จะเห็นถึงโอกาสการส่งออกและเพิ่มตัวเลขมูลค่าการค้า

วิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยเชื่อมั่นศักยภาพกลุ่มประเทศในละตินอเมริกาที่จะเป็นตลาดใหม่ของไทย ปัจจุบันความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างแน่นแฟ้น มี 9 ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาเปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพหานคร และล่าสุดกัวเตมาลาได้กลับมาเปิดสถานทูตที่นี่อีกครั้ง ทำให้ความร่วมมือใกล้ชิดยิ่งขึ้น

"ในยุคที่โลกเชื่อมเข้าหากัน กระทรวงการต่างประเทศจะใช้ชุมชนการทูตประสานประโยชน์ประเทศ และกระชับความสัมพันธ์ระดับประชาชน ให้เกิดการค้าขาย เดินทางไปมาหาสู่ระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยที่ระยะทางจะไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป" วิชาวัฒน์ย้ำ

157690791650  

สำหรับบราซิล เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในละตินอเมริกา เป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่เพราะมีประชากรมากเป็นอันดับ 5 ของโลก สะท้อนความเป็นตลาดการค้าและต้องการสินค้าบริโภคจำนวนมาก โดยบราซิลเป็นประเทศซื้อยางพาราไทยมากที่สุดประเทศหนึ่ง อีกทั้งนำเข้าอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ จักรยานยนต์ และเครื่องจักร รวมมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ 

โดยที่ผ่านมา เอ็มบราเออร์ บริษัทชั้นนำบราซิล ผู้ผลิตชิ้นส่วนและประกอบเครื่องบิน ซึ่งมียอดจำหน่ายเป็นอันดับ 4 ของโลก แสดงท่าทีสนใจจะเข้ามาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี

ส่วนประเทศเม็กซิโกเป็นคู่ค้าไทยที่มีศักยภาพ โดยตลาดท้องถิ่นที่นี่นิยมสินค้าออแกนิกส์สูงขึ้น และในกลุ่มผู้ซื้อที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงต่างให้ความสำคัญสุขภาพ แม้ว่าสินค้าจะถูกตั้งราคาค่อนข้างสูง แต่ก็ยังขายได้ดีสะท้อนว่า ราคาไม่ใช่อุปสรรคของผู้บริโภค ดังนั้นผู้ประกอบการไทยสามารถทำกำไรกับสินค้าออแกนิกส์ได้ 

นอกจากนี้ สินค้าในตลาดเม็กซิโกยังเน้นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆในละตินอเมริกา  อาทิ สมุนไพรเมกาของเปรูที่เพิ่มสมรรถภาพทางเพศแทนไวอาก้า มันฝรั่งทอดกรอบของเม็กซิโก สินค้าพืชผักผลไม้ อาหารแปรรูปจากธัญพืช เช่น กินัว ซึ่งความท้าทายของการส่งออกสินค้าไทยไปยังเม็กซิโก จะเป็นเรื่องกฏระเบียบการนำเข้าที่เกี่ยวเนื่องเฉพาะกับสินค้าออแกนิกส์ที่นี่ต้องมีเอกสารรับรองถูกต้อง

157690768442

157690788542

ขณะที่ โคลอมเบียอีกหนึ่งคู่ค้าที่มีแนวโน้มก้าวมามีสำคัญกับไทย แม้ในมิติความร่วมมือทางเศรษฐกิจยังไม่สูงมาก เนื่องจากการค้าระหว่างกันยังน้อยอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ แต่แนวโน้มจำนวนนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวโคลอมเบียเดินทางมายังประเทศไทยก็มีเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.4 หมื่นคน 

สิ่งที่ไม่ควรมองผ่าน เป็นแนวโน้มจีดีพีโคลอมเบียเติบโตประมาณ 4% ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศไทย นั่นหมายความว่ามีประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทยอยู่ในละตินอเมริกาจึงเป็นโอกาสการค้าสำหรับนักธุรกิจไทยเข้าไปบุกเบิกตลาดใหม่ เพราะการแข่งขันยังไม่สูง

รายงานธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ระบุว่า ไทยพึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐ และจีนเป็นสัดส่วน 11% และ 12% ตามลำดับ ไทยได้รับผลกระทบจากการส่งออกหดตัว 2.9% หรือส่งออกลดลงกว่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 

ม้จะได้อานิสงส์จากการที่สหรัฐ นำเข้าสินค้าบางรายการจากไทยทดแทนสินค้าจีนที่มีราคาแพงขึ้นจากภาษี ทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐในครึ่งแรกปี 2562 ขยายตัวถึง 17% แต่เศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งพึ่งพาการส่งออกสินค้ากว่า 55% ของจีดีพี ก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยส่วนใหญ่ หรือราว 80% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าครั้งนี้เช่นกัน

ส่วนประเทศที่พึ่งพาตลาดจีนมาก เช่น เกาหลีใต้ส่งออกไปจีนสูงถึง 27% ต้องประสบกับการส่งออกหดตัวถึง 8.6% หรือส่งออกได้ลดลงกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์ ทางออกในระยะสั้นของผู้ประกอบการไทยจึงต้องเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ในเอเชีย แอฟริกา อเมริกากลาง และละตินอเมริกา

157690775319

ประเทศในละตินเมริกาสามารถเป็นตลาดใหม่และทางเลือกในการส่งออก เพื่อเลี่ยงเผชิญกับความเสี่ยงสงครามการค้า และมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจจากประเทศมหาอำนาจ

แม้ว่า ไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าไม่รุนแรงเท่ากับอีกหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกับจีนเป็นสัดส่วนที่สูง แต่ก็ไม่ควรประมาณ เพราะยังมีประเทศที่พึ่งพาตลาดสหรัฐมากกว่าจีนที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า เช่น แคนาดา เวียดนาม อินเดีย และฟิลิปปินส์ 

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าที่เกิดขึ้นเป็นเพียงตัวอย่างของความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยทางรอดของผู้ประกอบการไทยจะต้องอาศัยการพัฒนาการผลิตและการตลาดที่มองไปสู่อนาคต เริ่มต้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรม และเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ในปัจจุบันและอนาคต