กสอ.ปรับแผนช่วยเอสเอ็มอี หนุนเศรษฐกิจฐานราก

กสอ.ปรับแผนช่วยเอสเอ็มอี หนุนเศรษฐกิจฐานราก

ในปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีกว่า 2.7 ล้านรายดังนั้นหากช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้มแข็งได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งไปด้วย

ในปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีกว่า 2.7 ล้านรายดังนั้นหากช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้มแข็งได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งไปด้วย โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือ กสอ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ได้ปรับแนวทางการส่งเสริมใหม่ลงลึกในระดับท้องถิ่น เพื่อยกรายได้ให้กับประชาชนฐานรากของประเทศ

ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2563 กสอ. ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานเน้นใน 3 มิติ ได้แก่ 1. ปั้นเอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม โดยจะพัฒนาภาคการเกษตรจากเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ เพื่อเปลี่ยนเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการ หรือ นักธุรกิจเกษตร นำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

2. ปั้นเอสเอ็มอีให้มีแนวคิดสร้างสรรค์ เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรม สร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ปั้นให้เกิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงปั้นระบบการพัฒนาคน โดยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างระบบฝึกงานให้นักศึกษา โดยที่นักศึกษาสามารถได้หน่วยกิตและผลการเรียนจากการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นการสร้างแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้นักศึกษาไปในตัว

3. ปั้นเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะสนับสนุนการดำเนินธุรกิจด้วยโปรแกรมเชิงพาณิชย์ โดยได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ฐานข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ,สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยและลูกค้าของ กสอ. และคัดเลือกบริษัทผู้ให้บริการระบบซอฟต์แวร์ที่มีศักยภาพ

“คาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 20 บริษัทที่จะร่วมโครงการโดยระบบซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นที่ให้บริการนั้น เป็นรูปแบบ Cloud Based ทดลองใช้ฟรีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่ง กสอ. จะขอให้ผู้ประกอบการใช้สัก1แอพพลิเคชั่นซึ่งจะช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพไปพร้อม ๆ กัน”

นอกจากนี้ กสอ. ยังได้ปรับมาตรการและโครงการเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สมาพันธ์เอสเอ็มอีภาค สภาเกษตรกร และผู้นำพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสนองความต้องการที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการได้ตรงจุด

 โดยล่าสุด กสอ. จะทำงานบูรณาการร่วมกันปรุงกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และมหาวิทยาลัย เช่น โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) เพื่อสร้างรายได้เสริมและเชื่อมโยงระบบท่องเที่ยวชุมชน พร้อมเชื่อมโยงระบบส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ากับระบบสนับสนุนทางการเงินให้วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกร

ทั้งนี้ ยังได้วางแนวทางในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้โมเดลการดำเนินธุรกิจแบบ Business Process Outsourcing (BPO) คือ การส่งงานบางส่วนภายในองค์กรให้กับบุคคลภายนอกรับผิดชอบแทน เพื่อแบ่งเบางานที่ไม่ถนัดและธุรกิจไม่สะดุด

“เอสเอ็มอีประมาณ 2.7 ล้านราย ในขณะที่การดำเนินงานของ กสอ. ที่ผ่านมาช่วยได้เพียงปีละ 2 พันราย หากยังดำเนินแนวทางแบบนี้ต่อไปก็ไม่สามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งประเทศ ดังนั้น กสอ. จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานทั้งหมด”

จากนี้จะเน้นส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับเอสเอ็มอี ไปสู่การพึ่งพาตัวเองได้ เช่น เข้าไปช่วยด้านการเขียนโครงการเพื่อขอสินเชื่อ ปรับปรุงด้านต่างๆให้ตรงกับหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถเข้าไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆตามช่องทางปกติโดยที่รัฐไม่ต้องนำงบประมาณเข้ามาช่วยคาดว่าในปี 2563 จะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

“จากผลการทำงานที่ผ่านมาเอสเอ็มอีที่เข้าโครงการจะมีรายได้เพิ่มเฉลี่ย 11 เท่า ดังนั้นเอสเอ็มอีที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐจนมีรายได้มากถึงขนาดนี้ ก็ควรจะนำความรู้ที่ได้เป็นแบบอย่างถ่ายทอดไปสู่เอสเอ็มอีรายอื่นด้วย”